ไปยังหน้า : |
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ และมูลนิธิสถานที่ไม่ตั้งอยู่ในความประมาทรุ.๑๐๕ ได้แสดงคุณสมบัติพิเศษของวาโยธาตุไว้ดังต่อไปนี้
วาโยธาตุมีลักษณะพิเศษ ๔ ประการ คือ
๑. วิตฺถมฺภนลกฺขโณ มีความเคร่งตึง [หรือหย่อน] เป็นลักษณะ
๒. สมุทีรณรโส มีการเคลื่อนไหว เป็นกิจ
๓. อภินีหารปจฺจุปฏฺาโน มีการน้อมนำไป เป็นผลปรากฏ
๔. อวเสสธาตุตฺตยปทฏฺาโน มี [มหาภูต] ธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือ เป็นเหตุใกล้
คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :
วาโยธาตุมีคุณสมบัติพิเศษ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ แปลว่า เอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตน ที่สามารถให้พิจารณารู้ได้ด้วยปัญญาทั้ง ๓ คือ สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา และภาวนามยปัญญา ตามสมควรแก่สภาพและกำลังของปัญญานั้น ๆ มี ๔ ประการ มีลักษณะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลักขณาทิจตุกกะ แปลว่า คุณสมบัติ ๔ ประการ มีลักษณะ เป็นต้น ดังต่อไปนี้
๑. วิตฺถมฺภนลกฺขโณ มีความเคร่งตึง [หรือหย่อน] เป็นลักษณะ หมายความว่า สภาพตึงมีอาการตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และสภาพหย่อนมีสภาพหวั่นไหวนั้น เป็นสภาวะของวาโยธาตุ ซึ่งเป็นรูปปรมัตถ์อย่างหนึ่ง เรียกว่า ธาตุลม จากความหมายนี้จะเห็นได้ว่า ในสิ่งมีชีวิตคือร่างกายของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนั้น ย่อมมีสภาวะของวาโยธาตุ คือ ธาตุลมนี้รวมอยู่ด้วยทุกที่ทุกแห่ง ส่วนใดมีวาโยธาตุรวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนนั้นย่อมมีสภาพตึง เช่น กระดูก และอวัยวะที่แข็งหรือแน่น หรือในขณะที่อวัยวะนั้นผิดปกติมีอาการบวม เป็นต้น ส่วนใดมีวาโยธาตุรวมกันอยู่เป็นจำนวนน้อย ส่วนนั้นย่อมมีสภาพหย่อน ได้แก่ อวัยวะที่มีสภาพอ่อน และในขณะที่ร่างกายเป็นปกติ สามารถเคลื่อนไหวอวัยวะได้ง่าย ส่วนในสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็เช่นเดียวกัน สิ่งใดมีวาโยธาตุรวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก สิ่งนั้นย่อมมีสภาพตึงแน่นหรือตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ถ้าสิ่งนั้นมีธาตุดินรวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมากแล้ว ย่อมมีจะมีสภาพแน่นหนาตั้งมั่น ทำให้หวั่นไหวได้อยาก เคลื่อนที่ได้ยาก และทำลายได้ยาก ส่วนสิ่งใดมีวาโยธาตุรวมกันอยู่เป็นจำนวนน้อย สิ่งนั้นย่อมมีสภาพหย่อนหวั่นไหวได้ง่าย เคลื่อนที่ได้ง่าย ตรงข้ามกับสิ่งที่มีวาโยธาตุมาก ดังกล่าวแล้ว
๒. สมุทีรณรโส มีการเคลื่อนไหวเป็นกิจ หมายความว่า หน้าที่ที่เป็นคุณสมบัติของวาโยธาตุ ที่เรียกว่า สัมปัตติรส นี้ ย่อมทำให้รูปธรรมที่เกิดพร้อมกันกับตนและรูปธรรมอื่น ๆ ที่ตนกระทบเข้าแล้ว มีสภาพหวั่นไหวไปมาหรือเคลื่อนไหวไปสู่สถานที่ต่าง ๆ ได้ ซึ่งมีทั้งในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย เช่น ทำให้เลือดลมไหลหมุนเวียนทั่วร่างกายได้ ทำให้ระบบการขับถ่ายเป็นไปโดยปกติ การเคลื่อนไหวอิริยาบถเป็นไปโดยคล่องแคล่ว เป็นต้น ส่วนในสิ่งที่ไม่มีชีวิต ได้แก่ ลมที่พัดไปมาจากทิศต่าง ๆ ลมพัดดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวต่าง ๆ ให้หมุนเวียนโคจรไปตามปกติ ตลอดถึงลมที่อยู่ทั่วไปในจักรวาล ทั้งเบื้องบนและเบื้องล่าง จนถึงลมที่รองน้ำไว้ใต้พื้นจักรวาล ซึ่งมีความหนาถึง ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์ เป็นต้น เมื่อแสดงหน้าที่ของตนออกมาแล้ว ย่อมทำให้สิ่งต่าง ๆ หวั่นไหวและเคลื่อนที่ได้ จนสามารถทำให้โลกหรือจักรวาลพังทะลายได้ เรียกว่า วาโยสังวัฏฏกัปป์ แปลว่า กัปป์ที่ถูกทำลายด้วยลม เหล่านี้ล้วนแต่เป็นหน้าที่อันเป็นคุณสมบัติของวาโยธาตุทั้งสิ้น
๓. อภินีหารปจฺจุปฏฺาโน มีการน้อมนำไป เป็นผลปรากฏ หมายความว่า วาโยธาตุนี้ย่อมแสดงอาการปรากฏออกมา คือ น้อมนำรูปต่าง ๆ มา ได้แก่ พัดพาหอบรวบรวมสิ่งต่าง ๆ เข้ามา เช่น ลมที่พัดเลือดในร่างกายให้มารวมกันเป็นกระแสเลือด พัดเศษอาหารมารวมกันเป็นอุจจาระ พัดน้ำเสียมารวมกันเป็นปัสสาวะหรือเหงื่อไคล เป็นต้น ส่วนวาโยธาตุที่มีอยู่ภายนอกร่างกายของสัตว์ทั้งหลายนั้น ได้แก่ ลมที่พัดสิ่งต่าง ๆ ให้มารวมกันและพัดสิ่งต่าง ๆ ให้กระจายออกจากกันไปรวมกับสิ่งอื่น หรือลมที่เป็นสุญญากาศ หลังจากโลกหรือจักรวาลถูกทำลายแล้ว ย่อมพัดรวบรวมอณูหรือปรมาณูอันเป็นอวินิพโภครูปที่อยู่ในอากาศมารวมกัน เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ อวินิพโภครูปที่อยู่ในอากาศนั่นแหละ ก็จะจับกลุ่มกันเป็นก้อน กลายเป็นพื้นแผ่นโลกหรือจักรวาลขึ้นมาใหม่อีก และทำให้แผ่นโลกหรือจักรวาลหนาขึ้นเป็นลำดับเรื่อยไป จนกว่าจะถูกทำลายไปอีก เป็นอยู่เช่นนี้เรื่อยไป เหล่านี้ล้วนแต่เป็นผลปรากฏอันเกิดจากการแสดงคุณสมบัติออกมาของวาโยธาตุนั่นเอง
๔. อวเสสธาตุตฺตยปทฏฺาโน มี [มหาภูต] ธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า วาโยธาตุคือธาตุลมนี้ จะเกิดขึ้นและแสดงหน้าที่อันเป็นคุณสมบัติของตนออกมาได้นั้น จะต้องมีมหาภูตรูปที่เหลืออีก ๓ อย่างเกิดร่วมอยู่ด้วยเสมอ จะเกิดขึ้นและแสดงหน้าที่โดยลำพังไม่ได้ กล่าวคือ ต้องมีธาตุดินเป็นที่ตั้งอาศัยเกิดและทำหน้าที่ให้ปถวีธาตุนั้นเคลื่อนไหวไปมา มีธาตุน้ำเป็นตัวเกาะกุมให้รวมกันอยู่กับธาตุอื่นได้โดยไม่กระจัดกระจาย และมีธาตุไฟเป็นตัวหล่อเลี้ยงให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ วาโยธาตุจึงเกิดแยกจากมหาภูตรูปอีก ๓ อย่างไม่ได้ จะต้องเกิดร่วมกันมหาภูตรูปอีก ๓ อย่างและอวินิพโภครูปอื่น ๆ อยู่ด้วยเสมอ