| |
พระพุทธวจนะเกี่ยวกับมนสิการ มนสิการสูตร   |  

มนสิการสูตร

ครั้งหนึ่ง ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระพุทธเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พึงมีได้หรือหนอแล การที่ภิกษุได้สมาธิโดยประการที่ตนไม่พึงกระทำจักษุไว้ในใจ ไม่พึงกระทำรูปไว้ในใจ ไม่พึงกระทำหูไว้ในใจ ไม่พึงกระทำเสียงไว้ในใจ ไม่พึงกระทำจมูกไว้ในใจ ไม่พึงกระทำกลิ่นไว้ในใจ ไม่พึงกระทำลิ้นไว้ในใจ ไม่พึงกระทำรสไว้ในใจ ไม่พึงกระทำกายไว้ในใจ ไม่พึงกระทำโผฏฐัพพะไว้ในใจ ไม่พึงกระทำปฐวีธาตุไว้ในใจ ไม่พึงกระทำอาโปธาตุไว้ในใจ ไม่พึงกระทำเตโชธาตุไว้ในใจ ไม่พึงกระทำวาโยธาตุไว้ในใจ ไม่พึงกระทำอากาสานัญจายตนะไว้ในใจ ไม่พึงกระทำวิญญาณัญจายตนะไว้ในใจ ไม่พึงกระทำอากิญจัญญายตนะไว้ในใจ ไม่พึงกระทำเนวสัญญานาสัญญายตนะไว้ในใจ ไม่พึงกระทำโลกนี้ไว้ในใจ ไม่พึงกระทำโลกหน้าไว้ในใจ ไม่พึงกระทำรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ ธรรมที่รู้แจ้ง ธรรมที่ถึงแล้ว ธรรมที่แสวงหาแล้ว ธรรมที่ตรองตามแล้วด้วยใจ ก็แต่ว่าพึงทำไว้ในใจ ฯ

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ พึงมีได้ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยประการที่ตนไม่พึงกระทำจักษุไว้ในใจ ไม่พึงกระทำรูปไว้ในใจ ไม่พึงกระทำรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ ธรรมที่รู้แจ้ง ที่ถึงแล้ว ที่แสวงหาแล้ว ที่ตรองตามแล้วด้วยใจไว้ในใจ ก็แต่ว่าพึงทำไว้ในใจ ฯ

[พระอานนท์] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พึงมีได้อย่างไร การที่ภิกษุได้สมาธิโดยประการที่ตนไม่พึงกระทำจักษุไว้ในใจ ฯลฯ ไม่พึงกระทำรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยินอารมณ์ที่ทราบ ธรรมที่รู้แจ้ง ที่ถึงแล้ว ที่แสวงหาแล้ว ที่ตรองตามแล้วด้วยใจไว้ในใจ ก็แต่ว่าพึงทำไว้ในใจ ฯ

[พระพุทธเจ้า] ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทำไว้ในใจอย่างนี้ว่าธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ ความสงบสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นกำหนัด ความดับ นิพพาน ดูกรอานนท์ พึงมีได้อย่างนี้แล การที่ภิกษุได้สมาธิโดยประการที่ตนไม่พึงกระทำจักษุไว้ในใจ ไม่พึงกระทำรูปไว้ในใจ ไม่พึงกระทำหูไว้ในใจ ไม่พึงกระทำเสียงไว้ในใจ ไม่พึงกระทำจมูกไว้ในใจ ไม่พึงกระทำกลิ่นไว้ในใจ ไม่พึงกระทำลิ้นไว้ในใจ ไม่พึงกระทำรสไว้ในใจ ไม่พึงกระทำกายไว้ในใจ ไม่พึงกระทำโผฏฐัพพะไว้ในใจ ไม่พึงกระทำปฐวีธาตุไว้ในใจ ไม่พึงกระทำอาโปธาตุไว้ในใจ ไม่พึงกระทำเตโชธาตุไว้ในใจ ไม่พึงกระทำวาโยธาตุไว้ในใจ ไม่พึงกระทำอากาสานัญจายตนะไว้ในใจ ไม่พึงกระทำวิญญาณัญจายตนะไว้ในใจ ไม่พึงกระทำอากิญจัญญายตนะไว้ในใจ ไม่พึงกระทำเนวสัญญานาสัญญายตนะไว้ในใจ ไม่พึงกระทำโลกนี้ไว้ในใจ ไม่พึงกระทำโลกหน้าไว้ในใจ ไม่พึงกระทำรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ ธรรมที่รู้แจ้ง ธรรมที่ถึงแล้ว ธรรมที่แสวงหาแล้ว ธรรมที่ตรองตามแล้วด้วยใจไว้ในใจ ก็แต่ว่าพึงกระทำไว้ในใจ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |