| |
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์   |  

ปัญญาเจตสิกย่อมมีบทบาทในฐานะธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ซึ่งเป็นองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้อริยสัจ ๔ และเข้าถึงพระนิพพานนั้น มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น ๗ ประการ คือ

๑. ปะริปุจฉะกะตา หมั่นไต่สวนทวนถามข้ออรรถข้อธรรมให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องอยู่เสมอ หมายความว่า พระโยคีบุคคลผู้เจริญธัมมวิจยสัม- โพชฌงค์ ต้องเป็นผู้ที่ไม่นิ่งดูดาย มีความใฝ่ใจในการขวนขวายศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ชอบสังเกตจดจำพิจารณาและตั้งสมมติฐานในสิ่งที่ได้พบได้เห็น ได้ยินได้ฟัง ได้สัมผัส แล้วค้นหาเหตุผลของสิ่งนั้น ๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เมื่อไม่สามารถจะทำความเข้าใจด้วยสติปัญญาของตนเองได้ ย่อมแสวงหาผู้รู้ และเข้าไปสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ สอบถามให้ได้ความเข้าใจที่ถูกต้องกระจ่างชัด โดยไม่เก็บความสงสัยไว้ในใจแต่ผู้เดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดองค์ความรู้เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ จนเข้าถึงความเป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

๒. วัตถุวิสุทธะก๎ริยะตา หมั่นทำความสะอาดทั้งกายและใจตลอดถึงวัตถุสิ่งของเครื่องใช้สอยต่าง ๆ อยู่เสมอ หมายความว่า พระโยคีบุคคลผู้เจริญธัมมวิจย -สัมโพชฌงค์ต้องหมั่นทำความสะอาด เป็นผู้มีระเบียบวินัย และจัดระบบของชีวิตให้ดี และดำเนินชีวิตไปตามแนววิถีทางที่วางไว้ได้อย่างสมบูรณ์ การงานต่าง ๆ จึงไม่อากูลคั่งค้าง จัดการทำให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี วัตถุสิ่งของในสถานที่อยู่ที่อาศัยที่ทำงาน ต้องขวนขวายจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและสะอาดสะอ้านอยู่เสมอ มองดูแล้วทำให้โล่งตาโล่งใจ ไม่ทำให้เกะกะสายตาและขัดเคืองใจ จะหยิบจะใช้สอยหรือจะค้นหาสิ่งใด ก็สามารถหยิบใช้สอยได้สะดวก ค้นหาได้ง่าย ไม่ทำให้เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจแต่อย่างใด อันจะทำให้ไม่มีความเก็บกดทางด้านจิตใจ เป็นคนมีความปลอดโปร่งเบาสบาย มีจิตใจที่ประณีตขึ้นตามลำดับ เมื่อทำได้เช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดปัญญาคิดอ่านสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นได้ในที่สุด

๓. อินท๎ริยะสะมัตตะปะฏิปาทะนะตา หมั่นรักษาอินทรีย์ทั้ง ๕ ให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันอยู่เสมอ หมายความว่า พระโยคีบุคคลผู้เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ต้องเป็นผู้ที่ไม่เมินเฉย หรือไม่มองข้ามคุณธรรมจริยธรรมในจิตใจของตนเอง พยายามฝึกฝนอบรมบ่มเพาะและเพิ่มพูนอินทรีย์ทั้ง ๕ คือ ธรรมที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในหน้าที่ของตนเอง ได้แก่

๑] ศรัทธา สภาวธรรมที่เป็นใหญ่ในความเชื่อความเลื่อมใสในสิ่งที่ควรเชื่อถือ

๒] วิริยะ สภาวธรรมที่เป็นใหญ่ในความเพียรพยายามในทางที่ชอบประกอบด้วยคุณธรรม

๓] สติ สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในความระลึกรู้ในธรรมที่ควรระลึกรู้ หรือในการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับตนเอง

๔] สมาธิ สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในความตั้งมั่นและความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ

๕] ปัญญา สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในความรอบรู้สิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง

เมื่อบุคคลหมั่นอบรมบ่มเพาะอินทรีย์เหล่านี้ให้เกิดขึ้นและให้ทรงอยู่ ตลอดจนเพิ่มพูนให้แก่กล้าขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่เสื่อมสูญหรือหดหายไป ด้วยการหมั่นปรับสภาพให้มีความเสมอภาคกันอยู่เสมอ คือ ปรับศรัทธากับปัญญาให้สม่ำเสมอกัน ปรับวิริยะกับสมาธิให้สม่ำเสมอกัน ส่วนสตินั้นมีมากเท่าไรยิ่งดี เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีอุปการะต่ออินทรีย์ทั้ง ๔ ที่เหลือ เมื่อบุคคลปฏิบัติได้เช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

๔. ทุปปัญญะปุคคะละปะริวัชชะนะตา เป็นผู้หลีกเลี่ยงให้พ้นจากบุคคลผู้ไม่มีปัญญา หมายความว่า พระโยคีบุคคลผู้บำเพ็ญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นั้นต้องเป็นผู้ที่ตั้งตนไว้ชอบ มุ่งมั่นต่อหนทางแห่งความหลุดพ้นอย่างจริงจัง ตั้งความคิดความเห็นที่อุดมการณ์ซึ่งประกอบด้วยเหตุผลไว้ให้มั่นคง และพิจารณาให้รอบคอบว่า ใครควรคบ ใครไม่ควรคบ ใครควรเข้าไปหาควรเข้าไปนั่งใกล้เพื่อสนทนาสอบถามข้ออรรถข้อธรรมด้วย ใครไม่ควรเข้าไปผูกพันเช่นนั้น แล้วเว้นจากการคบหาสมาคมกับบุคคลผู้ไม่มีปัญญา หลีกเว้นให้ห่างไกลจากบุคคลผู้มีปัญญาทราม ซึ่งจะชักนำไปในหนทางที่ไม่ดีไม่งามไม่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ไม่ได้เสพคุ้นในข้อมูลข่าวสารเรื่องราวที่ไม่ดีไม่งาม หรือไม่ได้พบเห็นและเสพคุ้นกิริยามารยาทที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ อันจะทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบที่ไม่ดีติดตัวมา เมื่อหลีกเว้นจากผู้มีปัญญาทรามแล้ว พระโยคีบุคคลย่อมสามารถรักษาอุปนิสัยสันดานที่ดีงามของตนไว้ได้ สติปัญญาที่เคยมีมาก็ไม่เสื่อมสูญ สติปัญญาใหม่ย่อมสามารถเกิดขึ้นและเจริญงอกงามขึ้นได้อยู่เสมอ เมื่อนั้น ปัญญาของพระโยคีบุคคลนั้นย่อมเข้าถึงความเป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ได้

๕. ปัญญาวันตะปุคคะละเสวะนะตา เป็นผู้ที่ชอบคบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีปัญญา หมายความว่า เมื่อพระโยคีบุคคลต้องเป็นผู้ที่ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความคิดอ่านไปในแนวทางที่ดีงามและถูกต้อง มีความสนใจในธรรมของสัตบุรุษแล้ว ย่อมเกิดปัญญารู้ว่า ใครเป็นบัณฑิตคือผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา และใครเป็นคนพาลคือผู้ดำเนินชีวิตด้วยอวิชชา จึงแสวงหาบัณฑิตและเข้าไปคบหาสมาคมกับบัณฑิตอยู่เสมอ เลือกคบหาสมาคมเฉพาะกัลยาณชนบุคคลผู้มีอัธยาศัยดีงาม เว้นห่างจากบุคคลผู้เป็นอันธพาลเสีย เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ พระโยคีบุคคลย่อมสามารถรักษาคุณงามความดีและสติปัญญาของตนไว้ได้ สติปัญญาที่มีอยู่แล้วย่อมคงมีอยู่ และสติปัญญาที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้นได้ สติปัญญาที่เกิดขึ้นแล้วย่อมสามารถเจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้นไป ปัญญาของพระโยคีบุคคลย่อมเข้าถึงความเป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ได้ในที่สุด

๖. คัมภีระญาณะจะริยะปัจจะเวกขะณะตา เป็นผู้ที่ชอบพิจารณาข้ออรรถข้อธรรมที่ลึกซึ้งอยู่เสมอ หมายความว่า พระโยคีบุคคลเป็นผู้มีความสุขุมคัมภีรภาพ ชอบศึกษาเล่าเรียน ชอบคิดอ่านและพิจารณาวิชาความรู้หรือข้ออรรถข้อธรรมที่มีเนื้อความอันละเอียดลึกซึ้งมีเหตุมีผลอยู่เสมอ ทำให้เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ อย่างละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปตามลำดับ ไม่เป็นผู้หลงงมงายปล่อยใจไปตามกระแสกิเลสกระแสโลกกระแสสังคมแต่อย่างใด สามารถยับยั้งชั่งใจคิดพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ประสบพบเห็นได้ยินได้ฟังได้สัมผัสในชีวิตประจำวันนั้นให้เข้าใจเหตุผลได้อย่างถ่องแท้เสียก่อนแล้วจึงเชื่อถือหรือตัดสินใจทำอะไรลงไป เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ ปัญญาของพระโยคีบุคคลนั้นย่อมเข้าถึงความเป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

๗. ตะทะธิมุตติกะตา เป็นผู้มักน้อมจิตไปในการแสวงหารสแห่งธรรมที่ต้องอาศัยการตรึกตรองทำให้เกิดปัญญาอยู่เสมอ หมายความว่า พระโยคีบุคคลต้องเป็นผู้ที่ได้สั่งสมประสบการณ์ในชีวิตมาพอสมควร ได้เคยผ่านพ้นอุปสรรคปัญหา ผ่านความยากลำบากมามาก และสามารถใช้ประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจในการพินิจพิจารณาเหตุผลของสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ประสบพบเห็นให้เกิดความรู้ความเข้าใจได้อย่างรอบคอบและละเอียดลึกซึ้งตามสมควรแก่สติปัญญาของตน ทำให้มีความเข้าใจในเหตุผลของกุศลต่าง ๆ ที่ตนกระทำอยู่ได้เป็นอย่างดี และมักน้อมจิตไปในการแสวงหารสแห่งธรรม ไม่สนใจในการแสวงหารสแห่งกาม หรือรสแห่งโลกีย์ทั้งหลาย ทำให้เป็นผู้มีจิตใจปลอดโปร่งโล่งสบาย สามารถคิดพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายให้เกิดความรู้ความเข้าใจได้อย่างละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยลำดับ เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ ปัญญาของพระโยคีบุคคลนั้นย่อมเข้าถึงความเป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ได้ในที่สุด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |