| |
มหาภูตรูปที่เป็นสหายและเป็นศัตรูกัน   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๑๑๘ ได้แสดงรูปธาตุที่เป็นสหายและศัตรูกันไว้ดังต่อไปนี้

ในมหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้น ธาตุบางอย่างเป็นสหายกัน คือ เข้ากันได้ และบางอย่างเป็นศัตรูกัน คือ เข้ากันไม่ได้ มีแสดงไว้ดังนี้

ธาตุดิน กับ ธาตุน้ำ เป็นสหายกัน โดยมากจะต้องอยู่ด้วยกันเสมอ ถ้าที่ใดมีธาตุดินมาก ที่นั้นก็ต้องมีธาตุน้ำมากด้วย เพราะเป็นธาตุหนักด้วยกัน

ธาตุไฟ กับ ธาตุลม เป็นสหายกัน โดยมากจะต้องเป็นไปด้วยกัน ถ้าที่ใดมีธาตุไฟมาก ที่นั้นก็ต้องมีลมมากด้วย เพราะเป็นธาตุเบาด้วยกัน

ธาตุดิน กับ ธาตุลม เป็นศัตรูกัน เพราะเหตุว่า มีสภาวะหนักกับเบาต่างกัน

ธาตุน้ำ กับ ธาตุไฟ เป็นศัตรูกัน เพราะมีลักษณะตรงกันข้าม คือ เย็น กับ ร้อน และ หนัก กับ เบา ต่างกัน

ในธาตุทั้ง ๔ ของมหาภูตรูปนี้ ถ้าสังเกตให้ดี ก็จะเห็นว่า มีสภาวะลักษณะของตนเอง เป็นศัตรูกันในตัวของมันเองประเภทละ ๒ อย่าง คือ

ปถวีธาตุ มีลักษณะ ทั้ง แข็ง และ อ่อน

อาโปธาตุ มีลักษณะ ทั้ง ไหล และ เกาะกุม

เตโชธาตุ มีลักษณะ ทั้ง ร้อน และ เย็น

วาโยธาตุ มีลักษณะ ทั้ง เคลื่อนไหว และ เคร่งตึง

ลักษณะทั้ง ๒ อย่างของมหาภูตรูปหรือมหาภูตธาตุทั้ง ๔ อย่างนี้ แต่ละอย่าง ย่อมมีลักษณะที่ทำลายตนเองหรือทำให้ตนเองต้องแปรสภาพเปลี่ยนแปลงไปสู่อีกสภาพหนึ่ง ตามเหตุปัจจัยด้วยกันทั้งสิ้น แต่มหาภูตธาตุทั้ง ๔ อย่างนี้ ต้องเกิดอยู่ร่วมกันเสมอ จะอยู่แยกจากกันโดยเอกเทศเฉพาะธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นไม่ได้เลย และในลักษณะของธาตุดินที่แข็ง ย่อมจะอยู่กับธาตุน้ำที่เกาะกุม อยู่กับธาตุไฟที่เย็น และอยู่กับธาตุลมที่เคร่งตึง ส่วนธาตุดินที่อ่อน ย่อมจะอยู่กับธาตุน้ำที่ไหล อยู่กับธาตุไฟที่ร้อน และอยู่กับธาตุลมที่เคลื่อนไหว

ธาตุทั้ง ๔ เหล่านี้ ย่อมจะเป็นสหายที่อุปถัมภ์กันและเป็นศัตรูที่ทำลายกันอย่างนี้ตามเหตุปัจจัยที่เป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่มีใครมาจัดแจงปรุงแต่งให้เป็นไปแต่อย่างใด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |