| |
กามาวรจิต   |  

กามาวจรจิต หมายถึง จิตที่เกิดได้กับกามบุคคล คือ บุคคลที่เกิดอยู่ในกามภูมิ และเป็นจิตที่รับกามอารมณ์โดยมาก มี ๓ จำพวก คือ

๑. อกุศลจิต หมายถึง จิตที่เป็นอกุศล คือ มีสภาพเศร้าหมอง เร่าร้อน และให้ผลเป็นความทุกข์ เพราะประกอบด้วยอกุศลเจตสิก มี ๓ จำพวก คือ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒

๒. อเหตุกจิต หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุ ๖ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ อย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบร่วมด้วยเลย แต่เกิดขึ้นด้วยอำนาจอุปัตติเหตุของตน ๆ มี ๓ จำพวก คือ อกุศลวิปากจิต ๗ อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ อเหตุกกิริยาจิต ๓

๓. กามาวจรโสภณจิต หมายถึง จิตที่ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในกามภูมิ คือ เกิดกับกามบุคคล รับกามอารมณ์อยู่โดยมาก แต่เป็นจิตที่ดีงาม ให้ผลเป็นความสุข เพราะประกอบด้วยโสภณเจตสิกซึ่งเป็นเจตสิกฝ่ายดีงามทำให้จิตนั้นมีสภาพดีงามตามไปด้วย มี ๓ จำพวก คือ มหากุศลจิต ๘ มหาวิปากจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘

สรุปแล้ว กามาวจรจิตจึงมีจำนวน ๕๔ ดวง ดังที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์เถระเจ้าได้แสดงคาถาสังคหะที่ ๓ ไว้ดังต่อไปนี้

(๓) กาเม เตวีสะ ปากานิ ปุญญาปุญญานิ วีสะติ
เอกาทะสะ ก๎ริยา เจติ จะตุปัญญาสะ สัพพะถาฯ

แปลความว่า

จิตที่ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในกามภูมิ ๑๑ [คือ เกิดกับกามบุคคล รับกามอารมณ์ ในกามทวารวิถีจิต] เป็นส่วนมากนี้ เมื่อรวบรวมทั้งหมดแล้ว มีจำนวน ๕๔ ดวง คือ วิปากจิต ๒๓ ดวง กุศลและอกุศล รวมเป็น ๒๐ ดวง [กุศลจิต ๘ อกุศลจิต ๑๒] และกิริยาจิต ๑๑ ดวง

คาถานี้ เป็นการแสดงการรวบรวมจิตที่เป็นกามาวจรทั้งหมด ทั้งได้แสดงการจำแนกชาติของจิตเหล่านี้ด้วย ที่ชื่อว่า กามาวจรจิต นั้น เพราะจิตทั้ง ๕๔ ดวงนี้ ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งวัตถุกามและกิเลสกามเป็นส่วนมาก หมายความว่า เป็นจิตที่เกิดอยู่กับกามบุคคล รับกามอารมณ์ ในกามวิถี โดยมาก แต่ในภูมิอื่น ๆ หรือในอัปปนาวิถี ก็สามารถเกิดได้เหมือนกัน แต่ไม่ทั้งหมด เช่น มหากุศลจิต สามารถเกิดได้ใน ๓๐ ภูมิ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] มหากิริยาจิต สามารถเกิดได้ในสุคติภูมิ ๒๖ [เว้นอบายภูมิ ๔ อสัญญสัตตภูมิ ๑] ส่วนมหาวิปากจิตนั้น เกิดได้เฉพาะในกามสุคติภูมิ ๗ เท่านั้น อนึ่ง มโนทวาราวัชชนจิต ๑ มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ และมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ นั้น สามารถเกิดได้ในอัปปนาวิถีทั้งหมด ไม่มียกเว้น แต่ว่าเกิดได้เป็นบางครั้งบางคราว และเฉพาะบุคคลที่ได้ฌาน อภิญญา มรรค ผล เท่านั้น ดังนี้เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวว่า จิตที่ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในกามภูมิ ๑๑ รับกามอารมณ์ ในกามทวารวิถีโดยมากนั้น ชื่อว่า กามาวจรจิต


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |