ไปยังหน้า : |
มโนวิญญาณธาตุแห่งอเหตุกจิต มี ๕ ดวง ได้แก่ สันตีรณจิต ๓ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ หสิตุปปาทจิต ๑ ซึ่งมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด เรียกว่า อุปัตติเหตุ ดังนี้
๑. ฉัท๎วารานิ มีทวาร ๖ คือ ปสาทรูป ๕ ที่สมบูรณ์ และมีภวังคจิต ๑ ทำหน้าที่เป็นมโนทวาร มีความพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นทวาร คือ ช่องทางให้จิตรับรู้อารมณ์ทางทวารนั้น ๆ
๒. ฉะอารัมมะณานิ มีอารมณ์ ๖ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสา รมณ์ โผฏฐัพพารมณ์และธัมมารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง มาปรากฏทางทวารนั้น ๆ
๓. หะทะยะวัตถุ มีหทยวัตถุอันเป็นที่อาศัยเกิดของจิต [เว้นพวกอรูปพรหมที่ไม่ต้องมีหทยวัตถุ และมีมโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวงเท่านั้น ที่สามารถเกิดแก่พวกอรูปพรหมได้]
๔. มะนะสิกาโร มีความสนใจที่จะรับรู้อารมณ์นั้น
เมื่อสมบูรณ์ด้วยปัจจัย ๔ ประการ [หรือ ๓ ประการสำหรับในอรูปภูมิไม่ต้องมีหทยวัตถุ] นี้แล้ว การรับรู้อารมณ์ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่งก็เกิดขึ้นได้อย่างบริบูรณ์ ถ้าบกพร่องไปด้วยปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ประสิทธิภาพของการรับรู้อารมณ์นั้นก็ลดน้อยลงไป ถ้าขาดปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งไป การรับรู้อารมณ์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ นี้เรียกว่า อุปัตติเหตุของมโนวิญญาณธาตุ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงสอนให้กำหนดว่า “รู้ก็สักแต่ว่ารู้” เพราะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยเหล่านี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจบังคับบัญชา หรือคำบงการของใครทั้งสิ้น ไม่มีใครบังคับบัญชาให้รู้หรือไม่ให้รู้ได้ ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรารู้ หรือใครรู้ เพียงแต่เป็นสภาพของนามธรรมที่ได้เหตุปัจจัยประชุมพร้อมกันแล้วก็เกิดการรับรู้ เมื่อหมดเหตุปัจจัยก็ดับไป เท่านั้น