| |
วจนัตถะ [คำจำกัดความ] ของคันธรูป   |  

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๒๑๔ ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของคันธรูปไว้ดังต่อไปนี้

คันธารมณ์ ได้แก่ คันธะคือกลิ่นต่าง ๆ หมายถึง ไอระเหยของรูปกลิ่นต่าง ๆ ที่กระทบกับฆานประสาท โดยอาศัยลมเป็นผู้นำพาไป และทำให้เกิดฆานวิญญาณ คือ การรู้กลิ่นขึ้น คันธะที่ปรากฏเป็นอารมณ์ให้แก่ฆานวิญญาณนี้ ชื่อว่า คันธารมณ์ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “คนฺธยติ อตฺตโน วตฺถุ สูเจตีติ คนฺโธ” แปลความว่า รูปใดย่อมแสดงที่อยู่อาศัยของตนให้ปรากฏ เพราะเหตุนั้น รูปนั้นชื่อว่า คันธะ

อธิบายความว่า กลิ่นต่าง ๆ ที่ได้ชื่อว่า คันธารมณ์นั้น เพราะเป็นรูปที่แสดงวัตถุที่ตนอาศัยอยู่ให้ปรากฏรู้ได้ เช่น ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม หรือน้ำหอมที่อยู่ในขวด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในที่ใดก็ตาม เมื่อคันธารมณ์คือกลิ่นได้มีโอกาสแผ่ตัวระเหยออกไปแล้ว ย่อมทำให้คนทั้งหลายรู้ได้ทันทีว่า นี่เป็นกลิ่นดอกไม้ หรือกลิ่นน้ำหอม เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น บุคคลย่อมสามารถค้นหาทิศทางและรู้ได้ว่า ดอกไม้หรือน้ำหอมนั้นอยู่ในที่ใดด้วย คล้าย ๆ กับว่า คันธารมณ์นี้ เมื่อได้อาศัยวาโยธาตุแล้ว ย่อมจะกระจายข่าวประกาศให้บุคคลทั้งหลายได้รู้ว่า ดอกไม้อยู่ที่นั่นที่นี่ ด้วยเหตุนี้ พระฎีกาจารย์จึงได้แสดงไขความหมายของวจนัตถะที่ว่า สูเจติ ว่า “อิทเมตฺถ อตฺถีติ เปสุญฺ วิย โหติ” แปลความว่า คันธารมณ์นี้มีสภาพคล้ายกับส่อเสียด [เปิดโปง] ว่า วัตถุสิ่งของนั้น ๆ มีอยู่ที่นี่

บทสรุปของผู้เขียน :

ตามวจนัตถะที่ท่านได้แสดงไว้แล้วนั้น ผู้เขียนขออธิบายสรุปความไว้แต่พอสังเขปดังต่อไปนี้

คันธารมณ์ ได้แก่ คันธรูปคือกลิ่นต่าง ๆ นั้น หมายถึง ไอระเหยของกลิ่นต่าง ๆ ที่กระทบกับฆานประสาท โดยอาศัยลมเป็นผู้นำพาไป และทำให้เกิดฆานวิญญาณ คือ การรู้กลิ่นต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งมีสภาพคล้ายกับส่อเสียดคือประกาศเปิดโปงให้บุคคลทั้งหลายได้รู้ว่า วัตถุสิ่งของนั้น ๆ มีอยู่ที่นี่ ทำให้บุคคลทั้งหลายสามารถค้นหาทิศทางที่มาของกลิ่นนั้นและค้นหาสิ่งที่กลิ่นนั้นอาศัยเกิดอยู่ได้ในที่สุด เพราะเหตุนั้น คันธารมณ์คือกลิ่นนี้ จึงมีสภาพคล้าย ๆ กับว่า เป็นตัวส่อเสียดคือประกาศเปิดโปงให้รู้ที่อยู่ของตน แต่ความจริงแล้ว คันธรูปหรือคันธารมณ์นี้ ก็เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งมีสภาพเป็นอัพยากตะ คือ ไม่มีความขวนขวายพยายามด้วยตนเอง ที่จะทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น และมีสภาพเป็นอจิตตกะคือไม่มีเจตนาที่จะจัดแจงหรือบงการบังคับบัญชาให้สิ่งใดเป็นไปตามที่ตนปรารถนาแต่ประการใด สภาพแห่งคันธรูปหรือคันธารมณ์นี้ย่อมเป็นไปโดยธรรมชาติหรือธรรมดาของสภาวธรรม ที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น และเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เป็นสภาพแห่งอนัตตาเท่านั้น โดยไม่มีบุคคลใดมาบงการบังคับบัญชาให้เป็นไปแต่ประการใด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |