| |
กุสีตวัตถุ ๘   |  

กุสีตวัตถุ หมายถึง เรื่องราวที่ทำให้เกิดความเกียจคร้าน หรือข้ออ้างของผู้เกียจคร้าน ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อวิริยเจตสิก มี ๘ ประการ คือ

๑. เมื่อเราทำการงานก็จักลำบากกาย อย่ากระนั้นเลย เราขอนอนดีกว่า

๒. เราได้ทำการงานและลำบากกายมาแล้ว อย่ากระนั้นเลย เราขอนอนดีกว่า

๓. เมื่อเราเดินทางก็จักลำบากกาย อย่ากระนั้นเลย เราขอนอนดีกว่า

๔. เราได้เดินทางมาและลำบากกายมาแล้ว อย่ากระนั้นเลย เราขอนอนดีกว่า

๕. เราเที่ยวบิณฑบาตก็ไม่ได้อาหารใด ๆ ลำบากกายแล้ว ไม่ควรจะทำการงานใด ๆ อย่ากระนั้นเลย เราขอนอนดีกว่า

๖. เราเที่ยวบิณฑบาตได้อาหารพอแก่ความต้องการแล้ว เหน็ดเหนื่อยร่างกายแล้ว ไม่ควรจะทำการงานใด ๆ อย่ากระนั้นเลย เราขอนอนดีกว่า

๗. ความอาพาธเริ่มเกิดขึ้นแก่เราแล้ว อย่ากระนั้นเลย เรามีข้ออ้างที่จะนอนละ เราขอนอนดีกว่า

๘. เราหายจากอาพาธแล้ว แต่สร่างไข้ได้ไม่นาน กายของเรายังอ่อนเพลีย ยังไม่ควรจะทำการงาน อย่ากระนั้นเลย เรามีข้ออ้างที่จะนอนละ เราขอนอนดีกว่า

ดังหลักฐานที่มาในสังคีติสูตร พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรคว่า กุสีตวัตถุ หมายถึง เหตุที่ทำให้เกิดความเกียจคร้าน ๘ ประการ คือ ผู้มีอายุทั้งหลาย การงานที่ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้จำต้องกระทำมีอยู่ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า

๑. เราจักต้องทำการงาน ก็เมื่อเราทำการงานอยู่ กายของเราย่อมลำบาก อย่ากระนั้นเลย เราขอนอนดีกว่า

๒. เราแลได้ทำการงานเสร็จแล้ว เมื่อเราทำการงานอยู่ กายได้ลำบากมาแล้ว เราขอนอนดีกว่า

๓. เราจักต้องเดินทาง เมื่อเราเดินทางอยู่ กายก็จักลำบาก เราขอนอนดีกว่า

๔. เราได้เดินทางมาแล้ว เมื่อเราเดินทางอยู่นั้น กายได้ลำบากมาแล้ว เราขอนอนดีกว่า

๕. เราเที่ยวบิณฑบาตไปตามหมู่บ้านหรือนิคมอยู่ ย่อมไม่ได้อาหารใด ๆ ไม่ว่าจะเศร้าหมองหรือประณีตที่เพียงพอแก่ความต้องการ กายของเรานั้นได้ลำบากแล้ว ไม่ควรจะกระทำการงานใด ๆ อีก เราขอนอนดีกว่า

๖. เราเที่ยวบิณฑบาตไปตามหมู่บ้านหรือนิคมอยู่ ย่อมได้อาหารอันประณีตและเพียงพอแก่ความต้องการ ร่างกายของเรานั้นหนัก ไม่ควรจะกระทำการงานใดๆ อีก เราขอนอนดีกว่า

๗. อาพาธเล็กน้อยนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว เรามีข้ออ้างที่จะนอนละ เราขอนอนดีกว่า

๘. เราหายจากอาพาธแล้ว แต่ยังสร่างไข้ได้ไม่นาน กายของเรายังอ่อนเพลีย ยังไม่ควรจะทำการงาน อย่ากระนั้นเลย เรามีข้ออ้างที่จะนอนละ เราขอนอนดีกว่า

เมื่อบุคคลมีความคิดอย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมเกิดความท้อแท้ ไม่ปรารภความเพียรเพื่อกระทำภารกิจการงานที่ตนต้องทำให้สำเร็จไป หรือไม่มุ่งมั่นปฏิบัติธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุให้บรรลุถึงจุดหมายนั้น เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |