| |
ภวังคจิต   |  

ภวังคจิต หมายถึง จิตที่เป็นองค์ของภพ คือ จิตที่รักษาสถานภาพของบุคคลนั้นไว้จนตลอดชีวิต หมายความว่า บุคคลนั้นเกิดมาด้วยสภาพจิตอย่างไร ก็จะคงเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนสภาพจิตดั้งเดิมได้ จนกว่าจะตายจากภพนั้น แล้วเกิดในภพใหม่ จึงจะสามารถเปลี่ยนสภาพของจิตที่เป็นองค์ของภพนั้นได้ ฉะนั้น จึงเรียกว่า ภวังคจิต ซึ่งเป็นวิปากจิตที่นำบุคคลนั้นมาเกิดในภพภูมินั้น และบุคคลหนึ่ง จะมีภวังคจิตได้ ๑ ดวงเท่านั้น ไม่สามารถมีเกิน ๑ ดวงได้ นอกจากกามบุคคลที่มีปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ได้แก่ มหาวิบากโสมนัส ๔ ดวงใดดวงหนึ่ง แล้วเกิดโทสชวนะขึ้นมา จึงจะมีภวังค์จรมาช่วยปรับสภาพของโทสชวนะกับภวังคจิตให้เข้ากันได้ เรียกว่า อาคันตุกภวังค์ ซึ่งมีได้เป็นบางครั้งบางคราวและเฉพาะบางบุคคลเท่านั้น ไม่ทั่วไปแก่บุคคลทั้งหลาย ส่วนภวังคจิตดั้งเดิมที่สืบเนื่องมาจากปฏิสนธิจิตนั้น มีได้คนละ ๑ ดวงเท่านั้น ฉะนั้น สภาพของบุคคลจึงยังทรงอยู่จนตลอดชีวิต ก็เพราะภวังคจิตเป็นผู้ทำหน้าที่ในการรักษาไว้นั่นเอง

ภวังคจิต เป็นจิตที่รับอารมณ์มาจากปฏิสนธิจิต ในบรรดาอารมณ์ ๓ อย่าง คือ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ คตินิมิตอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นจิตที่มีความสงบนิ่ง ไม่แสดงอาการปรากฏออกมา ไม่สามารถรู้สึกได้ ต่อเมื่อมีอารมณ์มาปรากฏทางทวารนั้น ภวังคจิตก็จะทำหน้าที่ตอบสนองต่ออารมณ์นั้น โดยแปรสภาพเป็นอดีตภวังค์ [ตี] ภวังคจิตที่เริ่มตอบสนองต่ออารมณ์ ภวังคจลนะ [น] ภวังค์ที่สั่นไหว ภวังคุปัจเฉทะ [ท] ภวังคจิตที่ตัดกระแสภวังค์ [ทิ้งตัวเองหรือหลีกทางให้] ตามลำดับ ต่อจากนั้น อาวัชชนจิตจึงเกิดขึ้นหน่วงเหนี่ยวอารมณ์นั้นต่อไปได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |