| |
พระพุทธวจนะเกี่ยวกับอิสสา   |  

อิสสาสูตร

ดูกรภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุณีผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นเหมือนถูกนำมาไว้ในนรก ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุณีไม่ใคร่ครวญให้ตระหนักแน่ก่อนแล้ว สรรเสริญผู้ไม่ควรสรรเสริญ ๑ ไม่ใคร่ครวญให้ตระหนักแน่ก่อนแล้ว ติเตียนผู้ควรสรรเสริญ ๑ เป็นผู้มีความริษยา ๑ เป็นผู้มีความตระหนี่ ๑ ทำสัทธาไทย [สิ่งของที่ถวายด้วยศรัทธา] ของชาวบ้านให้ตกไป ๑ ดูกรภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุณีผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นเหมือนถูกนำมาไว้ในนรก ฯ

ดูกรภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุณีผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นเหมือนถูกเชิญมาไว้ในสวรรค์ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุณีใคร่ครวญให้ตระหนักแน่ก่อนแล้ว สรรเสริญผู้ที่ควรสรรเสริญ ๑ ใคร่ครวญให้ตระหนักแน่ก่อนแล้ว ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ๑ ไม่เป็นผู้ริษยา ๑ ไม่ตระหนี่ ๑ ไม่ทำสัทธาไทยของชาวบ้านให้ตกไป ๑ ดูกรภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุณีผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นเหมือนถูกเชิญมาไว้ในสวรรค์ ฯ

อิจฉาสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๘ จำพวกมีปรากฏอยู่ในโลก ๘ จำพวกเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชอบสงัด แต่ไม่เจริญกรรมฐานให้ต่อเนื่องกันไป ย่อมเกิดความปรารถนาลาภ เธอย่อมเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อเธอเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ แต่ลาภไม่เกิดขึ้น เธอย่อมเศร้าโศกเสียใจ ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ถึงความหลงใหลเพราะไม่ได้ลาภนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้ปรารถนาลาภ เพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ แต่ไม่ได้ลาภ ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร และเคลื่อนจากพระสัทธรรม [ได้แก่ ภิกษุบางรูปที่อยู่ป่าหรืออยู่ในป่าช้า เพื่อหวังให้คนศรัทธาเลื่อมใสแล้วจะได้นำลาภสักการะมาถวาย แต่เมื่อไม่มีคนหลงเชื่อและนำลาภสักการะมาถวาย ก็ทุกข์ร้อนใจ กระสับกระส่ายดิ้นรน หรือแสดงเลสนัยต่าง ๆ เพื่อให้คนทั้งหลายหลงเชื่อว่า ตนเป็นผู้มีคุณวิเศษ มีฤทธิ์เดชหรือคาถาอาคมขลังศักดิ์สิทธิ์]

อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชอบสงัด แต่ไม่เจริญกรรมฐานให้ต่อเนื่องกันไป ย่อมเกิดความปรารถนาลาภ เธอย่อมเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อลาภเกิดขึ้น เธอย่อมมัวเมา ถึงความประมาทเพราะลาภนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้มีความปรารถนาลาภ ย่อมเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ ครั้นได้ลาภแล้ว ย่อมมัวเมาประมาท และเคลื่อนจากพระสัทธรรม [ได้แก่ ภิกษุบางรูปที่อยู่ป่า หรืออยู่ในป่าช้า เพื่อหวังให้คนศรัทธาเลื่อมใสแล้วจะได้นำลาภสักการะมาถวาย และเมื่อมีคนนำลาภสักการะมาถวายเพราะความหลงเชื่อ ก็เกิดความยินดีพอใจและมัวเมาในลาภสักการะ หาวิธีการหรือแสดงเลสนัยต่าง ๆ เพื่อให้ได้ลาภสักการะยิ่ง ๆ ขึ้นไป]

อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชอบสงัด แต่ไม่เจริญกรรมฐานให้ต่อเนื่องกันไป ย่อมเกิดความปรารถนาลาภ เธอไม่เพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อลาภไม่เกิดขึ้น เธอย่อมเศร้าโศกร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ถึงความหลงใหลเพราะไม่ได้ลาภนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้มีความปรารถนาลาภ ไม่เพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อไม่ได้ลาภ ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร และเคลื่อนจากพระสัทธรรม ฯ [ได้แก่ ภิกษุบางรูป ที่ชอบหลีกเร้นไปอยู่ในที่สงัด ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีอยู่ป่าหรืออยู่ในป่าช้า เป็นต้น แต่อยู่เฉย ๆ ไม่ตั้งใจเจริญกรรมฐาน ทั้งมีความคิดปรารถนาให้คนเลื่อมใสศรัทธาแล้วจะได้นำลาภสักการะมาถวายและพยายามด้วยวิธีการต่าง ๆ เมื่อไม่มีคนเลื่อมใสและนำลาภสักการะมาถวาย ก็ไม่เศร้าโศกทุกข์ร้อนใจ สามารถทำใจอดทนได้]

อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชอบสงัด ไม่เจริญกรรมฐานให้ต่อเนื่องกันไป ย่อมเกิดความปรารถนาลาภ เธอไม่เพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อลาภเกิดขึ้น เธอย่อมมัวเมาถึงความประมาทเพราะลาภนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้มีความปรารถนาลาภ ไม่เพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ ครั้นได้ลาภแล้ว ย่อมมัวเมาประมาท และเคลื่อนจากพระสัทธรรม

อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชอบสงัด ไม่เจริญกรรมฐานให้ต่อเนื่องกันไป ย่อมเกิดความปรารถนาลาภ เธอเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อลาภไม่เกิดขึ้น เธอย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหลเพราะไม่ได้ลาภนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้มีความปรารถนาลาภ เพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อไม่ได้ลาภ ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร และไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม

อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชอบสงัด ไม่เจริญกรรมฐานให้ต่อเนื่องกันไป ย่อมเกิดความปรารถนาลาภ เธอเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อลาภเกิดขึ้น เธอไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาทเพราะได้ลาภนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้มีความปรารถนาลาภ ย่อมหมั่นเพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ ครั้นได้ลาภแล้ว ย่อมไม่มัวเมา ไม่ประมาท และไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม

อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชอบสงัด ไม่เจริญกรรมฐานให้ต่อเนื่องกันไป ย่อมเกิดความปรารถนาลาภ เธอไม่เพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อลาภไม่เกิดขึ้น เธอย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหลเพราะการไม่ได้ลาภนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้มีความปรารถนาลาภ ไม่เพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อไม่ได้ลาภ ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร และไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม

อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชอบสงัด ไม่เจริญกรรมฐานให้ต่อเนื่องกันไป ย่อมเกิดความปรารถนาลาภ เธอไม่เพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ เมื่อลาภเกิดขึ้น เธอย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาทเพราะการได้ลาภนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่า ผู้มีความปรารถนาลาภ ไม่เพียรพยายามเพื่อจะได้ลาภ ครั้นได้ลาภแล้ว ย่อมไม่มัวเมา ไม่ประมาท และไม่เคลื่อนจากพระสัทธรรม [ได้แก่ ภิกษุบางรูป ที่ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ชอบหลีกเร้นไปอยู่ในสถานที่อันเงียบสงัด มีป่าหรือป่าช้า เป็นต้น แต่ไม่เจริญกรรมฐาน แต่อยู่เพราะปรารถนาจะให้คนเลื่อมใสศรัทธาแล้วจะได้นำลาภสักการะมาถวาย เมื่อมีคนเลื่อมใสศรัทธาและนำลาภสักการะมาถวายก็ไม่หลงใหลเพลิดเพลินและมัวเมาในลาภสักการะประคับประคองใจของตนให้อยู่ในเพศบรรพชิตได้อย่างยั่งยืน]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๘ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก

อิจฉาสูตร

เทวดากราบทูลถามว่า

“โลกถูกอะไรผูกไว้ เพราะกำจัดอะไรเสียจึงจะหลุดพ้น เพราะละอะไรได้เด็ดขาด จึงตัดเครื่องผูกได้ทุกอย่าง”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

“โลกถูกความอยากผูกไว้ เพราะกำจัดความอยากเสียได้ จึงหลุดพ้น เพราะละความอยากได้เด็ดขาด จึงตัดเครื่องผูกได้ทั้งหมด”

บททั้งปวงในอิจฉาสูตรที่ ๙ มีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |