ไปยังหน้า : |
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้ เป็นเหตุให้เกิดกรรม ธรรมชาติ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ความพอใจ ย่อมเกิดเพราะการปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ๑ ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต ๑ ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ตรึกตรองตามด้วยใจ เมื่อเขาปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ตรึกตรองตามอยู่ด้วยใจ ย่อมเกิดความพอใจ ผู้ที่เกิดความพอใจแล้ว ย่อมประกอบด้วยธรรมเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความกำหนัดแห่งใจนั้นว่าเป็นสังโยชน์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีตอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลายก็ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต ตรึกตรองตามด้วยใจ เมื่อเขาปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต ตรึกตรองตาม อยู่ด้วยใจ ย่อมเกิดความพอใจ ผู้ที่เกิดความพอใจแล้ว ย่อมประกอบด้วยธรรมเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความกำหนัดแห่งใจนั้นว่าเป็นสังโยชน์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคตอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ตรึกตรองตามด้วยใจ เมื่อเขาปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ตรึกตรองตามอยู่ด้วยใจ ย่อมเกิดความพอใจ ผู้ที่เกิดความพอใจแล้ว ย่อมประกอบด้วยธรรมเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความกำหนัดแห่งใจนั้นว่าเป็นสังโยชน์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบันอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้แล เป็นเหตุให้เกิดกรรม ธรรมชาติ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ๑ ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต ๑ ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลรู้ชัดซึ่งวิบากต่อไปของธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ครั้นรู้แล้วจึงละเว้นวิบากนั้นเสีย ครั้นละแล้ว จึงฟอกฉันทราคะนั้นด้วยใจ แทงตลอดด้วยปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีตอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลรู้ชัดซึ่งวิบากต่อไปของธรรมอันเป็นที่ตั้งฉันทราคะในอนาคต ครั้นรู้แล้ว จึงละเว้นวิบากนั้นเสีย ครั้นละวิบากนั้นแล้ว จึงฟอกด้วยใจ แทงตลอดด้วยปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคตอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลรู้ชัดซึ่งวิบากต่อไปของธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ครั้นรู้แล้ว จึงละเว้นวิบากนั้นเสีย ครั้นละวิบากนั้นแล้วจึงฟอกด้วยใจ แทงตลอดด้วยปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบันอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้แล เป็นเหตุให้เกิดกรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในนรกเหมือนถูกนำมาทิ้ง ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ กายกรรมอันมีโทษ ๑ วจีกรรมอันมีโทษ ๑ มโนกรรมอันมีโทษ ๑ ทิฎฐิอันมีโทษ ๑ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ประการนี้แล ย่อมเกิดในนรก เหมือนถูกนำมาทิ้งไว้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมเกิดในสวรรค์ เหมือนถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ กายกรรมอันไม่มีโทษ ๑ วจีกรรมอันไม่มีโทษ ๑ มโนกรรมอันไม่มีโทษ ๑ ทิฏฐิอันไม่มีโทษ ๑ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเกิดในสวรรค์ เหมือนถูกอัญเชิญมาประดิษฐานไว้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในนรกเหมือนถูกนำมาทิ้งลง ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน คือ กายกรรมอันมีความเบียดเบียน ๑ วจีกรรมอันมีความเบียดเบียน ๑ มโนกรรมอันมีความเบียดเบียน ๑ ทิฏฐิอันมีความเบียดเบียน ๑ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเกิดในนรกเหมือนถูกนำมาทิ้งลง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในสวรรค์เหมือนถูกอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ กายกรรมอันไม่มีความเบียดเบียน ๑ วจีกรรมอันไม่มีความเบียดเบียน ๑ มโนกรรมอันไม่มีความเบียดเบียน ๑ ทิฏฐิอันไม่มีความเบียดเบียน ๑ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมเกิดในสวรรค์ เหมือนถูกอัญเชิญมาประดิษฐานไว้
[อกุศลกรรมบถ ๑๐]
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางกาย มี ๓ อย่าง ทางวาจามี ๔ อย่าง ทางใจมี ๓ อย่าง
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นไฉน คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด พอใจในการฆ่า ไม่มีความละอาย ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง
๒. เป็นผู้ถือเอาทรัพย์ที่เขามิได้ให้ คือ ลักทรัพย์เป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของบุคคลอื่นที่อยู่ในบ้าน หรือที่อยู่ในป่า ที่เจ้าของมิได้ให้ ซึ่งนับว่า เป็นขโมย
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คือ ถึงความสมสู่ในพวกหญิงที่มารดารักษา ที่บิดารักษา ที่มารดาและบิดารักษา ที่พี่ชายรักษา ที่พี่สาวรักษา ที่ญาติรักษา ที่มีสามี ที่อิสรชนหวงห้าม ที่สุดแม้หญิงที่เขาคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย [หญิงที่เขาหมั้นไว้]
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นไฉน คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กล่าวเท็จ คือ อยู่ในที่ประชุมก็ดี อยู่ในหมู่ชนก็ดี อยู่ในท่ามกลางญาติก็ดี อยู่ในท่ามกลางขุนนางก็ดี อยู่ในท่ามกลางราชตระกูลก็ดี หรือถูกนำไปเป็นพยาน ถูกถามว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เชิญเถิด ท่านรู้เรื่องใด ก็จงบอกเรื่องนั้น เขาเมื่อไม่รู้ก็บอกว่า รู้บ้าง เมื่อรู้ก็บอกว่า ไม่รู้บ้าง เมื่อไม่เห็น ก็บอกว่าเห็นบ้าง เมื่อเห็นก็บอกว่า ไม่เห็นบ้าง เป็นผู้กล่าวคำเท็จทั้งรู้อยู่ เพราะเหตุแห่งตนบ้าง เพราะเหตุแห่งผู้อื่นบ้าง เพราะเห็นแก่สิ่งเล็กน้อยบ้าง
๒. เป็นผู้ส่อเสียด คือ ได้ฟังข้างนี้แล้ว นำไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายพวกข้างนี้บ้าง หรือฟังข้างโน้นแล้วนำไปบอกข้างนี้ เพื่อทำลายพวกข้างโน้นบ้าง ยุยงพวกที่พร้อมเพรียงกันให้แตกกันบ้าง ส่งเสริมพวกที่กำลังแตกกัน [ให้แตกกัน] บ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันแล้ว [ไม่ให้ประสานไมตรีกันได้] บ้าง ชอบใจในคนที่แตกกันเป็นพวก ยินดีในความแตกกันเป็นพวก ชื่นชมในพวกที่แตกกัน และกล่าววาจาที่ทำให้แตกกันเป็นพวก
๓. เป็นผู้มีวาจาหยาบ คือ กล่าววาจาที่เป็นโทษหยาบ อันเผ็ดร้อนแก่ผู้อื่น อันขัดใจผู้อื่น อันใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบจิต
๔. เป็นผู้กล่าวคำเพ้อเจ้อ คือ พูดในเวลาที่ไม่ควรพูด พูดเรื่องที่ไม่เป็นจริง พูดคำที่ไม่เป็นประโยชน์ พูดไม่เป็นธรรม พูดไม่เป็นวินัย กล่าววาจาไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ไม่มีที่สุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่สมควร
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่างเป็นเช่นนี้แล
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นไฉน คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความโลภมาก คือ เพ่งเล็งทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ขอทรัพย์สิ่งของของผู้อื่นพึงเป็นของเราเถิด ดังนี้
๒. เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีความดำริในใจอันชั่วช้าว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่าบ้าง จงถูกทำลายบ้าง จงขาดสูญบ้าง อย่าได้มีแล้วบ้าง ดังนี้
๓. เป็นผู้มีความเห็นผิด คือ มีความเห็นวิปริตว่า ผลแห่งทานที่ให้แล้วไม่มี ผลแห่งการบูชาไม่มี ผลแห่งการเซ่นสรวงไม่มี วิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสั่งสอนให้ผู้อื่นรู้ไม่มีอยู่ในโลก ดังนี้
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะเหตุประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ไม่ประพฤติธรรม อย่างนี้แล
[กุศลกรรมบถ ๑๐]
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติเรียบร้อยคือความประพฤติธรรมทางกายมี ๓ อย่าง ทางวาจามี ๔ อย่าง ทางใจมี ๓ อย่าง
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตราเสียแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่
๒. ละการถือเอาทรัพย์ที่เขามิได้ให้ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ไม่ลักทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่น ที่อยู่ในบ้าน หรือที่อยู่ในป่า ที่เจ้าของมิได้ให้ ซึ่งนับว่า เป็นขโมย นั้นเสียได้
๓. ละการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คือ ไม่ถึงความสมสู่ในพวกหญิง ที่มารดารักษา ที่บิดารักษา ที่มารดาและบิดารักษา ที่พี่ชายรักษา ที่พี่สาวรักษา ที่ญาติรักษา ที่มีสามี ที่อิสรชนหวงห้าม ที่สุดแม้ในหญิงที่เขาคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย [หญิงที่เขาหมั้นไว้]
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ อยู่ในที่ประชุมก็ดี อยู่ในหมู่ชนก็ดี อยู่ในท่ามกลางญาติก็ดี อยู่ในท่ามกลางขุนนางก็ดี อยู่ในท่ามกลางราชตระกูลก็ดี หรือถูกนำไปเป็นพยาน ถูกถามว่า บุรุษผู้เจริญ เชิญเถิด ท่านรู้เรื่องใดก็จงบอกเรื่องนั้น เขาเมื่อไม่รู้ก็บอกว่า ไม่รู้ หรือเมื่อรู้ก็บอกว่า รู้ เมื่อไม่เห็นก็บอกว่า ไม่เห็น หรือเมื่อเห็นก็บอกว่า เห็น ไม่กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่ เพราะเหตุแห่งตนบ้าง เพราะเหตุแห่งผู้อื่นบ้าง เพราะเห็นแก่สิ่งของเล็กน้อยบ้าง
๒. ละวาจาอันส่อเสียด เว้นขาดจากวาจาส่อเสียด คือ ได้ฟังข้างนี้แล้วไม่นำไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายพวกข้างนี้ หรือได้ฟังข้างโน้นแล้วไม่นำมาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายพวกข้างโน้น สมานพวกที่แตกกันให้ดีกันบ้าง ส่งเสริมพวกที่ดีกันให้สนิทสนมกันบ้าง ชอบใจพวกที่พร้อมเพรียงกัน ยินดีในพวกที่พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมพวกที่พร้อมเพรียงกัน และกล่าววาจาอันทำให้พร้อมเพรียงกัน
๓. ละวาจาหยาบ เว้นขาดจากวาจาหยาบ กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ วาจาที่ไพเราะหู วาจาที่ชวนให้รักใคร่กัน วาจาที่จับใจ วาจาที่เป็นของชาวเมือง วาจาที่คนส่วนมากรักใคร่ชอบใจ
๔. ละการพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ พูดในเวลาที่ควรพูดตามความจริง พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ พูดเรื่องที่เป็นธรรม พูดเรื่องที่เป็นวินัย และกล่าววาจามีหลักฐาน มีที่อ้างได้ มีที่สุด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นอย่างนี้แล
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นไฉน คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ไม่มีความโลภมาก ไม่เพ่งเล็งทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ขอให้ของผู้อื่นพึงเป็นของเราเถิด ดังนี้
๒. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท มีความดำริในใจไม่ชั่วช้าว่า ขอสัตว์เหล่านี้ จงเป็นผู้ไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียนกัน ไม่มีทุกข์ มีแต่สุข รักษาตนเถิด ดังนี้
๓. เป็นผู้มีความเห็นชอบ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ผลแห่งทานที่ให้แล้วมีอยู่ ผลแห่งการบูชามีอยู่ ผลแห่งการเซ่นสรวงมีอยู่ วิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มีอยู่ โลกหน้ามีอยู่ มารดามีอยู่ บิดามีอยู่ สัตว์ทั้งหลายที่เป็นอุปปาติกะมีอยู่ สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้ มีอยู่ในโลกนี้ ดังนี้
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล
ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะเหตุประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมอย่างนี้แล