| |
สรุปเรื่องมานเจตสิก   |  

มานเจตสิก อยู่ในกลุ่ม อกุศลราสี คือ หมวดแห่งอกุศลเจตสิก ๑๔ เป็น โลติกเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบได้เฉพาะในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ ดวงซึ่งอยู่ในกลุ่มโลภมูลจิตเท่านั้น

มานเจตสิก เป็น อนิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้โดยไม่แน่นอน หมายความว่า เมื่อระบุว่า ประกอบกับทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ ดวง เมื่อทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้น อาจมีมานเจตสิกประกอบร่วมด้วยก็ได้ ไม่ประกอบร่วมด้วยก็มี เรียกว่า กทาจิเจตสิก แปลว่า เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้เป็นบางครั้งบางคราว

ถ้าทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้นโดยมีความถือตัวถือตนหรือมีการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นแล้ว ในขณะนั้น ย่อมมีมานเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ ดวงนั้น เกิดขึ้นโดยอาศัยความโลภ ความยินดีติดใจในอารมณ์อย่างเดียว โดยไม่มีความเย่อหยิ่งถือตัว หรือไม่มีการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นแต่ประการใด ในขณะนั้น มานเจตสิกย่อมไม่เข้าประกอบร่วมด้วย

มานเจตสิกย่อมเกิดร่วมกับเจตสิกได้ ๒๐ ดวง [เว้นมานะ] คือ

เมื่อประกอบกับทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ ดวง ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๓ โมจตุกเจตสิก ๔ โลภเจตสิก ๑ ถีทุกเจตสิก ๒

มานเจตสิก บุคคลย่อมละได้โดยเด็ดขาด ด้วยอำนาจแห่งอรหัตตมรรคญาณ ส่วนมรรคญาณอื่น ๆ ย่อมสามารถละมานะได้เป็นบางส่วนเท่านั้น คือ

โสดาปัตติมรรคญาณ ย่อมละมานเจตสิก ที่ประกอบกับทิฏฐิวิปปยุตตจิต ๔ ที่เป็นประเภทอยาถาวมานะ คือ ความถือตัวที่ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง ได้โดยเด็ดขาด เรียกว่า สมุจเฉทปหาน

สกิทาคามิมรรคญาณ ย่อมละมานเจตสิก ที่ประกอบกับทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ ที่เป็นประเภทยาถาวมานะ คือ การถือตัวที่เป็นไปตามความเป็นจริง บางประการโดยการทำให้เบาบาง เรียกว่า ตนุกรปหาน

อนาคามิมรรคญาณ ย่อมละมานเจตสิก ที่ประกอบกับทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ ที่เป็นประเภทยาถาวมานะ บางประการ โดยทำให้เบาบาง เรียกว่า ตนุกรปหาน

อรหัตตมรรคญาณ ย่อมละมานเจตสิก ที่ประกอบกับทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ ทั้งหมดโดยเด็ดขาด เรียกว่า สมุจเฉทปหาน

เพราะฉะนั้น พระอรหันต์เท่านั้น ที่สามารถชำระล้างมานเจตสิกให้หมดสิ้นจากขันธสันดานได้โดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |