| |
สันตีรณจิต ๓   |  

สันตีรณจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยความเป็นผลของกุศลและอกุศล เพื่อพิจารณาไต่สวนปัญจารมณ์ คือ อารมณ์ ๕ อย่าง ได้แก่ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ และโผฏฐัพพารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อจากสัมปฏิจฉนจิตดวงใดดวงหนึ่ง ตามสภาพของอารมณ์ในทวารนั้น ๆ หมายความว่า ถ้าปัญจารมณ์คืออารมณ์ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น เป็นอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา สันตีรณจิตที่เกิดขึ้นพิจารณาไต่สวนอารมณ์นั้น ก็เป็นอกุศลวิบาก คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิปากจิต ถ้าปัญจารมณ์คืออารมณ์ ๕ อย่างนั้น เป็นอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนาระดับปานกลาง สันตีรณจิตที่เกิดขึ้นพิจารณาไต่สวนอารมณ์นั้น ก็เป็นกุศลวิบากที่เป็นอุเบกขา คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิปากจิต ถ้าปัญจารมณ์คืออารมณ์ ๕ อย่างนั้น เป็นอติอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง สันตีรณจิตที่เกิดขึ้นพิจารณาไต่สวนอารมณ์นั้น ก็เป็นกุศลวิบากที่เป็นโสมนัสสเวทนา คือ โสมนัสสันตีรณกุศลวิปากจิต สันตีรณจิตนี้ มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกกะ คือ

๑. อะเหตุกะวิปากานันตะรัง ปัญจารัมมะณะวิชชานะนะลักขะณัง มีการรับรู้ [ไต่สวน] อารมณ์ทั้ง ๕ รองลำดับจากอเหตุกวิปากจิต เป็นลักษณะ หมายความว่า สันตีรณจิตนี้ จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีทวิปัญจวิญญาณจิตและสัมปฏิจฉนจิต อันเป็นวิปากจิตชนิดเดียวกันเกิดขึ้นก่อนแล้ว สันตีรณจิตนี้จึงจะเกิดตามได้ คือ ถ้าทวิปัญจวิญญาณจิตและสัมปฏิจฉนจิตที่เกิดขึ้นเป็นอกุศลวิบาก สันตีรณจิตที่เกิดขึ้นตาม ก็ต้องเป็นอกุศลวิบากด้วย ถ้าทวิปัญจวิญญาณจิตและสัมปฏิจฉนจิตที่เกิดขึ้นเป็นกุศลวิบาก สันตีรณจิตที่เกิดขึ้นตาม ก็ต้องเป็นกุศลวิบากด้วยเช่นกัน

๒. รูปารัมมะณาทิสันตีระณะระสัง มีการไต่สวนรูปารมณ์ เป็นต้น เป็นกิจ หมายความว่า สันตีรณจิตนี้ ย่อมเกิดได้ทางปัญจทวารเท่านั้น เพื่อทำการพิจารณาอารมณ์ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกิดทางทวารนั้น ๆ มีรูปารมณ์ที่เกิดทางจักขุทวาร เป็นต้น จะเกิดทางมโนทวารนั้นไม่ได้ [เฉพาะที่ทำหน้าที่สันตีรณะเท่านั้น ที่เกิดได้เฉพาะทางปัญจทวาร ถ้าทำหน้าที่ตทาลัมพนะสามารถเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร] เนื่องจากกระบวนการรู้อารมณ์ทางปัญจทวารนั้น เป็นการกระทบกันระหว่างอารมณ์ที่เป็นรูปและทวารก็เป็นรูป และเป็นการกระทบกันระหว่างโอฬาริกรูปกับโอฬาริกรูปด้วยกัน คือ รูปหยาบกับรูปหยาบกระทบกัน ฉะนั้น จึงต้องมีกระบวนการเกิดขึ้นของวิถีจิตหลายขั้นตอน เพื่อปรับสภาพของจิตเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมกับสภาพของอารมณ์และทวารซึ่งเป็นรูปธรรมนั้นให้มีสภาพที่รับกันได้อย่างกลมกลืน คือ เมื่อว่าโดยประเภทแห่งวิถีจิตแล้ว มี ๗ ประเภทเป็นอย่างมาก คือ อาวัชชนจิต [ปัญจทวาวาวัชชนจิต] ปัญจวิญญาณจิต สัมปฏิจฉนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต [มโนทวาราวัชชนจิต] ชวนจิต และตทาลัมพนจิต เมื่อว่าโดยจิตตุปบาทแล้ว มีวิถีจิตเกิดได้อย่างมาก ๑๔ ขณะ คือ อาวัชชนจิต ๑ ขณะ ปัญจวิญญาณจิต ๑ ขณะ สัมปฏิจฉนจิต ๑ ขณะ สันตีรณจิต ๑ ขณะ โวฏฐัพพนจิต ๑ ขณะ ชวนจิต ๗ ขณะ และตทาลัมพนจิต ๒ ขณะ ส่วนวิถีจิตทางมโนทวารนั้น ทวารเป็นนามธรรมคือภวังคจิต จิตเจตสิกก็เป็นนามธรรมด้วยกัน และอารมณ์นั้น มีสภาพเป็นสุขุมะคืออารมณ์อันละเอียดอ่อน อันได้แก่ จิต เจตสิก สุขุมรูป นิพพาน และบัญญัติ อย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้น จิตเจตสิกและมโนทวาร ซึ่งมีสภาพเป็นนามธรรมด้วยกัน จึงมีกำลังมากกว่าสภาพของรูปธรรม จึงสามารถรับสภาพของธัมมารมณ์ได้อย่างรวดเร็วกว่าทางปัญจทวารดังกล่าวแล้ว ด้วยเหตุนี้ วิถีจิตทางมโนทวารจึงมีกระบวนการเกิดขึ้นน้อยกว่าทางปัญจทวาร คือ ทางมโนทวารนั้น เมื่อว่าโดยประเภทแห่งวิถีจิตแล้ว มีเพียง ๓ ประเภทเป็นอย่างมาก ได้แก่ อาวัชชนจิต [มโนทวาราวัชชนจิต] ชวนจิต ตทาลัมพนจิต และเมื่อว่าโดยจิตตุปบาทแล้ว มีเพียง ๑๐ ขณจิตเป็นอย่างมาก ได้แก่ อาวัชชนจิต ๑ ขณะ ชวนจิต ๗ ขณะ และตทาลัมพนจิต ๒ ขณะเท่านั้น ฉะนั้น ทางมโนทวารวิถีจึงไม่ต้องมีสันตีรณจิตเกิดขึ้นมาไต่สวนอารมณ์แต่อย่างใด

๓. ตะถาภาวะปัจจุปปัฏฐานัง มีความเป็นไปอย่างเดียวกันกับอารมณ์ เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า สันตีรณจิตนี้ สามารถปรับสภาพของตนให้เข้ากับสภาพของอารมณ์ที่ตนไต่สวนอยู่นั้นได้อย่างกลมกลืน โดยไม่มีความขัดแย้งหรือเป็นปฏิปักษ์ต่ออารมณ์นั้นแต่อย่างใด หรือไม่มีความเกี่ยงงอนต่อการไต่สวนอารมณ์นั้น ๆ แต่อย่างใด ไม่ว่าอารมณ์นั้น จะเป็นรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ หรือโผฏฐัพพารมณ์ก็ตาม ย่อมสามารถปรับสภาพยอมรับกับอารมณ์โดยดี และไม่มีความลำเอียงเกี่ยงงอนในทวารทั้ง ๕ ไม่ว่าจะเป็นจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร หรือกายทวารก็ตาม ย่อมสามารถเกิดได้ทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ สันตีรณจิตจึงสามารถไต่ส่วนอารมณ์ได้อย่างสม่ำเสมอกันทั้ง ๕ อารมณ์และทั้ง ๕ ทวาร

๔. หะทะยะวัตถุปะทัฏฐานัง มีหทยวัตถุ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า สันตีรณจิตนี้ ย่อมเกิดได้เฉพาะกับบุคคลที่มีวัตถุรูป คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หัวใจเท่านั้น คือ เกิดได้เฉพาะกับบุคคลที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิ ๒๖ ได้แก่ กามภูมิ ๑๑ รูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] ไม่เกิดกับบุคคลที่เกิดอยู่ในจตุโวการภูมิ ได้แก่ อรูปภูมิ ๔ เลย ในกามภูมินั้น มีทวารครบทั้ง ๖ ทวาร ฉะนั้น สันตีรณจิตจึงสามารถเกิดได้ครบทั้ง ๕ ทวาร [ถ้าทำหน้าที่ตทาลัมพนะ เกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร] ส่วนในรูปภูมิ ๑๕ นั้น มีทวารเพียง ๓ ทวาร ได้แก่ จักขุทวาร โสตทวาร และมโนทวาร ฉะนั้น สันตีรณจิตจึงเกิดได้เฉพาะทางจักขุทวารและโสตทวารเท่านั้น แต่สันตีรณจิต ๓ นั้นเป็นมโนวิญญาณธาตุ ซึ่งเป็นจิตที่ต้องอาศัยหทยวัตถุเกิดอย่างเดียว ไม่สามารถอาศัยวัตถุรูปอย่างอื่นเกิดได้ และจะเกิดขึ้นโดยที่ไม่ต้องอาศัยหทยวัตถุรูปก็ไม่ได้เช่นกัน ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า สันตีรณจิต ๓ ดวงนี้ ต้องเกิดกับบุคคลที่มีหทยวัตถุรูปเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ หทยวัตถุรูปจึงเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสันตีรณจิต ดังกล่าวแล้ว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |