| |
ลักขณาทิจตุกะของโมหเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของโมหเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้รู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. จิตตัสสะ อันธะภาวะลักขะโณ วา อัญญาณะลักขะโณ มีความมืดมนแห่งจิต เป็นลักษณะ หรือ มีความไม่รู้ เป็นลักษณะ หมายความว่า ลักษณะประจำตัวของโมหเจตสิก ได้แก่ ความมืด คือ ผู้ที่โมหะกำลังครอบงำอยู่ ย่อมไม่รู้หนทางที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทั้งไม่รู้ว่า เรามาจากไหน มาทำอะไร และจะไปไหนต่อ เป็นต้น เพราะฉะนั้น การดำเนินชีวิตในปัจจุบัน บางครั้งก็ถูกทาง แต่ที่ปฏิบัติถูกนั้น ก็ไม่ใช่เพราะเห็นถูกต้อง แต่เป็นเพราะถูกโดยบังเอิญ อุปมาเหมือนคนที่เดินทางไปในที่มืด การเดินผิดทางเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเดินถูกทาง ก็มิใช่เพราะเห็นทาง แต่เป็นเหตุบังเอิญ อนึ่ง ที่ว่ามีความไม่รู้เป็นลักษณะนั้น หมายความว่า เมื่อโมหะเกิดขึ้นกับบุคคลใดแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นมีความไม่รู้มากขึ้น คือ ยิ่งหลงมาก ยิ่งโง่มาก นั่นเอง

๒. อาลัมพะณะสะภาวัจฉาทะนะระโส วา อัปปะฏิเวธะระโส มีการปกปิดสภาวะของอารมณ์ไว้ เป็นกิจ หมายความว่า โมหเจตสิกย่อมไม่เห็นสภาพความเป็นจริงของอารมณ์ คือ ไม่เห็นโดยความเป็นสักแต่ว่า รูปารมณ์ เป็นต้นเท่านั้น แต่เห็นโดยความเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน เป็นของสวยงาม หรือไม่สวยงาม อีกนัยหนึ่ง โมหเจตสิกย่อมมีสภาพปิดไว้ไม่ให้รู้แจ้งสภาวะของอารมณ์ เป็นกิจ หมายความว่า เป็นสภาวธรรมที่ปกปิดไว้ ไม่ให้เห็นความเกิดดับตามสภาวะของรูปนาม ที่เป็นไปโดยสภาพแห่งไตรลักษณ์นั่นเอง

๓. อันธะการะปัจจุปปัฏฐาโน วา อะสัมมาปะฏิปัตติปัจจุปปัฏฐาโน มีการทำให้สัมปยุตตธรรมกับบุคคลที่มีโมหะอยู่นั้นมีความมืดมน ขาดปัญญาที่จะคิดหาเหตุผล เป็นอาการปรากฏ หรือ ทำให้สัมปยุตตธรรมกับบุคคลที่มีโมหะนั้นไม่สามารถปฏิบัติตนให้ถูกต้องได้ เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า บุคคลที่ถูกโมหะครอบงำอยู่นั้น แม้มีความประสงค์จะสร้างคุณงามความดี ก็ไม่สามารถสร้างได้อย่างถูกต้อง หรือได้ลงมือปฏิบัติไปแล้ว แต่ก็ไม่สามารถบรรลุถึงคุณงามความดีนั้นได้ เพราะไม่รู้แนวทางแห่งความดีอย่างถูกต้อง ที่เป็นดังนี้ ก็เพราะถูกอวิชชาปกปิดไว้นั่นเอง

๔. อะโยนิโสมะนะสิการะปะทัฏฐาโน มีการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า ผู้ที่มนสิการผิดทาง คือ ไม่พิจารณาโดยอุบายที่ถูกทาง เช่น มนสิการในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง, ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม, ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข, ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน การนึกคิดอยู่เช่นนี้บ่อย ๆ ย่อมเป็นเหตุใกล้ทำให้โมหะเกิดขึ้นได้

หมายเหตุ.. บุคคลผู้ที่มีโมหะมาก ได้แก่ ผู้ไม่รู้ว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น จึงพอใจแต่ในการกระทำทุจริต ส่วนบุคคลผู้ที่มีโมหะเบาบางแล้ว ได้แก่ ผู้รู้ว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ บุคคลประเภทนี้ เมื่ออกุศลเกิดขึ้น ย่อมพยายามข่มทับเอาไว้ไม่ให้ลุล่วงออกมาทางกาย ทางวาจา และปรับสภาพจิตใจให้กลับเป็นกุศล บุคคลผู้ที่มีโมหะเบาบางที่สุด ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ส่วนบุคคลผู้ที่ไม่มีโมหะเลย ได้แก่ พระอรหันต์ เท่านั้น

โมหเจตสิก ชื่อว่า เป็นรากเหง้าของอกุศลธรรมทั้งปวง จึงเรียกว่า อกุศลมูล


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |