| |
อุชุกตาเจตสิก   |  

อุชุกตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่มีความซื่อตรงต่อกิจการงานอันเป็นกุศลหรือความดีงามทั้งหลาย เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนคลายจากความคดโกงหรือความดื้อด้านและมีความซื่อตรงต่อสิ่งที่ดีงามทั้งหลาย เพราะฉะนั้น บุคคลที่พยายามฝึกฝนอบรมตนเองด้วยคุณธรรม คือ อุชุกตา อยู่เสมอ ย่อมสามารถขจัดนิสัยคดโกงให้บรรเทาเบาบางลงและทำลายให้หมดไปได้ และย่อมต้านทานความคดโกงที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต ประกอบแต่กิจที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตนเอง คนรอบข้าง และประโยชน์สุขของส่วนรวม ไม่มีจิตคิดคดโกงหรือสร้างความเดือดร้อนให้บุคคลอื่นหรือสัตว์อื่นแต่ประการใด

อุชุกตาเจตสิก มี ๒ ดวงคือ

๑. กายุชุกตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำให้เจตสิกขันธ์ ๓ [เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์] มีความซื่อตรงในการงานอันเป็นกุศล หมายความว่า กายุชุกตาเจตสิกนี้ เป็นสภาวธรรมที่นับเข้าในสังขารขันธ์ คือ ธรรมชาติที่ช่วยควบคุมเจตสิกธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับตนให้ตั่งมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ให้มีความทรยศคดโกงหรือประพฤติทุจริตกรรมต่าง ๆ เปรียบเหมือนครูฝึกหรือผู้คุมทั้งหลายที่ทำการฝึกฝนอบรมบุคคลที่เข้ารับการฝึกให้เป็นผู้มีระเบียบวินัยและตั้งตนอยู่ในอุดมการณ์อันดีงามและควบคุมพฤติกรรมการแสดงออก มิให้ประพฤตินอกรีตนอกรอยแห่งกฎระเบียบ เพื่อให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและคุณธรรมต่อไป

๒. จิตตุชุกตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำให้จิต [วิญญาณขันธ์] มีความซื่อตรงในการงานอันเป็นกุศล หมายความว่า จิตตุชุกตาเจตสิกนี้เป็นสภาวธรรมที่นับเข้าในสังขารขันธ์ คือ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตให้มีสภาพซื่อตรงต่อการงานอันเป็นกุศล ทำให้สภาพจิตมีความซื่อตรงมั่นคงอยู่ในคุณงามความดีหรือพร้อมที่จะรองรับสิ่งที่งามได้โดยง่าย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |