| |
พระพุทธวจนะเกี่ยวกับผัสสะ   |  

อรหันตสูตร

[อินทรีย์ ๕ อาศัยผัสสะแล้วทำให้เกิดเวทนา]

ที่มาในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ อุเปกขินทรีย์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุขินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้นมีความสบายกาย ย่อมรู้ชัดว่าสบายกาย ย่อมรู้ชัดว่าเพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแหละดับไปแล้ว เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะนั้น คือ สุขินทรีย์ซึ่งอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาเกิดขึ้น ย่อมดับไป สงบไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทุกขินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้น มีความไม่สบายกาย ย่อมรู้ชัดว่า ไม่สบายกาย ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นแหละดับไปแล้ว เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะนั้น คือ ทุกขินทรีย์ซึ่งอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนาเกิดขึ้นย่อมดับไปสงบไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย โสมนัสสินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสสเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้น มีความสบายใจ ย่อมรู้ชัดว่า สบายใจ ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสสเวทนานั้นแหละดับไปแล้ว เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะนั้น คือ โสมนัสสินทรีย์ซึ่งอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสสเวทนาเกิดขึ้น ย่อมดับไปสงบไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทมนัสสินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัสสเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุมีความไม่สบายใจ ย่อมรู้ชัดว่า ไม่สบายใจ ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัสสเวทนานั้นแหละดับไปแล้ว เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะนั้น คือ โทมนัสสินทรีย์ซึ่งอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัสสเวทนาเกิดขึ้น ย่อมดับไป สงบไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุเปกขินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้น มีความรู้สึกเฉย ๆ ย่อมรู้ชัดว่า รู้สึกเฉย ๆ ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาเวทนานั้นแหละดับไปแล้ว เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะนั้น คือ อุเปกขินทรีย์ซึ่งอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาเวทนาเกิดขึ้น ย่อมดับไป สงบไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไม้ ๒ อันเสียดสีกัน ทำให้เกิดความร้อน และเกิดลุกเป็นไฟขึ้นมา เมื่อแยกไม้ ๒ อันนั้นให้ออกจากกันเสีย ความร้อนที่เกิดเพราะการเสียดสีกัน ย่อมดับไป สงบไป ฉันใด สุขินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้นรู้สึกสบายกาย ย่อมรู้ชัดว่า สบายกาย ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแหละดับไปแล้ว เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะคือสุขินทรีย์ซึ่งอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาเกิดขึ้นนั้น ย่อมดับไปสงบไป

ทุกขินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้น รู้สึกไม่สบายกาย ย่อมรู้ชัดว่า ไม่สบายกาย ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นแหละดับไปแล้ว เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะคือทุกขินทรีย์ซึ่งอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนาเกิดขึ้น ย่อมดับไป สงบไป

โสมนัสสินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสสเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้น รู้สึกสบายใจ ย่อมรู้ชัดว่า สบายใจ ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสสเวทนานั้นแหละดับไปแล้ว เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะคือโสมนัสสินทรีย์ซึ่งอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสสเวทนาเกิดขึ้น ย่อมดับไป สงบไป

โทมนัสสินทรีย์ย่อมอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัสสเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้น รู้สึกไม่สบายใจ ย่อมรู้ชัดว่า ไม่สบายใจ ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสสเวทนานั้นแหละดับไปแล้ว เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะคือโทมนัสสิน ทรีย์ซึ่งอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัสสเวทนาเกิดขึ้น ย่อมดับไป สงบไป

อุเปกขินทรีย์ที่อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้น รู้สึกเฉย ๆ ย่อมรู้ชัดว่า รู้สึกเฉย ๆ ย่อมรู้ชัดว่า เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาเวทนานั้นแหละดับไปแล้ว เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะนั้น คือ อุเปกขินทรีย์ซึ่งอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาเวทนาเกิดขึ้น ย่อมดับไป สงบไป ฉันนั้น เหมือนกัน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |