| |
การเจริญรูปฌาน   |  

พระโยคีบุคคลผู้ต้องการเจริญรูปฌาน ต้องทำกิจเบื้องต้นในการเจริญกรรมฐานให้เรียบร้อยก่อน ได้แก่ การชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์ ศึกษาอารมณ์กรรมฐานที่เหมาะแก่จริตของตนให้เข้าใจโดยถ่องแท้ ตัดมหาปลิโพธิเครื่องกังวลใหญ่ให้หมดไป แสวงหาครูผู้เป็นกัลยาณมิตรผู้สามารถสอนกรรมฐานได้ถูกต้อง เว้นจากสิ่งที่เป็นอสัปปายะ ๗ เสพสิ่งที่เป็นสัปปายะ ๗จิ.๑๓ และทำการตัดขุททกปลิโพธิ์ เครื่องกังวลหยุมหยิมให้หมดไป เพื่อให้จิตใจปลอดโปร่งโล่งสบาย เมื่อได้ทำกิจเบื้องต้นเหล่านี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนั้น จึงกำหนดเอาอารมณ์กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เหมาะแก่จริตของตน เช่น กำหนดเอาปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่สามารถใช้ได้กับทุกจริต

พระโยคีบุคคลผู้กำหนดเอาปฐวีกสิณเป็นอารมณ์นั้น ต้องเอาดินสีอรุณล้วนๆ มาปั้นเป็นดวงกสิณ เป็นวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ คืบ ๔ นิ้วและทำให้ราบเรียบเสมอกัน พร้อมทั้งขจัดสิ่งที่เป็นมลทินโทษของปฐวีกสิณนั้นออกให้หมดแล้วตั้งไว้ให้ห่างประมาณ ๒ ศอก ให้ตรงพอดีกับสายตา ในสถานที่อันเป็นสัปปายะ แล้วนั่งใช้สายตาเพ่ง พร้อมกับบริกรรมในใจ หรือบริกรรมด้วยปากว่า “ปฐวีกสิณัง ๆ หรือ ดิน ๆ” เช่นนี้เรื่อยไป นิมิตแห่งปฐวีกสิณนั้น เรียกว่า บริกรรมนิมิต จนสมาธิเริ่มเข้าไปจับสงบอยู่ในดวงกสิณนั้น เรียกว่า ขณิกสมาธิ เมื่อพระโยคีบุคคลเพ่งบริกรรมเรื่อยไป โดยไม่ยอมละเลิกความพยายาม นิมิตแห่งดวงกสิณนั้น ย่อมปรากฏติดอยู่ที่ตา [ปรากฏที่ใจ] เรียกว่า อุคคหนิมิต เมื่อนิมิตแห่งดวงกสิณนั้น ติดอยู่ที่ตา [หรือปรากฏที่ใจ] อย่างมั่นคง แม้จะหลับตาหรือลืมตา ก็ยังเห็นปรากฏอยู่ไม่ลบเลือนหายไป ในโอกาสเช่นนั้น พระโยคีบุคคลสามารถหลีกไปนั่งหรือยืนภาวนาในที่อื่นได้ตามความต้องการ แต่ถ้านิมิตนั้น เริ่มลบเลือนหายไปหรือจืดจางไป พระโยคีบุคคลต้องกลับมาเพ่งบริกรรมดวงกสิณนั้นอีก จนปรากฏติดอยู่ที่ตา ตราตรึงอยู่ในใจแล้ว จึงหลีกไปภาวนาอยู่ในที่อื่นได้อีก ทำอยู่เช่นนี้ จนนิมิตแห่งปฐวีกสิณนั้น ปรากฏเด่นชัดและมีสภาพผ่องใสขึ้นโดยลำดับ พระโยคีบุคคลหมั่นพยายามกำหนดภาวนาในนิมิตนั้นเรื่อยไป อย่างไม่ยอมละเลิกความพยายาม จนนิมิตนั้นมีความผ่องใสเป็นพิเศษ เพิกสภาพดวงปฐวีกสิณเดิมออกไปแล้ว คงมีแต่สภาพที่ผ่องใสเด่นชัด สามารถย่อให้เล็กกว่าของจริงได้ หรือขยายให้ใหญ่โตกว่าของจริงหลายเท่าก็ได้ นิมิตนั้น เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต สมาธิจิตเริ่มแนบแน่นเข้าไปโดยลำดับ จนใกล้จะมั่นคงอยู่ในปฏิภาคนิมิตนั้น แต่ยังมีการหลุดจากนิมิตนั้นบ้าง เป็นบางครั้งบางคราว นี้เรียกว่า อุปจารสมาธิ และจิตยังเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์อยู่ [สำหรับของปุถุชนและพระเสกขบุคคล ๓] หรือเป็นมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต [สำหรับของพระอรหันต์] ซึ่งเป็นกามาวจรจิตทั้งหมด เมื่อพระโยคีบุคคลพยายามใส่ใจในปฏิภาคนิมิตแห่งดวงกสิณนั้นโดยไม่ลดละหรือท้อถอย จนสมาธิจิตมีความแนบแน่นโดยลำดับ ทั้งสงบนิ่งอยู่ในปฏิภาคนิมิตแห่งดวงกสิณนั้นอย่างมั่นคงแนบแน่นเต็มที่แล้ว องค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ก็ปรากฏเด่นชัดและมีกำลังในการข่มนิวรณ์ ๕ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะและวิจิกิจฉาให้อ่อนกำลังลงโดยลำดับ จนสงบราบคาบไปในที่สุด ไม่สามารถกำเริบขึ้นมาแสดงปฏิกิริยาได้อีก เรียกว่า วิกขัมภนปหาน สมาธิจิตในขณะนั้น เรียกว่า อัปปนาสมาธิ แปลว่า สมาธิแนบแน่น และปฐมฌานจิต ก็เกิดขึ้นแก่พระโยคีบุคคลนั้น สภาพจิตเปลี่ยนจากมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตหรือมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิตซึ่งเป็นกามาวจรจิตนั้นมาเป็นปฐมฌานจิตคือเป็นรูปาวจรจิต [ในบรรดาฌานจิตต่อ ๆไป คือ ทุติยฌานจิต ตติยฌานจิต จตุตถฌานจิตและปัญจมฌานจิต ก็เป็นรูปาวจรจิตทั้งหมด ส่วนจิตที่เกิดในอุปจารสมาธินั้น เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตหรือมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิตซึ่งเป็นกามจิตอย่างเดียว]

เมื่อพระโยคีบุคคลได้ปฐมฌานแล้ว พึงประคับประคองปฐมฌานนั้นไว้ให้ดี อย่าให้เสื่อมคลายไปและฝึกฝนให้เกิดวสีทั้ง ๕ คือ มีความชำนาญในการนึก ชำนาญในการเข้า ชำนาญในการดำรงอยู่ในฌาน ชำนาญในการออกจากฌานและชำนาญในการพิจารณาองค์ฌาน เมื่อทำให้เกิดวสีทั้ง ๕ แล้ว ถ้าต้องการที่จะเจริญทุติยฌานต่อไป พระโยคีบุคคลนั้น ต้องกำหนดพิจารณาให้เห็นโทษของวิตก ซึ่งเป็นองค์ฌานที่หยาบกว่าองค์ฌานอื่น ๆ เนื่องจากคอยทำหน้าที่ยกสัมปยุตตธรรมขึ้นสู่อารมณ์อยู่เสมอ ทำให้กำลังความแนบแน่นในอารมณ์นั้นถูกบั่นทอนไป สมาธิจิตอาจหลุดจากอารมณ์ของปฐมฌานได้ง่าย พระโยคีบุคคลต้องกำหนดละวิตกองค์ฌานนั้นเสีย โดยการไม่ใฝ่ใจถึงสภาพของวิตกนั้นเลย ทำการใฝ่ใจถึงแต่สภาพของวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เท่านั้น จนสามารถละวิตกองค์ฌานนั้นออกไปจากใจได้ เหลือแต่วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา ในขณะนั้น ทุติยฌาน ได้เกิดขึ้นแก่พระโยคีบุคคลนั้น

เมื่อพระโยคีบุคคลนั้นได้ทุติยฌานแล้ว พึงประคับประคองทุติยฌานนั้นให้ดี แล้วทำการฝึกฝนให้เกิดวสีทั้ง ๕ ดังกล่าวแล้วในปฐมฌาน เมื่อทำให้ชำนาญในวสีทั้ง ๕ แล้ว ต้องการที่จะก้าวขึ้นไปสู่ตติยฌาน พระโยคีบุคคลต้องกำหนดพิจารณาให้เห็นโทษของวิจารซึ่งเป็นองค์ฌานที่หยาบกว่าองค์ฌานอื่นที่มีอยู่ในทุติยฌานนั้น เนื่องจากวิจารนี้เป็นธรรมชาติที่คอยประคองจิตให้เคล้าคลึงในอารมณ์อยู่เสมอ ทำให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นประณีตยิ่งขึ้นไปอีก สมาธิจิตอาจหลุดจากทุติยฌานนั้นได้ จึงต้องกำหนดละวิจารเสีย ด้วยการไม่ใฝ่ใจถึงสภาพของวิจารนั้นเลย แต่หันมาใฝ่ใจอยู่แต่ในสภาพของปีติ สุข และเอกัคคตาเท่านั้น เมื่อกำหนดเอาใจออกห่างจากวิจารได้แล้ว สภาพของวิจารก็ไม่ปรากฏอยู่ในใจอีกต่อไป เหลือแต่สภาพของปีติ สุข และเอกัคคตา เท่านั้น ในขณะนั้น เรียกว่า ตติยฌาน ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระโยคีบุคคลนั้น

เมื่อพระโยคีบุคคลได้ตติยฌานแล้ว พึงประคับประคองตติยฌานนั้นให้ดี แล้วทำการฝึกฝนให้เกิดวสีทั้ง ๕ ดังกล่าวแล้ว เมื่อพระโยคีบุคคลทำให้เกิดความชำนาญในวสีทั้ง ๕ แล้ว ต้องการที่จะก้าวขึ้นไปสู่จตุตถฌาน พึงกำหนดพิจารณาให้เห็นโทษของปีติว่า สภาพของปีตินี้ มักซึมซาบเอิบอาบซู่ซ่าอยู่ในอารมณ์เสมอ ทำให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นยิ่งขึ้นไปอีก จึงต้องกำหนดละปีติออกไปเสีย ด้วยการไม่ใฝ่ใจถึงสภาพของปีตินั้นเลย ใฝ่ใจอยู่แต่ในสภาพของสุขและเอกัคคตาเท่านั้น เมื่อสภาพของปีติจางคลายและหายไปจากจิตใจแล้ว เหลือแต่เพียงสภาพของสุขและเอกัคคตาปรากฏเด่นชัดอยู่ ในขณะนั้น เรียกว่า จตุตถฌาน ได้เกิดขึ้นแก่พระโยคีบุคคลนั้นแล้ว

เมื่อพระโยคีบุคคลนั้นได้จตุตถฌานแล้ว พึงประคับประคองจตุตถฌานนั้นให้ดี แล้วทำให้เกิดวสีทั้ง ๕ ดังกล่าวแล้ว เมื่อพระโยคีบุคคลทำให้เกิดความชำนาญในวสีทั้ง ๕ แล้ว ต้องการที่จะก้าวขึ้นไปสู่ปัญจมฌาน พึงกำหนดพิจารณาให้เห็นโทษของสุขหรือโสมนัสสเวทนาว่า สภาพของสุขนี้ ก็ยังทำให้มีความรู้สึกที่หยาบอยู่ ทำให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นยิ่งขึ้นไปอีก ต้องกำหนดละสุขออกไปเสีย ด้วยการไม่ใฝ่ใจถึงสภาพของสุขนั้นเลย ใฝ่ใจอยู่แต่ในสภาพของอุเบกขาและเอกัคคตาเท่านั้น [คือปรับสภาพของสุขให้เป็นอุเบกขาโดยทำใจให้วางเฉยต่ออารมณ์นั้น ไม่ติดในความสุข] เมื่อสภาพของสุขจางคลายหายไปจากจิตใจแล้ว เหลือแต่สภาพของอุเบกขาและเอกัคคตาปรากฏเด่นชัดอยู่ ในขณะนั้น เรียกว่า ปัญจมฌาน ได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อพระโยคีบุคคลได้ปัญจมฌานแล้ว พึงประคับประคองปัญจมฌานนั้นให้ดี แล้วทำให้เกิดวสีทั้ง ๕ ดังกล่าวแล้ว จึงจะสามารถรักษาปัญจมฌานนี้ให้คงอยู่ได้ตลอดไป

อนึ่ง พระโยคีบุคคลต้องฝึกฝนในการเข้าสมาบัติในฌานทั้ง ๕ ระดับนั้นให้มีความชำนาญในวสีทั้ง ๕ อยู่เสมอ ฌานนั้นจึงจะมีกำลังและสามารถเป็นบาทฐานให้เกิดฤทธานุภาพต่าง ๆ ได้และสามารถดำรงมั่นอยู่ได้ยาวนาน พระโยคีบุคคลต้องพยายามรักษาใจไม่ให้กระทบกับวิสภาคารมณ์ คือ อารมณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อฌาน อันได้แก่ อารมณ์ของนิวรณ์ทั้ง ๕ นั้นเอง เมื่อพระโยคีบุคคลสามารถรักษารูปฌานทั้ง ๕ ให้คงอยู่ได้ตลอดไปและฝึกฝนให้คล่องแคล่วอยู่เสมอ ย่อมไม่เป็นผู้เสื่อมจากรูปฌานเลย ย่อมได้รับอานิสงส์ตามที่ต้องการ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |