| |
วจนัตถะ [คำจำกัดความ] ของปถวีธาตุ   |  

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๕๓ ได้แสดงวจนัตถะของปถวีธาตุไว้ดังนี้

ปถวีธาตุเป็นรูปธรรมที่เป็นที่อาศัยของรูปอื่น ๆ เปรียบเหมือนพื้นแผ่นดินเป็นที่อาศัยของสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “สหชาต รูปานิ ปถนฺติ ปติฏฺหนฺติ เอตฺถาติ ปถวี” แปลความว่า รูปที่เกิดร่วมกันทั้งหลาย ย่อมตั้งอยู่ในธรรมชาตินั้น เพราะเหตุนั้น ธรรมชาติอันเป็นที่ตั้งอาศัยของรูปที่เกิดร่วมกันเหล่านั้น จึงชื่อว่า ปถวี หมายความว่า สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏรูปร่างสัณฐาน สีสันวรรณะ ตลอดจนปรากฏเป็นอารมณ์ต่าง ๆ มีรูปารมณ์ เป็นต้นได้นั้น ก็โดยอาศัยปถวีธาตุ ถ้าปราศจากปถวีธาตุเสียแล้ว ย่อมไม่สามารถปรากฏเกิดขึ้นได้เลย

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๕๔ ได้สรุปความหมายของปถวีธาตุไว้ ๓ ประการ คือ

๑. รูปประจักษ์ ดังวจนัตถะแสดงว่า “ปถยตีติ ปถวี” แปลความว่า รูปใดย่อมปรากฏชัด เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า ปถวี คือ รูปที่ประจักษ์ ได้แก่ ปรากฏชัด นั่นเอง

๒. รูปที่มีสภาพใหญ่เกิดขึ้น ดังวจนัตถะแสดงว่า “ปุถุ มหนฺตี หุตฺวา ชายตีติ ปถวี” แปลความว่า รูปใดมีสภาพหนาใหญ่เกิดขึ้น เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า ปถวี

๓. รูปที่พึงยกย่องโดยประการต่าง ๆ ดังวจนัตถะแสดงว่า “นานปฺปกาเรน ถวียตีติ ปถวี” แปลความว่า รูปใดอันบุคคลพึงกล่าวยกย่องโดยประการต่าง ๆ เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า ปถวี

บทสรุปของผู้เขียน :

จากหลักฐานในคัมภีร์ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว จึงสรุปความหมายได้ว่า ปถวีธาตุก็คือธาตุดินนั่นเอง และที่ชื่อว่า ธาตุ นั้น เพราะมีสภาพไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวะ เป็นสภาวธรรมล้วน ๆ [นิสฺสตฺต นิชฺชีว สภาวา] ซึ่งมีสภาพเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และแปรเปลี่ยนไปดับไปเป็นธรรมดา ตามเหตุปัจจัยของปถวีธาตุนั้น ๆ ปถวีธาตุนี้เป็นธาตุที่มีสัณฐานใหญ่โตกว่าธาตุอื่น ๆ และปรากฏชัดเจนกว่าธาตุอื่น ๆ จึงเป็นธาตุที่บุคคลกล่าวยกย่องขึ้นมาว่า นี้เป็นคน นี้เป็นสัตว์ นี้เป็นต้นไม้ นี้เป็นภูเขา นี้เป็นเงิน นี้เป็นทอง เพชร นิล จินดา เป็นต้น ถ้าไม่มีปถวีธาตุเป็นพื้นฐานรองรับเสียแล้ว ธาตุอื่น ๆ ย่อมไม่สามารถปรากฏขึ้นได้ เพราะธาตุดินมีสภาพแข็ง จึงเป็นเครื่องรองรับธาตุอื่น ๆ ได้ และธาตุอื่น ๆ จะปรากฏสภาวะลักษณะขึ้นมาได้นั้น ก็เพราะมีปถวีธาตุเป็นเครื่องรองรับ กล่าวคือ ธาตุน้ำจะปรากฏอาการเอิบอาบซึมซาบได้ ก็ต้องมีธาตุดินเป็นเครื่องรับรอง ธาตุน้ำจึงเอิบอาบซึมซาบไปสู่ธาตุดินได้และทำให้ธาตุดินไหลหรือเกาะกุมกันอยู่ได้ ธาตุไฟจะปรากฏสภาวะลักษณะร้อนหรือเย็นได้ ก็ต้องมีธาตุดินเป็นเครื่องรองรับ และแสดงอาการร้อนหรือเย็นของธาตุดินนั่นเอง ธาตุลมจะกระพือพัดได้ ก็ต้องมีธาตุดินเป็นเครื่องรองรับ ธาตุลมจึงจะกระพือพัดธาตุดินไปได้ และทำให้ธาตุดินเกิดความเคร่งตึงหรือหย่อนเบาได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |