| |
จำแนกรูปกลาป ๒๓ โดยกาย ๓ ส่วน   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๖๓๙ อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ได้แสดงการจำแนกรูปกลาป ๒๓ โดยกาย ๓ ส่วนไว้ ดังต่อไปนี้

[จำแนกกัมมชกลาป ๙ โดยกาย ๓ ส่วน]

ร่างกายของคนและสัตว์ทั้งหลายนั้น แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ

๑. อุปริมกาย ได้แก่ ร่างกายส่วนบน นับตั้งแต่คอขึ้นไปตลอดถึงศีรษะ ย่อมมีกัมมชกลาปเกิดได้อย่างมาก ๗ ประเภท คือ

๑] จักขุทสกกลาป ๒] โสตทสกกลาป ๓] ฆานทสกกลาป

๔] ชิวหาทสกกลาป ๕] กายทสกกลาป ๖] ภาวทสกกลาป

๗] ชีวิตนวกกลาป

๒. มัชฌิมกาย ได้แก่ ร่างกายส่วนกลาง นับตั้งแต่คอลงมาถึงสะดือ ย่อมมีกัมมช กลาปเกิดได้อย่างมาก ๔ ประเภท คือ

๑] กายทสกกลาป ๒] ภาวทสกกลาป

๓] วัตถุทสกกลาป ๔] ชีวิตนวกกลาป

๓. เหฏฐิมกาย ได้แก่ ร่างกายส่วนล่าง นับตั้งแต่สะดือลงมาถึงปลายเท้า ย่อมมีกัมมชกลาปเกิดได้อย่างมาก ๓ ประเภท คือ

๑] กายทสกกลาป ๒] ภาวทสกกลาป ๓] ชีวิตนวกกลาป

จึงเห็นได้ว่า ในส่วนทั้ง ๓ ของร่างกายนั้น ย่อมเป็นฐานที่ตั้งของกายทสกกลาป ภาวทสกกลาป และชีวิตนวกกลาป รวม ๓ กลาปนี้ มีอยู่ทั่วไปในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น กลาปทั้ง ๓ ประเภทนี้ จึงเรียกว่า สัพพัฏฐานิกกลาป แปลว่า รูปกลาปที่เกิดได้ทั่วไปในร่างกาย

ส่วนอีก ๕ กลาป คือ จักขุทสกกลาป โสตทสกกลาป ฆานทสกกลาป ชิวหาทสกกลาป และวัตถุทสกกลาป มีฐานที่ตั้งอยู่เฉพาะที่ ไม่ได้เกิดมีอยู่ทั่วไปในร่างกาย จึงเรียกว่า ปเทสิกกลาป แปลว่า รูปกลาปที่เกิดมีอยู่เฉพาะที่ คือ ไม่ได้เกิดมีในสถานที่ทั่วไปในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง

[จำแนกจิตตชกลาป ๘ โดยกาย ๓ ส่วน]

ในอุปริมกาย มีจิตตชกลาปเกิดได้ทั้ง ๘ ประเภท

ในมัชฌิมกาย และ เหฏฐิมกาย มีจิตตชกลาปเกิดได้เพียง ๔ ประเภท คือ

๑] สุทธัฏฐกกลาป ๒] กายวิญญัตตินวกกลาป

๓] ลหุตาทิเอกาทสกกลาป ๔] กายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป

[จำแนกอุตุชกลาป ๔ โดยกาย ๓ ส่วน]

ในร่างกายทั้ง ๓ ส่วน คือ อุปริมกาย มัชฌิมกาย และเหฏฐิมกายนั้น อุตุชกลาปทั้ง ๔ ประเภทย่อมเกิดได้ หมายความว่า อุตุชกลาปทุกชนิดย่อมมีอยู่ทั่วไปในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายที่มีรูปขันธ์

สำหรับสุทธัฏฐกกลาป และลหุตาทิเอกาทสกกลาป ย่อมเกิดได้เป็นประจำตามปกติอยู่แล้ว

ส่วนสัททนวกกลาป และสัททลหุตาทิทวาทสกกลาป นั้นไม่ได้เกิดเป็นประจำในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย แต่เกิดเป็นบางครั้งบางคราวในขณะที่มีเสียงปรากฏเท่านั้น

[จำแนกอาหารชกลาป ๒ ในกาย ๓ ส่วน]

อาหารชกลาปทั้ง ๒ ย่อมเกิดได้ทั่วไปในร่างกายทุกส่วนของสัตว์มีชีวิตทั้งหลายที่มีขันธ์ ๕ เฉพาะที่ต้องบริโภคอาหารเข้าไปเท่านั้น

เพราะฉะนั้น จึงสรุปความเป็นไปของรูปทั้ง ๔ สมุฏฐานที่เกิดอยู่ในร่างกายได้ดังต่อไปนี้

ในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายที่มีรูปร่างสัณฐานอวัยวะต่าง ๆ ปรากฏขึ้นได้นั้น ย่อมอาศัยกัมมชรูปเป็นพื้นฐานก่อนแล้วรูปอื่น ๆ จึงช่วยสนับสนุนให้รูปร่างสัณฐานและอวัยวะเหล่านั้นปรากฏขึ้นได้ ถ้าไม่มีกัมมชรูปเป็นพื้นฐานรองรับอยู่ก่อนแล้ว ร่างกายของสัตว์เหล่านั้น ย่อมไม่ผิดอะไรกับต้นไม้หรือท่อนไม้ รูปที่เป็นผู้ช่วยสนับสนุนรูปร่างสัณฐานและอวัยวะทั้งหลายให้ปรากฏได้นั้น ได้แก่ อุตุชกลาปรูป ๔ และอาหารชกลาปรูป ๒ นั่นเอง ต่อจากนั้น จิตตชกลาปประเภทต่าง ๆ ย่อมปรากฏเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของจิต ตามกำลังของจิตแต่ละดวงและแต่ละวิถี


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |