| |
พระพุทธวจนะเกี่ยวกับอโลภะ   |  

ปุญญาภิสันทสูตร [๑]

[ห้วงแห่งบุญ]

บุคคลที่จะตกไปสู่ห้วงแห่งบุญ ที่เรียกว่า ปุญญาภิสันทะ ทำให้เพียบพร้อมด้วยความสุขและความเจริญนั้น จะต้องประพฤติปฏิบัติในคุณธรรมดังต่อไปนี้

๑. พุทธสรณคมนะ เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

๒. ธัมมสรณคมนะ เป็นผู้ถึงพระธรรมว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

๓. สังฆสรณคมนะ เป็นผู้ถึงพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

๔. ปาณาติปาตเวรมณี เป็นผู้เว้นขาดแล้วจากการฆ่าสัตว์

๕. อทินนาทานเวรมณี เป็นผู้เว้นขาดแล้วจากการลักทรัพย์

๖. กาเมสุมิจฉาจารเวรมณี เป็นผู้เว้นขาดแล้วจากการประพฤติผิดในกาม

๗. มุสาวาทเวรมณี เป็นผู้เว้นขาดแล้วจากการพูดเท็จ

๘. สุราเมรยมัชชปานเวรมณี เป็นผู้เว้นขาดแล้วจากการดื่มสุราและเมรัย

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอภิสันทสูตร ปฐมปัณณาสก์ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศล ๘ ประการนี้เป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข อันน่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจ ห้วงบุญห้วงกุศล ๘ ประการนั้น คือ

๑. อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลอันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประการที่ ๑

๒. อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ถึงพระธรรมว่าเป็นสรณะ เป็นห้วงบุญห้วงกุศลอันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประการที่ ๒

๓. อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ถึงพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลอันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประการที่ ๓

๔. อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต อริยสาวกผู้เว้นขาดจากปาณาติบาตแล้ว ชื่อว่า ให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้ ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่เหล่าสัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ชื่อว่า เป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนหาประมาณมิได้ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลอันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประการที่ ๔

๕. อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน อริยสาวกผู้เว้นขาดจากอทินนาทานแล้ว ชื่อว่า ให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้ ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่เหล่าสัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ชื่อว่า เป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนหาประมาณมิได้ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลอันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประการที่ ๕

๖. อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร อริยสาวกผู้เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจารแล้ว ชื่อว่า ให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้ ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่เหล่าสัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ชื่อว่า เป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนหาประมาณมิได้ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลอันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประการที่ ๖

๗. อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท อริยสาวกผู้เว้นขาดจากมุสาวาทแล้ว ชื่อว่า ให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้ ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่เหล่าสัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ชื่อว่า เป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนหาประมาณมิได้ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลอันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประการที่ ๗

๘. อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อริยสาวกผู้เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยแล้ว ชื่อว่า ให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์หาประมาณมิได้ ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่เหล่าสัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ชื่อว่า เป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนหาประมาณมิได้ นี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศลอันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประการที่ ๘

ปุญญาภิสันทสูตร [๒]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศล ๔ ประการนี้ นำความสุขมาให้ ย่อมให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ห้วงบุญห้วงกุศล ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่สมควรฝึกชั้นเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้มีโชค ห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๑ นี้ ย่อมนำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว อันผู้บรรลุพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน ห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๒ นี้ ย่อมนำความสุขมาให้ ย่อมให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดี เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ นี้คือ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๓ นี้ ย่อมนำความสุขมาให้ ย่อมให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยศีลอันพระอริยะใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฏฐิไม่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อสมาธิ ห้วงบุญห้วงกุศลประการที่ ๔ นี้ ย่อมนำสุขมาให้ ย่อมให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดใน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศล ๔ ประการนี้แล นำความสุขมาให้ ย่อมให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ฯ

ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในพระตถาคต มีศีลดีงาม อันพระอริยะเจ้าใคร่แล้ว สรรเสริญแล้ว มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน ชีวิตของเขาย่อมไม่สูญเปล่า เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ควรประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และความเห็นธรรมไว้เนือง ๆ เถิด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |