| |
จำแนกเวทนาโดยอินทริยเภทนัย   |  

การเสวยอารมณ์ของเวทนานี้ ย่อมเกี่ยวเนื่องด้วยกายบ้าง ด้วยใจบ้าง เรียกว่า อินทรีย์ คือความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองเฉพาะหน้าที่ของตน ๆ ในการเสวยรสชาติแห่งอารมณ์ทางทวารนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้ จึงมีเวทนา ๕ ประการ คือ ทางกาย มี ๒ ประการ ได้แก่ ทุกขเวทนา สุขเวทนา และทางใจ มี ๓ ประการ ได้แก่ โสมนัสสเวทนา โทมนัสสเวทนา อุเบกขาเวทนา โดยเวทนาแต่ละอย่างย่อมเป็นใหญ่ในหน้าที่การเสวยรสชาติของอารมณ์ เฉพาะของตน ๆ โดยทำหน้าที่แทนกันไม่ได้ คือ

๑. สุขเวทนา เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขทางกาย เรียกว่า สุขินทรีย์ ได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ประกอบกับสุขสหคตกายวิญญาณจิต ๑ ในขณะที่เสวยรสชาติแห่งความสุขทางกาย เช่น การได้นุ่งห่มเสื้อผ้าอาภรณ์ที่อ่อนนุ่ม การได้สัมผัสลมที่เย็นสบาย การได้อาบน้ำเย็นในยามร้อน ได้ผิงไฟในยามหนาว ได้รับการนวดเฟ้นในยามปวดเมื่อย เป็นต้น

๒. ทุกขเวทนา เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการเสวยอารมณ์ที่เป็นทุกข์ทางกาย เรียกว่า ทุกขินทรีย์ ได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ประกอบกับทุกขสหคตกายวิญญาณจิต ๑ ในขณะที่เสวยรสชาติแห่งความทุกข์ทางกาย เช่น การใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่หยาบกระด้าง สกปรก ตัวเหนียวเหนอะหนะ ถูกแดดแผดเผา ถูกลมหอบไอร้อนมากระทบกาย หรือถูกเหลือบ ยุง ริ้น แมลงสัตว์กัดต่อย ถูกตี ถูกต่อย ถูกยิง เป็นต้น

๓. โสมนัสสเวทนา เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขทางใจ เรียกว่า โสมนัสสินทรีย์ ได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ประกอบกับโสมนัสสสหคตจิต ๖๒ ในขณะที่เสวยรสชาติแห่งความสุขทางใจ เช่น การคิดนึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่ายินดี น่าปรารถนา น่าชอบใจ ที่ตนเองได้รับรู้มาแล้ว เกิดความชื่นชมยินดี เกิดความสดชื่น สบายใจ การได้ประสบกับวัตถุสิ่งของหรือบุคคลผู้เป็นที่รัก แล้วเกิดจิตใจเฟื่องฟูเบิกบาน เป็นต้น

๔. โทมนัสสเวทนา เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการเสวยอารมณ์ที่เป็นทุกข์ทางใจ เรียกว่า โทมนัสสินทรีย์ ได้แก่ เวทนาเจตสิก ที่ประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ในขณะที่เสวยรสชาติแห่งความทุกข์ทางใจ เช่น การคิดนึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ ที่ได้รับรู้มาแล้ว เกิดความทุกข์ใจ เกิดความเสียใจ ไม่สบายใจ การได้ประสบกับวัตถุสิ่งของหรือบุคคลผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจแล้วเกิดความขุ่นข้องหมองใจ เกิดความโกรธ เกิดความห่อเหี่ยวจิตใจ หรือเกิดความกลัว ความอาย เป็นต้น

๕. อุเบกขาเวทนา เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการเสวยอารมณ์ที่เป็นปานกลาง ทางตา หู จมูก ลิ้น และใจ เรียกว่า อุเปกขินทรีย์ หมายความว่า การกระทบสัมผัส ทางตา หู จมูก ลิ้น คือ เห็นรูปทางตา ได้ยินเสียงทางหู ได้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น นั้น ถึงแม้อารมณ์จะเป็นอติอิฏฐารมณ์ อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ก็ตาม แต่การกระทบสัมผัสนั้น เป็นการกระทบกันระหว่างปสาทรูปกับวิสยรูป ซึ่งเป็นอุปาทายรูปกับอุปาทายรูปกระทบกัน หมายความว่า ประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ก็เป็นอุปาทายรูป และรูป เสียง กลิ่น รส ที่เรียกว่า วิสยรูปนั้น ก็เป็นอุปาทายรูป ซึ่งล้วนแต่เป็นรูปที่มีความเบา เพราะฉะนั้น จึงทำให้การกระทบสัมผัสนั้นไม่มีอาการรุนแรง เป็นการกระทบกันแบบเบา ๆ เปรียบเหมือนสำลีลอยมากระทบกับสำลี ถึงแม้สำลีฝ่ายหนึ่งจะสกปรกเปรอะเปื้อนลอยมากระทบกับสำลีที่ขาวสะอาดก็ตาม การกระทบนั้นย่อมเป็นเพียงการกระทบเบา ๆ ทางด้านประสาทสัมผัสทั้ง ๔ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กับ รูป เสียง กลิ่น รส ก็เช่นกัน ย่อมเป็นแต่เพียงคลื่นของอารมณ์มากระทบกับประสาทรูปที่มีลักษณะบางใสเท่านั้น จึงทำให้การกระทบมีความเบา ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดความรู้สึกได้เพียงอุเบกขาเวทนาเท่านั้น ส่วนความรู้สึกทางใจ ในขณะที่ประสบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนาระดับปานกลาง เช่น การคิดนึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ได้รับรู้มาแล้ว โดยเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าประทับใจมากนัก เป็นไปอย่างธรรมดา หรือ ได้ประสบกับวัตถุสิ่งของหรือบุคคลที่ไม่ได้รักไม่ได้ชัง เป็นต้น ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกเฉย ๆ โดยไม่มีปฏิกิริยายินดียินร้ายกับอารมณ์เหล่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |