| |
มรรคจิต ๔   |  

มรรคจิต ๔ เป็นการนับตามอำนาจแห่งมรรคที่พระโยคีบุคคลนั้นเจริญวิปัสสนาอย่างเดียวจนได้บรรลุมรรคนั้นแบบธรรมดาไม่มีฌานเกิดร่วมด้วย เรียกว่า สุกขวิปัสสก แปลว่า ผู้เห็นแจ้งแบบแห้งแล้ง ฉะนั้น มรรคจิตแต่ละชั้นนั้น จึงมีเพียงดวงเดียวตามลำดับแห่งมรรค คือ โสดาปัตติมรรคจิต ๑ สกิทาคามิมรรคจิต ๑ อนาคามิมรรคจิต ๑ อรหัตตมรรคจิต ๑ รวมเป็นมรรคจิต ๔ ดวง ดังนี้

มรรคจิต ดวงที่ ๑

โสตาปัตติมัคคจิตตัง จิตที่เข้าถึงกระแสแห่งพระนิพพานเป็นครั้งแรก

โสดาปัตติมรรคจิตนี้เกิดขึ้นในขณะที่โสดาปัตติมรรคญาณของติเหตุกบุคคลที่ได้มรรคเป็นครั้งแรกในสังสารวัฏฏ์นี้ เป็นจิตที่เกิดขึ้นในมัคควิถี ซึ่งเกิดขึ้นเพียง ๑ ขณะเท่านั้นแล้วก็ดับลง ทำให้บุคคลนั้น เปลี่ยนจากสภาพความเป็นปุถุชนไปเป็นพระอริยบุคคล นอกจากนี้แล้ว โสดาปัตติมรรคจิตนี้ยังทำการประหาณอนุสัยกิเลส ๒ อย่าง ได้แก่ ทิฏฐานุสัย ความเห็นผิด และวิจิกิจฉานุสัย ความลังเลสงสัยให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดาน เรียกว่า สมุจเฉทปหาน และทำอนุสัยกิเลสที่เหลืออีก ๕ อย่าง [คือ กามราคานุสัย ภวราคานุสัย ปฏิฆานุสัย มานานุสัย และอวิชชานุสัย] ที่เป็นชนิดอปายคามินิยะ คือ มีสภาพหยาบสามารถนำไปสู่อบายภูมิได้นั้นให้เบาบางลง เรียกว่า ตนุกรปหาน จนไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาอย่างหยาบออกมาอันจะเป็นเหตุนำไปสู่อบายภูมิได้อีกต่อไป ฉะนั้น โสดาปัตติมรรคจิตนี้ แม้จะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวก็ตาม แต่ก็สามารถทำกิจอันยิ่งใหญ่ให้สำเร็จได้ เปรียบเหมือนสายฟ้าแลบในเวลากลางคืนอันมืดมิด แม้จะแลบเพียงครั้งเดียว ก็ทำให้บุคคลที่กำลังเดินไปในท่ามกลางความมืดนั้นสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบข้างได้และสามารถที่จะมองเห็นแนวทางที่จะคลำเดินต่อไปข้างหน้าได้ ข้อนี้ฉันใด โสดาปัตติมรรคจิตนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวก็ตาม ก็ทำให้บุคคลนั้นได้รู้เห็นสัจธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงโดยไม่ต้องเชื่อตามบุคคลอื่นอีกต่อไป บุคคลผู้เป็นพระโสดาบันนั้นสามารถเป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ในหนทางแห่งพระนิพพานจนถึงจุดหมายสูงสุด คือ ความเป็นพระอรหันต์และเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ด้วยเหตุนี้ โสดาปัตติมรรคจิต จึงชื่อว่า วิชชูปมาธรรม แปลว่า ธรรมที่เปรียบประดุจดังสายฟ้าแลบ อนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสว่า “โสดาปัตติมรรคนี้ ประเสริฐกว่าการได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิหรือกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน” เพราะผู้ที่ได้บรรลุโสดาปัตติมรรคแล้ว จะไม่ต้องเวียนว่ายไปเกิดในอบายภูมิอีกต่อไป เป็นผู้ปิดประตูอบายภูมิได้อย่างเด็ดขาดแล้ว ซึ่งจะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์และเข้าสู่ปรินิพพานไป ส่วนผู้ที่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิหรือกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินนั้น เป็นใหญ่ได้เฉพาะในชาตินั้นเท่านั้น แต่ชาติต่อไปอาจจะไปเกิดในอบายภูมิก็เป็นได้ ทั้งยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์อีกยาวนานยังกำหนดที่สิ้นสุดไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ความเป็นพระโสดาบันนั้นจึงมีความยิ่งใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว

มรรคจิต ดวงที่ ๒

สกิทาคามิมัคคจิตตัง จิตที่เข้าถึงสภาพของพระนิพพานเป็นครั้งที่ ๒ ทำบุคคลให้เข้าถึงความเป็นผู้ที่จะเวียนมาสู่กามสุคติภูมิอีกเพียงครั้งเดียว

สกิทาคามิมรรคจิตนี้ เกิดขึ้นในขณะที่พระโสดาบันเจริญวิปัสสนาโดยยกรูปนามขึ้นสู่ไตรลักษณ์ หยั่งลงสู่อุทยัพพยญาณ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปของรูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์เป็นเบื้องต้น จนวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นตามลำดับ คือ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ โคตรภูญาณหรือโวทานญาณ ต่อจากนั้น สกิทาคามิมรรคญาณก็เกิดขึ้น ๑ ขณะ พร้อมกับการทำลายอำนาจของอนุสัยกิเลสที่เหลือจากโสดาปัตติมรรคญาณได้ประหาณไปแล้วนั้นให้เบาบางลงไปอีก แต่ไม่มีการประหาณโดยสมุจเฉท เพียงแต่ประหาณโดยการทำให้เบาบางลงไปอีก เรียกว่า ตนุกรปหาน เท่านั้น และอำนาจแห่งสกิทาคามิมรรคจิตนี้ ย่อมขัดเกลาสภาพของกามธรรมให้เบาบางเหลือน้อยลง จนทำให้บุคคลนั้นจะกลับมาเกิดในกามสุคติภูมิได้อีกเพียงชาติเดียวเท่านั้น ก็จะได้บรรลุพระอนาคามีไปสู่พรหมโลก หรือได้บรรลุเป็นพระอนาคามีและพระอรหันต์แล้วเข้าสู่ปรินิพพานในกามโลกนั้นเลย จึงได้ชื่อว่า สกิทาคามิมรรค

มรรคจิต ดวงที่ ๓

อนาคามิมัคคจิตตัง จิตที่เข้าถึงสภาพของพระนิพพานเป็นครั้งที่ ๓ ทำบุคคลให้เข้าถึงความเป็นผู้ที่ไม่ต้องเวียนกลับมาสู่กามโลกอีกแล้ว

อนาคามิมรรคจิตนี้ เกิดขึ้นในขณะที่พระสกิทาคามีบุคคลเจริญวิปัสสนาโดยยกรูปนามขึ้นสู่ไตรลักษณ์ หยั่งลงสู่อุทยัพพยญาณเป็นต้นไปตามลำดับ [ดังกล่าวแล้วในสกิทาคามิมรรคจิต] จนถึงอนาคามิมรรคญาณเกิดขึ้น ๑ ขณะ พร้อมกับการประหาณอนุสัยกิเลสอีก ๒ อย่าง คือ กามราคานุสัย ความกำหนัดในกาม และปฏิฆานุสัย ความประทุษร้าย ให้หมดไปจากขันธสันดานโดยสิ้นเชิง เรียกว่า สมุจเฉทปหาน เมื่อหมดกามราคานุสัยแล้ว จึงทำให้บุคคลนั้น หมดความเยื่อใยในเรื่องของกามหรือเรื่องครอบครัว เป็นผู้มีวิถีชีวิตอยู่ด้วยความเป็นอิสระจากกาม มีชีวิตที่เบาสบาย ไม่หมกมุ่นในเรื่องของกาม และเมื่อหมดปฏิฆานุสัยแล้ว ก็ทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความกระทบกระทั่งขัดเคืองกับบุคคลอื่น ไม่มีความขัดเคืองในใจตนเองและไม่มีความขัดเคืองต่ออารมณ์ใด ๆ ทำให้เป็นผู้สงบเยือกเย็นไม่ต้องก่อเวรก่อภัยใด ๆ และเป็นผู้ไม่หมกมุ่นอยู่ในเรื่องของสังคม มีอิสระอยู่ผู้เดียว ด้วยเหตุนี้ เมื่อบุคคลนั้นตายแล้ว ถึงแม้จะไม่ได้รูปาวจรปัญจมฌานก็ตาม แต่ก็จะได้ไปเกิดในสุทธาวาสภูมิ ๕ ภูมิใดภูมิหนึ่งแน่นอน เนื่องจากคุณธรรมของความเป็นพระอนาคามีในเรื่องการประหาณกามราคานุสัยและปฏิฆานุสัยนั้นเทียมเท่ากับรูปาวจรปัญจมฌาน เพราะผู้ที่ได้ฌานย่อมข่มกามราคะและปฏิฆะหรือโทสะได้โดยวิกขัมภนปหาน ต่างกันแต่ว่า อนาคามิมรรคนั้น เป็นการละโดยสมุจเฉทปหาน ไม่มีเกิดขึ้นในสันดานอีกแล้ว ส่วนปุถุชนที่ได้ฌานนั้น อนุสัยกิเลส ๒ ตัวนี้ ยังสามารถกำเริบเกิดขึ้นมาได้อีกและยังไม่พ้นจากกามโลกโดยเด็ดขาดเหมือนพระอนาคามี ด้วยเหตุนี้ มรรคจิตนี้ จึงชื่อว่า อนาคามิมรรค

มรรคจิต ดวงที่ ๔

อรหัตตมัคคจิตตัง จิตที่เข้าถึงความเป็นสภาพที่หักกำแห่งสังสารวัฏฏ์ได้หมดสิ้นและเข้าถึงความเป็นสภาพบุคคลที่ควรบูชาอย่างยิ่ง

อรหัตตมรรคจิตนี้เป็นจิตที่เข้าถึงสภาพของพระนิพพาน เป็นครั้งที่ ๔ ทำให้บุคคลนั้นเข้าถึงความเป็นผู้มีอาสวะหมดสิ้นไปจากขันธสันดานแล้ว เรียกว่า พระขีณาสพ เป็นผู้ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิใด ๆ อีกต่อไปแล้ว เรียกว่า วิวัฏฏคามินีบุคคล หรือเป็นผู้พ้นขาดแล้วจากจุติและปฏิสนธิ เรียกว่า อปจยคามีบุคคล เป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เรียกว่า วุสิตพรัหมจริยบุคคล เป็นบุคคลผู้ควรเพื่อการบูชาอย่างสูงสุด เรียกว่า พระอรหันต์ หมายความว่า อรหัตตมรรคจิตนี้ เกิดขึ้นในขณะที่พระอนาคามีบุคคลเจริญวิปัสสนาโดยยกรูปนามขึ้นสู่ไตรลักษณ์ แล้วหยั่งลงสู่อุทยัพพยญาณเป็นเบื้องต้นและเลื่อนขึ้นไปตามลำดับ จนถึงอรหัตตมรรคญาณเกิดขึ้น พร้อมกับการประหาณอนุสัยกิเลสที่เหลืออีก ๓ อย่าง คือ ภวราคานุสัย ความยินดีในภพ มานานุสัย ความถือตัวถือตน และอวิชชานุสัย ความไม่รู้ให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดาน เป็นอันหมดสิ้นจากอนุสัยกิเลสทั้งปวง กิเลสอื่น ๆ ก็พลอยหมดสิ้นไปด้วย เพราะอนุสัยกิเลสเป็นต้นตอหรือรากเหง้าของกิเลสทั้งปวง เมื่อต้นตอถูกถอนทิ้งเสียแล้ว ลำต้นและกิ่งก้านสาขาใบดอกผล ก็เป็นอันถูกทำลายไปพร้อมกันด้วย ทำให้บุคคลนั้นไม่ต้องเกิดในภพใหม่อีกต่อไป สังสารวัฏฏ์จึงเป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อตายไปแล้ว ก็เข้าสู่อนุปาทิเสส นิพพาน คือ นิพพานที่ไม่มีวิบากและกัมมชรูปเหลืออยู่หรือติดตามไปอีก ได้แก่ การดับสิ้นของรูปนามขันธ์ ๕ อย่างแท้จริงนั่นเอง เพราะไม่มีการเกิดใหม่อีกแล้ว แต่ถ้าเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี และพระอนาคามีนั้นยังต้องเกิดในภพใหม่อีก ก็ต้องมีวิบากนามขันธ์และกัมมชรูปเกิดติดตามมาอีก เรียกว่า สอุปาทิเสส นิพพาน จนกว่าจะบรรลุเป็นพระอรหันต์และปรินิพพานไปแล้ว จึงเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน ฉะนั้น มรรคจิตนี้ จึงได้ชื่อว่า อรหัตตมรรค


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |