| |
สรุปความเรื่องฉันทเจตสิก   |  

ฉันทเจตสิก อยู่ในกลุ่ม อัญญสมานราสี คือ หมวดแห่งอัญญสมานเจตสิก ๑๓ เป็น ปกิณณกเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ทั่วไปทุกประเภท แต่ประกอบไม่ได้ทั้งหมด ประกอบได้เป็นบางดวง ตามสมควรที่จะประกอบได้

ฉันทเจตสิก เป็น นิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้โดยแน่นอน หมายความว่า เมื่อระบุว่า ประกอบกับจิตดวงใดได้แล้ว เมื่อจิตดวงนั้นเกิดขึ้น ย่อมมีฉันทเจตสิกประกอบร่วมด้วยเสมอ และเมื่อระบุไว้ว่า ไม่ประกอบกับจิตดวงใด เมื่อจิตดวงนั้นเกิดขึ้น ย่อมไม่มีฉันทเจตสิกประกอบร่วมด้วยโดยประการทั้งปวง

ฉันทเจตสิกประกอบกับจิตได้ ๑๐๑ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ และโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง

ส่วนจิตที่ฉันทเจตสิกไม่ประกอบร่วมด้วยนั้น มี ๒๐ ดวง ได้แก่ โมหมูลจิต ๒ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง จิตทั้ง ๒๐ ดวงนี้จึงได้ชื่อว่า อฉันทจิต แปลว่า จิตที่ไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย

เหตุที่ฉันทเจตสิกไม่ประกอบกับโมหมูลจิต ๒ ดวงนั้น เพราะสภาวะของโมหะมีความหลงไม่รู้สึกตัว จึงไม่สามารถกำหนดความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจได้

เหตุที่ฉันทเจตสิกไม่ประกอบกับอเหตุกจิต ๑๘ ดวงนั้น เพราะอเหตุกจิตเป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัยของตนซึ่งประชุมพร้อมกัน อย่างสมดุลแล้ว เมื่อเหตุปัจจัยครบ ๔ ประการนี้แล้ว อเหตุกจิตแต่ละดวงย่อมเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่ง อเหตุกจิตแต่ละดวงย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่จำเป็นต้องมีความพอใจหรือไม่พอใจต่ออารมณ์แต่ประการใด เพราะถึงแม้จะมีความพอใจสักเพียงใดก็ตาม ถ้าเหตุปัจจัยไม่ครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ ประการ อเหตุกจิตแต่ละดวงย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ หรือในทางตรงกันข้าม แม้ไม่มีความพอใจ แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยครบบริบูรณ์แล้ว อเหตุกจิตย่อมเกิดขึ้นได้อยู่นั่นเอง

ฉันทเจตสิกย่อมเกิดร่วมกับเจตสิกทั้งหมด ๕๐ ดวง [เว้นฉันทะและวิจิกิจฉา] คือ

เมื่อประกอบกับอกุศลจิต ๑๐ ดวง [เว้นโมหมูลจิต ๒] ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นฉันทะ] และอกุศลเจตสิก ๑๓ [เว้นวิจิกิจฉา] ตามที่จิตแต่ละดวงจะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยได้

เมื่อประกอบกับโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นฉันทะ] และโสภณเจตสิก ๒๕ ตามที่จิตแต่ละดวงจะมีเจตสิกอะไรประกอบร่วมด้วยได้

เมื่อจิตแต่ละดวงเกิดขึ้นพร้อมด้วยเจตสิกที่ประกอบกับจิตดวงนั้น ๆ ฉันทเจตสิกย่อมเกิดพร้อมด้วยกับเจตสิกเหล่านั้นด้วย

เหตุที่ฉันทเจตสิกไม่ประกอบกับวิจิกิจฉาเจตสิกนั้น เพราะวิจิกิจฉาเจตสิกย่อมประกอบกับโมหมูลจิตดวงที่ ๑ เพียงดวงเดียวเท่านั้น และฉันทเจตสิกก็ไม่ได้ประกอบโมหมูลจิตเลย ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น ฉันทเจตสิกจึงไม่มีโอกาศเกิดร่วมกับวิจิกิจฉาเจตสิก


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |