| |
อานิสงส์ของอัตตสัมมาปณิธิ ๑๓ ประการ   |  

อนึ่ง ผู้ที่ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ที่เรียกว่า อัตตสัมมาปณิธิ นั้นย่อมได้รับอานิสงส์มากมายมหาศาล เมื่อสรุปแล้ว มี ๑๓ ประการ คือ

๑. มหากุสะลิกะตา ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยมหากุศล หมายความว่า ผู้ที่ ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิอย่างหนักแน่นไว้ในใจ ย่อมเป็นผู้มีเป้าหมายหรือมีอุดมการณ์ที่ดีงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขทั้งแก่ตนเองและบุคคลอื่นโดยส่วนเดียว ด้วยเหตุนี้ บุคคลนั้น ย่อมมุ่งมั่นในการทำมหากุศลให้เกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ ในบรรดาแนวทางแห่งมหากุศล ๒๐ ประการ ที่เรียกว่า มหากุสลวัตถุ ๒๐ กล่าวคือ กุศลกรรมบถ ๑๐ และบุญกิริยาวัตถุ ๑๐

๒. อัปปะมาทะตา ได้ชื่อว่า เป็นผู้ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท หมายความว่า บุคคลผู้ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นผู้มีอุดมการณ์อันดีงามนั้น ย่อมเป็นผู้ไม่นอนใจนิ่งเฉยอยู่อย่างไร้ประโยชน์ ย่อมเป็นผู้เห็นคุณค่าของกาลเวลา เห็นคุณค่าของโอกาสที่มาถึงแล้วอยู่ทุกเมื่อ ด้วยเหตุนี้ บุคคลนั้นย่อมสามารถกำจัดอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป ป้องกันอกุศลใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น พากเพียรพยายามเพื่อสร้างกุศลความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นและพยายามประคับ ประคองรักษากุศลความดีงามที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่และเจริญยิ่งไปโดยลำดับ

๓. สาระธัมมิกะตา ได้ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญสารธรรม หมายความว่า บุคคลผู้ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบประกอบด้วยสัมมาทิฏฐินั้น ย่อมเป็นบุคคลผู้มีสาระแก่นสารในชีวิต ย่อมยึดเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระและสลัดทิ้งสิ่งที่ไม่เป็นสาระทั้งปวงออกไปเสีย พร้อมทั้งขวนขวายแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระแก่นสารให้กับตนเองอยู่เสมอ ย่อมดำเนินไปสู่หนทางแห่งประโยชน์ทั้ง ๓ ประการคือ ประโยชน์ในโลกนี้ เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ในโลกหน้า เรียกว่า สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่ง เรียกว่า ปรมัตถะ เขาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยประโยชน์ทั้ง ๓ นั้นได้ในที่สุด

๔. อัตตะสาริกะตา ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีแก่นของตน หมายความว่า บุคคลผู้ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบประกอบด้วยสัมมาทิฏฐินั้น ไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่ใดก็ตาม หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมสภาพสังคมเช่นใดก็ตาม ย่อมเป็นผู้ขวนขวายทำตนให้เป็นสาระแก่นสารอยู่เสมอโดยไม่ยอมละทิ้งอุดมการณ์อันสูงสุดของตนเองนั้นเลย

๕. สิกขาต๎ตะยิกะตา ได้ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญไตรสิกขา หมายความว่า บุคคลผู้ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบประกอบด้วยสัมมาทิฏฐินั้น ย่อมไม่ประมาทมัวเมาหรือหลงใหลไปตามกระแสกิเลสและกระแสสังคม ย่อมมีจุดยืนหรืออุดมการณ์เป็นของตนเอง แล้วมุ่งมั่นในการสั่งสมคุณงามความดีให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น ย่อมเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณคือไตรสิกขา ได้แก่ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขาและอธิปัญญาสิกขา

๖. สัทธัมมะรักขิกะตา ได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาไว้ซึ่งพระสัทธรรม หมายความว่า บุคคลผู้ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบประกอบด้วยสัมมาทิฏฐินั้น ย่อมเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในหนทางที่เป็นแก่นสาร คือ ปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระสัทธรรมอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้รักษาพระสัทธรรมไว้ได้อย่างมั่นคง โดยไม่ทำให้เลอะเลือนหายไปแต่ประการใด

๗. ปุเรมะระณะสังวิหิตา ได้ชื่อว่า เป็นผู้เตรียมตัวก่อนตาย หมายความว่า บุคคลผู้ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบประกอบด้วยสัมมาทิฏฐินั้น ย่อมเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ เป็นผู้ไม่นอนใจในชีวิต ย่อมขวนขวายในการบำเพ็ญประโยชน์ต่าง ๆ ให้เสร็จสมบูรณ์ ด้วยการมนสิการว่า “ความตายจักมีแก่เราได้ในกาลทุกเมื่อ ฉะนั้น จึงควรทำกิจทุกอย่างให้เสร็จสิ้นไปด้วยความไม่ประมาท” ดังนี้ชื่อว่า เป็นผู้เตรียมตัวก่อนตายไปในตัวด้วยเป็นอย่างดี

๘. สัพพัตถโสตถิกะตา ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีความสวัสดีในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ หมายความว่า บุคคลผู้ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบประกอบด้วยสัมมาทิฏฐินั้น ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ ย่อมสำเหนียกศึกษาและใคร่ครวญพิจารณาให้รู้เท่าทันภัยอันตรายทุกอย่าง ย่อมสามารถป้องกันภัยอันตรายได้ทันเหตุการณ์ อนึ่ง บุคคลผู้ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบประกอบด้วยสัมมาทิฏฐินั้น ย่อมเป็นที่รักของเหล่าทวยเทพและมนุษย์ผู้เป็นบัณฑิตทั้งหลาย เข้าไปสู่สถานที่ใดย่อมได้รับการต้อนรับและการคุ้มครองภัยเป็นอย่างดีในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ

๙. อุตตะมะสัมปัตติปูริกะตา ได้ชื่อว่า เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติอันอุดม หมายความว่า บุคคลผู้ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบประกอบด้วยสัมมาทิฏฐินั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาท มุ่งมั่นขวนขวายในหนทางที่เป็นประโยชน์อยู่เสมอ ย่อมไม่แคล้วคลาดจากสมบัติทั้ง ๓ อย่าง กล่าวคือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ตลอดถึงนิพพานสมบัติ อันเป็นจุดหมายสูงสุดต่อไป

๑๐. ระตะนัตต๎ยาภิปูชะนิกะตา ได้ชื่อว่า เป็นผู้บูชาพระรัตนตรัยอย่างสูงสุด หมายความว่า บุคคลผู้ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบประกอบด้วยสัมมาทิฏฐินั้น ย่อมตั้งมั่นอยู่ในหนทางที่ถูกต้อง เลือกถือเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระแก่นสาร ย่อมบูชาบุคคลหรือวัตถุสิ่งของที่ควรบูชา เมื่อได้พบพระรัตนตรัยแล้ว ย่อมมีความยินดีอย่างล้นพ้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้ได้แก้วมณีชื่อว่าโชติรส ย่อมยึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างสูงสุดและทำการบูชาพระรัตนตรัยด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

๑๑. ธัมมิกะวาสิกะตา ได้ชื่อว่า เป็นพลเมืองดีและเป็นกำลังของประเทศชาติ หมายความว่า บุคคลผู้ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบประกอบด้วยสัมมาทิฏฐินั้น ย่อมตั้งตนอยู่ในกรอบแห่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของสังคมและประพฤติตนอยู่ในกรอบแห่งกฎหมายบ้านเมือง จึงสามารถเป็นบุคคลที่เป็นพลเมืองที่ดีและเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เจริญมั่นคงสถาพรได้

๑๒. ปัจฉิมาชะนะตุปมิกะตา ได้ชื่อว่า เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนคนรุ่นหลังได้ หมายความว่า บุคคลผู้ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบประกอบด้วยสัมมาทิฏฐินั้น ย่อมเป็นแบบอย่างความประพฤติปฏิบัติและอุดมการณ์ในการดำเนินชีวิตที่ดีงามแก่อนุชนคนรุ่นหลังได้ เพราะเป็นผู้ตั้งตนอยู่ในหนทางแห่งความดีงามทั้งหลาย กล่าวคือ เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นหลานเหลนที่ดีของปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอา เป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ เป็นมิตรที่ดีของเพื่อน เป็นสามีภรรยาที่ดีของคู่ครอง เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ เป็นศาสนทายาทที่ดีของพระศาสนา เป็นต้น

๑๓. อะปายะภะยะตาณิกะตา ได้ชื่อว่า เป็นผู้ป้องกันภัยในอบายได้ หมาย ความว่า บุคคลผู้ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบประกอบด้วยสัมมาทิฏฐินั้น ย่อมเป็นผู้มีอุดมการณ์อันสูงสุด มุ่งมั่นอยู่ในหนทางแห่งความดีงามเสมอ โดยไม่หลงมัวเมาไปตามกระแสโลกกระแสสังคม ย่อมบำเพ็ญสิ่งที่เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ของบุคคลอื่นให้เต็มบริบูรณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว อกุศลบาปธรรมต่าง ๆ ย่อมไม่แปดเปื้อนจิตใจของบุคคลนั้น เขาย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ป้องกันภัยในอบายภูมิได้อย่างมั่นคง และดำเนินไปสู่สุคติโลกสวรรค์และพระนิพพานอย่างเดียว

จบอารัมภบท


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |