| |
สมาธิ ๓ ระดับ   |  

สมาธิ หมายถึง ความสงบระงับจากการรับอารมณ์หลากหลาย แล้วให้จิตและเจตสิกตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งมีสภาพที่ตั้งมั่นและประณีตขึ้นตามลำดับ เป็น ๓ ระดับ คือ

๑. ขณิกสมาธิ ความสงบที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว หรือมีความสงบระงับเป็นขณะ ๆ อาจเป็นวินาที เป็นนาที หรือเป็นชั่วโมง เป็นต้น แต่เป็นความสงบแบบธรรมดาทั่วไป ในขณะที่เอกัคคตาเจตสิกยังมีกำลังประคับประคองสัมปยุตตธรรมไว้ได้อยู่ แต่จิตไม่ได้เข้าไปสงบแนบแน่นอยู่ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ยังมีการผลัดเปลี่ยนเวียนรับอารมณ์อื่นอยู่บ้าง [หมายเอาในฝ่ายกุศล] เมื่อสรุปแล้ว ขณิกสมาธินี้ เกิดได้ทั้งในจิตที่เป็นกุศลและที่เป็นอกุศล ซึ่งเป็นความสงบชั่วขณะของจิตดวงหนึ่ง ๆ เพราะเอกัคคตาเจตสิกนี้ เกิดได้กับจิตทุกดวง เรียกว่า สมาธิชั่วขณะ

๒. อุปจารสมาธิ ความสงบที่ประณีตยิ่งขึ้น จนสภาพจิตมีกำลังในการสงบระงับละเอียดลึกเข้าไปเฉียดใกล้จะถึงฌาน แต่จิตยังไม่แนบแน่นมั่นคงอยู่ในอารมณ์นั้น ยังมีการตกไปจากนิมิตแห่งอารมณ์ ไปรับอารมณ์อื่นได้บ้าง และยังไม่สามารถข่มกิเลสนิวรณ์ให้สงบลงได้ ยังถูกนิวรณ์รบกวนได้อยู่บ้าง เรียกว่า สมาธิเฉียดฌาน

๓. อัปปนาสมาธิ ความสงบที่ประณีตสูงสุด จิตเข้าถึงความแนบแน่นอยู่ในนิมิตแห่งอารมณ์นั้นอย่างมั่นคง ไม่หลุดไปรับอารมณ์อื่น สามารถตั้งมั่นคงอยู่ได้เป็นเวลานาน และองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ที่มีกำลังแก่กล้าก็ปรากฏขึ้น พร้อมทั้งสามารถข่มกิเลสนิวรณ์ให้สงบราบคาบลงได้ ที่เรียกว่า วิกขัมภนปหาน พร้อมกับฌานจิตปรากฏเกิดขึ้น เรียกว่า สมาธิในฌาน

สมาธิทั้ง ๓ ประการนี้ ขณิกสมาธิ เป็นได้ทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล ส่วนอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ นั้น มีได้เฉพาะในฝ่ายกุศลเท่านั้น

การที่ในฝ่ายอกุศลมีได้เฉพาะขณิกสมาธินั้น เพราะในอกุศลจิตทุกดวง มีอุทธัจจเจตสิกเกิดร่วมอยู่ด้วย และสภาพของอุทธัจจเจตสิกนี้ ย่อมมีสภาพที่ตรงกันข้ามกับสมาธิ คือ มีความซัดส่ายไปในอารมณ์อื่นอยู่เสมอ รับอารมณ์ไม่มั่น ส่วนเอกัคคตาเจตสิกนั้น มีความสงบและทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว แต่เอกัคคตาก็สามารถเกิดร่วมกับอุทธัจจเจตสิกได้เสมอ โดยทำหน้าที่เพียงสงบชั่วขณะของจิตดวงหนึ่ง ๆ เท่านั้น และสภาพของเอกัคคตาเจตสิกที่ประกอบกับอกุศลจิตนั้นมีกำลังน้อย ย่อมเป็นไปตามอำนาจของอกุศลเจตสิก และสงบไปตามกำลังของอุทธัจจเจตสิก หมายความว่า ถ้าอุทธจัจจเจตสิก มีกำลังอ่อน เอกัคคตาเจตสิกก็มีกำลังในการทำให้สัมปยุตตธรรมสงบและตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นเวลานาน แต่ถ้าอุทธัจจเจตสิก มีกำลังแรงกล้ากว่า ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรมสงบแม้เพียงเสี้ยวเล็กของวินาที คือ เท่ากับอายุของจิต ๓ อนุขณะ ได้แก่ อุปปาทขณะ ขณะเกิด, ฐีติขณะ ขณะตั้งอยู่, และภังคขณะ ขณะดับ แต่จิตทุกดวงย่อมมีกำลังแก่กล้าตรงฐีติขณะมากกว่าขณะอื่น เพราะฉะนั้น เอกัคคตาเจตสิกย่อมมีกำลังสงบตรงฐีติขณะของจิตมากกว่าขณะอื่น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |