ไปยังหน้า : |
การที่โลภมูลจิต ๘ เกิดพร้อมด้วยเวทนา ๒ คือ โสมนัสสเวทนา และ อุเบกขาเวทนานั้น เพราะอารมณ์ที่โลภมูลจิตรับรู้มี ๒ ประเภทได้แก่ อติอิฎฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนาน่าชอบใจอย่างยิ่ง และ อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนาขนาดปานกลาง
การที่โทสมูลจิต ๒ เกิดพร้อมด้วยโทมนัสสเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น เพราะโทสมูลจิต ย่อมรับอารมณ์ได้ประเภทเดียว ได้แก่ อนิฎฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ
การที่โมหมูลจิต ๒ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น เพราะโมหมูลจิต เป็นจิตที่มีกำลังอ่อนโดยสภาวะ เนื่องจากประกอบด้วยอุทธัจจเจตสิกซึ่งมีความซัดส่ายฟุ้งซ่าน ทำให้รับอารมณ์ได้ไม่มั่นคง และไม่มีเจตสิกที่เป็นกำลังในการถ่วงนำหนักไว้ ทำให้เจตนาที่ประกอบกับโมหมูลจิตนั้นมีกำลังอ่อนตามไปด้วย เพราะฉะนั้น ความรู้สึกในขณะนั้น จึงมีสภาพไม่ยินดียินร้าย เนื่องจากรับอารมณ์ไม่ชัดเจนเพราะไม่รู้สึกตัว ด้วยเหตุนี้ เวทนาที่เสวยอารมณ์ในขณะนั้นจึงเป็นอุเบกขาเวทนาอย่างเดียว และอารมณ์ที่รับเป็นมัชฌัตตารมณ์ [อารมณ์ปานกลาง] อย่างเดียวเท่านั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้กระสับกระส่ายฟุ้งซ่าน มีจิตใจเลื่อนลอย ย่อมรู้สึกตัวไม่เด่นชัด จึงไม่เกิดความรู้สึกยินดียินร้ายต่ออารมณ์ที่มาปรากฏเฉพาะหน้า เพราะจิตคิดไปในเรื่องอื่นอยู่เสมอนั่นเอง
การที่ จักขุวิญญาณจิต โสตวิญญาณจิต ฆานวิญญาณจิต ชิวหาวิญญาณจิต ทั้ง ๘ ดวงนี้ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น เพราะจิตเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยการกระทบกันระหว่างอุปาทายรูปกับอุปาทายรูป ซึ่งเป็นรูปเบาด้วยกัน ดังนั้น การกระทบกันจึงมีกำลังอ่อน เปรียบเหมือนการกระทบกันระหว่างสำลีกับสำลี น้ำหนักในการกระทบจึงมี้น้อย ความรู้สึกในการเสวยอารมณ์ จึงเป็นอุเบกขาเวทนาอย่างเดียว และอารมณ์ที่เสวยอยู่นั้นก็เป็นมัชฌัตตารมณ์อย่างเดียวเท่านั้น
การที่กายวิญญาณจิต ๒ เกิดพร้อมด้วยทุกขเวทนาในอารมณ์ที่ไม่ดี และเกิดพร้อมด้วยสุขเวทนาในอารมณ์ที่ดีนั้น เพราะจิต ๒ ดวงนี้ เกิดขึ้นจากการกระทบกันระหว่างกายปสาทกับโผฏฐัพพารมณ์ ซึ่งเป็นการกระทบกันระหว่างอุปาทายรูปกับมหาภูตรูป คือ รูปหนักกับรูปเบากระทบกัน การกระทบจึงมีกำลังหนักหน่วงมากกว่า ทำให้ล่วงเลยกายปสาทไปถึงมหาภูตรูป อันเป็นที่อาศัยของกายปสาท เพราะฉะนั้น ความรู้สึกในการเสวยอารมณ์ ในขณะนั้น จึงเป็นสุขเวทนาในขณะที่สัมผัสกับสิ่งที่แข็งนุ่มพอเหมาะ เรียกว่า อิฏฐโผฏฐัพพารมณ์ คือ สัมผัสอันน่าชอบใจ และเป็นทุกขเวทนาในขณะที่สัมผัสกับสิ่งที่แข็งหยาบกระด้าง เรียกว่า อนิฏฐโผฏฐัพพารมณ์ แปลว่า สัมผัสอันไม่น่าชอบใจ เปรียบเหมือนการเอาของแข็งกระทบกับของอ่อน หรือ เอาฆ้อนตีสำลีที่วางอยู่บนทั่ง ด้วยแรงของการตีและน้ำหนักของฆ้อนกระทบอย่างรุนแรงหรือเด่นชัดกว่า ฆ้อนย่อมล่วงเลยสำลีไปกระทบกับทั่งอันเป็นที่ตั้งของสำลี ถ้าตีด้วยกำลังอ่อน แรงกระทบก็ไม่รุนแรง จึงเปรียบด้วยสุขเวทนา ถ้าตีด้วยกำลังอันหนักหน่วง แรงกระทบย่อมรุนแรง เปรียบด้วยทุกขเวทนา
การที่สัมปฏิจฉนจิต ๒ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาในปัญจารมณ์ที่ดี และไม่ดีนั้น เพราะเป็นจิตที่อาศัยเกิดและที่ทำงานต่างกัน คือ อาศัยเกิดที่หทยวัตถุแต่ไปทำงานที่ปัญจทวารคือรับอารมณ์ต่อจากทวิปัญจวิญญาณจิต เพราะฉะนั้น จึงทำให้มีกำลังในการรับรู้ได้อย่างอ่อน เพราะไม่ได้รับอนันตรปัจจัย จากจิตที่มีสถานที่อาศัยเกิดเหมือนกันหรือจากธรรมที่เป็นสภาคะกันคอยช่วยเหลือ อารมณ์ที่จิต ๒ ดวงนี้เสวยอยู่จึงเป็นเพียงมัชฌัตตารมณ์อย่างเดียว เปรียบเหมือนบุคคลผู้ไร้ญาติขาดมิตรคอยช่วยเหลือ ย่อมขาดกำลังที่จะทำการงานใหญ่ให้สำเร็จได้
การที่สันตีรณอกุศลวิบากจิต เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาอย่างเดียว ทั้งในอารมณ์ที่ไม่ดี [ธรรมดา] หรือไม่ดีมากนั้น เพราะผลของอกุศลกรรมนั้นย่อมมีสภาพหยาบโดยสภาพแห่งผล เพราะผลของความไม่ดีนั้น ไม่ว่าจะไม่ดีมากหรือไม่ดีน้อยอย่างไรก็ตาม ย่อมไม่มีใครปรารถนา แต่ต้องจำใจรับ เมื่อไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ที่เรียกว่า ต้องก้มหน้ารับกรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น จึงเป็นได้เพียงอุเบกขาเวทนาเท่านั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้อ่อนแอ ถูกบุคคลผู้แข็งแรงกว่าข่มเหงรังแก เมื่อไม่อาจโต้ตอบได้ จึงต้องยอมเฉยอยู่ ปล่อยให้บุคคลที่แข็งแรงกว่าขมเหงเอาตามใจชอบฝ่ายเดียว
การที่สันตีรณกุศลวิบาก เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาในอิฎฐมัชฌัตตารมณ์ และเกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนาในอติอิฎฐารมณ์นั้น เพราะอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนานั้นแบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนาระดับปานกลาง เนื่องจากสภาพของอารมณ์นั้นมีความน่าประทับใจน้อย เวทนาจึงเสวยความรู้สึกเป็นเพียงอุเบกขาเวทนา ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหน้าที่ของอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิตเป็นผู้ไต่สวนพิจารณา และอติอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง เนื่องจากสภาพของอารมณ์มีความน่าประทับใจมาก เวทนาจึงเสวยความรู้สึกเป็นโสมนัสสเวทนา ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหน้าที่ของโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิตเป็นผู้ไต่สวนพิจารณา
การที่ปัญจทวาราวัชชนจิต เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาอย่างเดียว ทั้งในปัญจารมณ์ที่ดีและไม่ดีนั้น เพราะเป็นจิตที่เกิดขึ้นรับปัญจารมณ์เป็นดวงแรก ทางปัญจทวาร ยังมีกำลังอ่อนอยู่ ไม่สามารถเสวยรสของอารมณ์ได้เต็มที่ เปรียบเหมือนเด็กแรกเกิด ยังไม่รู้เดียงสา จึงยังไม่มีความยินดียินร้ายกับวัตถุสิ่งของใหม่ ๆ ที่ตนได้พบเห็นในขณะแรกเกิด
การที่มโนทวาราวัชชนจิต เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาอย่างเดียว ทั้งในอารมณ์ที่ดีและไม่ดีนั้น เพราะในขณะที่ทำหน้าที่โวฏฐัพพนะทางปัญจทวารนั้น ย่อมเสวยอารมณ์ได้เล็กน้อยตามหน้าที่ คือ เพียงแต่ทำการตัดสินอารมณ์ที่สัมปฏิจ- ฉนจิตได้ส่งมาให้ถึงที่แล้วเท่านั้น โดยไม่ต้องไปขวนขวายในอารมณ์นั้นแต่ประการใด เปรียบเหมือนต้นเครื่อง [พ่อครัว] ของพระราชา ทำหน้าที่เพียงชิมพระกระยาหารของพระราชาเล็กน้อย เพื่อให้รู้รสเท่านั้น ส่วนในขณะทำหน้าที่อาวัชชนกิจ คือ การพิจารณาอารมณ์ทางมโนทวาร เป็นจิตที่เกิดขึ้นรับอารมณ์ใหม่เป็นดวงแรก ยังมีกำลังอ่อนอยู่ เพราะฉะนั้น การเสวยอารมณ์จึงเป็นเพียงอาการปานกลาง คือ อุเบกขาเวทนา เท่านั้น
การที่หสิตุปปาทจิต เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนาอย่างเดียวเท่านั้นทั้งในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะหสิตุปปาทจิตเป็นสภาพจิตที่เกิดขึ้นกับพระอรหันต์เท่านั้น โดยเกิดขึ้นในขณะที่ท่านปรารภถึงกามธรรม คือ สัตว์บุคคลที่เป็นไปในกามโลก ซึ่งเมื่อว่าโดยองค์ธรรมปรมัตถ์ก็ได้แก่ กามจิต ๕๔ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ เช่น ทางตาท่านได้พบเห็นสถานที่อันเหมาะสมที่จะอยู่เป็นสุขด้วยภาวนาทางจิตแล้วย่อมเกิดความร่าเริงยินดีพอใจ หรือ ท่านได้พบเห็นอารมณ์ที่ไม่ดี เช่น เห็นสัตว์ผู้กำลังเสวยผลแห่งกรรมชั่วอยู่ ย่อมเกิดความสังเวชสลดใจ ด้วยการพิจารณาว่า “เราได้พ้นจากสภาพเหล่านี้ได้โดยเด็ดขาด ด้วยอำนาจแห่งอรหัตตมรรคญาณ” ดังนี้แล้ว ย่อมเกิดความเบิกบานปลอดโปร่งโล่งใจ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเสวยอารมณ์นั้นโดยความเป็นโสมนัสสเวทนา
การที่มหากุศลจิต ๘ เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนาและอุเบกขาเวทนานั้น เพราะยกเอาศรัทธาและการพิจารณาอานิสงส์ในการสร้างกุศล เป็นต้น มาเป็นเครื่องตัดสิน คือ ถ้าเป็นบุคคลผู้มากไปด้วยศรัทธาและพิจารณาเห็นอานิสงส์ของการทำกุศลเป็นอย่างดีแล้ว ย่อมเกิดความรู้สึกเป็นโสมนัสสเวทนา แต่ถ้าเป็นบุคคลผู้มีศรัทธาน้อยและไม่เห็นอานิสงส์ในการทำกุศล ย่อมเกิดความรู้สึกที่เป็นอุเบกขาเวทนาโดยมาก
การที่มหาวิบากจิต ๘ มีเวทนาเช่นเดียวกับมหากุศลจิตนั้น เพราะเป็นไปตามกฎแห่งเหตุผลที่ว่า วิบากจิตที่เป็นผลโดยตรงหรือเป็นผลที่สมบูรณ์นั้น ย่อมมีเวทนาเหมือนกับจิตดวงนั้น เปรียบเหมือนต้นไม้ชนิดใด ย่อมออกผลมาเป็นชนิดนั้นด้วย
การที่มหากิริยาจิต ๘ เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา และอุเบกขาเวทนานั้น เพราะเป็นจิตของพระอรหันต์ที่ปราศจากวิปลาสธรรมแล้ว ฉะนั้น จึงขึ้นอยู่กับสภาพอารมณ์ที่รับรู้ในขณะนั้น ถ้าเป็นอารมณ์ที่ดียิ่ง เวทนาย่อมเสวยความรู้สึกเป็นโสมนัสสเวทนา ถ้าเป็นอารมณ์ที่ดีปานกลางหรือไม่ดี เวทนาย่อมเสวยความรู้สึกเป็นอุเบกขาเวทนา การที่พระอรหันต์รับอารมณ์ที่ไม่ดีแล้วเวทนาความรู้สึกเป็นอุเบกขาเวทนานั้น เพราะพระอรหันต์ท่านวางเฉยในอารมณ์ทั้งหลายได้แล้ว อนึ่ง การที่มหากิริยาจิต ๘ มีเวทนา ๒ อย่าง เหมือนกับมหากุศลจิตและมหาวิบากจิตนั้น เพราะมหากิริยาจิต ก็คือ มหากุศลจิตนั่นเอง แต่เกิดขึ้นในขันธสันดานของพระอรหันต์ผู้หมดจดจากกิเลสแล้วโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น การกระทำของท่าน จึงไม่เป็นเหตุให้เกิดผลอีกต่อไป จึงเรียกว่า มหากิริยาจิต
การที่รูปาวจรฌานจิต ๑๒ [เว้นปัญจมฌานจิต ๓] เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนานั้น เพราะยังละสุของค์ฌานไม่ได้ และสุของค์ฌานนั้น ก็คือ โสมนัสสเวทนา อันมีปทัฏฐานมาจากปัสสัทธิ คือ ความสงบกายสงบใจ นั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นสุขทางใจ
การที่รูปาวจรปัญจมฌานจิต ๓ และอรูปฌานจิต ๑๒ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนานั้น เพราะปัญจมฌานจิตเหล่านั้น เป็นจิตที่ละสุของค์ฌานได้แล้ว เพราะฉะนั้น จึงเป็นไปในระหว่างสุขกับทุกข์ เวทนาจึงเสวยความรู้สึกเป็นอุเบกขาเวทนาเท่านั้น
การที่โลกุตตรจิตโดยพิสดาร ๔๐ มีเวทนาเช่นเดียวกับฌานที่เข้าถึง หรือ ฌานที่ใช้พิจารณาในขณะแห่งวุฏฐานคามินี [การออกจากฌาน] เพราะก่อนหน้าที่มรรคผลจะเกิดนั้น ถ้าเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้วพิจารณาองค์ฌานในปฐมฌานนั้นหรือพิจารณาสภาพของปฐมฌานแล้ว มรรคจิตผลจิตเกิดขึ้น ก็เรียกว่า โลกุตตรจิตนั้นว่า ปฐมฌานมรรคจิต ปฐมฌานผลจิต เพราะฉะนั้น โลกุตตรจิตเหล่านี้จึงเกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา เพราะเกิดพร้อมด้วยสุของค์ฌาน แม้ในฌานลำดับต่อ ๆ ไป ก็มีนัยดังแสดงมานี้เหมือนกัน
ส่วนโลกุตตรจิตโดยย่อ ๘ ดวงนั้น บางครั้งก็เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา บางครั้งก็เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ที่เป็นเช่นนี้ เพราะในขณะแห่งวุฏฐานคามินีวิปัสสนา [วิปัสสนาที่พิจารณาออกจากโลกียธรรม] ของพระอริยบุคคลนั้น ถ้าท่านพิจารณาสังขารธรรมด้วยจิตที่เป็นโสมนัส มรรคจิตและผลจิต ย่อมเกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ถ้าพิจารณาสังขารธรรม ด้วยจิตที่เป็นอุเบกขา มรรคจิตและผลจิต ย่อมเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา