| |
สรุปเรื่องโมจตุกเจตสิก   |  

อกุศลเจตสิกที่กล่าวแล้ว ๔ ดวง คือ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ และอุทธัจจะ นี้ ชื่อว่า โมจตุกเจตสิก โดยยกเอาโมหเจตสิกเป็นประธาน และโมจตุกเจตสิกนี้ เป็นอกุศลสาธารณเจตสิก ย่อมประกอบในอกุศลจิตได้ทั้ง ๑๒ ดวง เป็นที่น่าสังเกตว่า เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว และสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ย่อมประกอบในอกุศลจิตทั้งหมด เพราะฉะนั้น เมื่ออกุศลจิตเกิดขึ้น สภาพของเจตสิกทั้ง ๒ ดวง คือ เอกัคคตา กับ อุทธัจจะ เจตสิกนี้ ย่อมต้องประกอบกับอกุศลจิตพร้อมกัน แต่เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้มีสภาวะลักษณะที่ตรงกันข้าม ไม่น่าที่จะประกอบในจิตดวงเดียวกันได้ ในกรณีนี้มีอธิบายว่า สภาพของจิตนั้น มีการเกิดดับรวดเร็วมาก จิตเกิดขึ้นดวงหนึ่ง ย่อมรับอารมณ์ได้อย่างเดียวเท่านั้น เอกัคคตาเจตสิก ทำหน้าที่ปรุงแต่งจิตให้รับอารมณ์เดียวนั้นอยู่ได้นานเท่าที่กำลังความสามารถของเอกัคคตาเจตสิกจะทำได้ในแต่ละขณะจิต ส่วนอุทธัจจเจตสิก เป็นสภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ฟุ้งซ่านรับอารมณ์ไม่มั่นคง เมื่อจิตดวงหนึ่งดับไปแล้ว จิตดวงหลังย่อมเกิดขึ้น อุทธัจจะย่อมปรุงแต่งจิตนั้นให้รับอารมณ์อื่นต่อไป ด้วยเหตุนี้ อกุศลจิตที่เกิดขึ้นทุกดวง จึงมีเจตสิก ๒ ดวงประกอบพร้อมกันได้ ในลักษณะดังกล่าวนี้ อารมณ์ของอกุศลจิตแต่ละดวง จะตั้งมั่น หรือฟุ้งซ่านนั้น ขึ้นอยู่กับกำลังของเจตสิกทั้ง ๒ ดวง ว่าฝ่ายใดจะมีกำลังยิ่งหย่อนกว่ากัน ตามธรรมดาแล้ว กำลังของเอกัคคตาเจตสิกในอกุศลจิตย่อมมีกำลังอ่อนกว่าอุทธัจจเจตสิก เอกัคคตาเจตสิกจะมีกำลังมาก ต่อเมื่อประกอบกับกุศลจิต โดยเฉพาะกุศลจิตที่ขึ้นสู่อัปปนาชวนะด้วยแล้ว เอกัคคตาเจตสิกนี้ย่อมทำให้จิตรับอารมณ์เดียวได้มั่นคงยิ่งขึ้น จึงสรุปได้ว่า เอกัคคตาเจตสิกย่อมทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนในอกุศลจิตนั้นให้สงบตั้งมั่นไปตามกำลังของอุทธัจจเจตสิก กล่าวคือ ถ้าเอกัคคตาเจตสิกมีกำลังน้อย เอกัคคตาเจตสิกย่อมสงบอยู่ได้มาก ถ้าอุทธัจจเจตสิกมีกำลังมาก เอกัคคตาเจตสิกย่อมสงบตั้งมั่นได้น้อยตามไปด้วย

อนึ่ง เพราะอุทธัจจเจตสิก มีความฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่น หรือ ปรุงแต่งจิตให้เปลี่ยนไปรับอารมณ์อื่นอยู่เสมอเช่นนี้ กำลังของอุทธัจจเจตสิก จึงขวนขวายประมวลกรรมไว้ได้อ่อนลง เพราะฉะนั้น ในอุทธัจจสัมปยุตตจิต ซึ่งเป็นโมหมูลจิตดวงที่ ๒ จึงมีกำลังน้อยมาก ไม่สามารถนำปฏิสนธิในอบายภูมิได้ ย่อมให้ผลได้เฉพาะในปวัตติกาลเท่านั้น ส่วนอกุศลจิตอีก ๑๑ ดวงนอกจากนี้ย่อมสามารถให้ผลได้ ทั้งปฏิสนธิกาล คือ ในเวลาเกิดขึ้นในภพใหม่และในปวัตติกาล คือ ในขณะที่มีชีวิตอยู่ในภพภูมิที่เกิดอยู่นั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |