ไปยังหน้า : |
บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของวิริยเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้รู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้
๑. อุสสาหะลักขะณัง มีความอดทนต่อสู้กับความลำบาก เป็นลักษณะ หมายความว่า วิริยเจตสิกนี้ เป็นธรรมชาติที่อดทนพยายามต่อสู้กับความลำบากที่เกี่ยวกับการงานต่าง ๆ ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี สามารถกระทำการงานนั้น ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เพราะการงานต่าง ๆ ที่ต้องทำด้วย กาย วาจา ใจ เหล่านั้น ย่อมมีความลำบากอยู่ด้วย ไม่มากก็น้อย การงานธรรมดา เช่น การ ยืน เดิน นั่ง เป็นต้น ก็มีความลำบากอยู่ด้วยเช่นกัน แต่ความลำบากชนิดนี้ ไม่ปรากฏให้รู้สึกได้มากนัก ส่วนการงานที่หนัก จะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ความลำบากย่อมปรากฏเด่นชัด เพราะฉะนั้น การงานต่าง ๆ ถ้าไม่ประกอบด้วยวิริยะแล้ว ย่อมไม่สำเร็จลงได้ ผู้ที่มีความกล้าหาญในการกระทำด้วยกาย วาจา ใจเหล่านี้ ก็เพราะวิริยะเป็นเหตุ
๒. สะหะชาตูปัตถัมภะนะระสัง มีการอุดหนุนแก่ธรรมที่เกิดพร้อมกับตนไม่ให้ถอยหลัง เป็นกิจ หมายความว่า เมื่อวิริยะเกิดขึ้นแล้ว สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกอื่น ๆ ที่เกิดพร้อมกับตน ก็พลอยเกิดความอุตสาหะไปด้วย เพราะอำนาจของวิริยเจตสิกนั่นเอง เป็นผู้ช่วยอุดหนุน เปรียบเหมือนบ้านเก่าจวนจะล้มพังอยู่แล้ว เจ้าของบ้านเอาเสาไม้ไปปักค้ำยันไว้ ทำให้บ้านนั้นตั้งอยู่ได้ และสามารถต้านทานลมได้อีก ข้อนี้ฉันใด จิตและเจตสิกในขณะที่อ่อนกำลังต่อการรับอารมณ์นั้น จึงต้องอาศัยวิริยเจตสิกเป็นผู้ช่วยอุดหนุนให้มีกำลังขึ้น จิตและเจตสิกเปรียบได้กับบ้านที่จวนจะพัง วิริยเจตสิกที่ช่วยอุดหนุนสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นให้สามารถรับอารมณ์ได้อย่างมั่นคง เปรียบได้กับเสาที่ปักค้ำยันบ้านไว้เพื่อมิให้ล้มลงฉันนั้น
๓. อะสังสีทะนะปัจจุปปัฏฐานัง มีการไม่ท้อถอย เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า วิริยเจตสิกนี้เป็นสภาวธรรมที่มีความขยันมั่นคงโดยไม่มีการท้อถอย เช่น เมื่อบุคคลบางคนได้พบกับอุปสรรคปัญหาแล้ว ก็พยายามอดทนต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคนั้นโดยไม่มีการย่อท้อ ที่เป็นไปดังนี้ ก็เนื่องด้วยอำนาจของวิริยเจตสิกนั่นเอง
๔. สังเวคะวัตถุปปะทัฏฐานัง วา วิริยารัมภะวัตถุปปะทัฏฐานัง มีสังเวควัตถุ ๘ เป็นเหตุใกล้ หรือมีวิริยารัมภวัตถุ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด สำหรับสังเวควัตถุ ๘ นั้นย่อมเป็นเหตุให้วิริยะที่เป็นฝ่ายดีเกิดขึ้น ส่วนวิริยารัมภวัตถุ ๘ ย่อมเป็นเหตุให้วิริยะทั่วไป ทั้งดีและไม่ดีเกิดขึ้น