| |
ธรรมที่มีความหมายเหมือนรูปธรรม ๘ ชื่อ   |  

ผู้เขียนได้ประมวลธรรมที่มีความหมายเหมือนกับรูปธรรมทั้ง ๘ ชื่อเหล่านี้ มาชี้แจงและอธิบายความหมายเพิ่มเติม เพื่อทบทวนความเข้าใจ ดังต่อไปนี้

๑. อเหตุกธรรม คือ ธรรมที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ หมายถึง ธรรมที่ไม่ได้สัมปยุตต์ด้วยเหตุ ๖ มีโลภเหตุเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งเลย ได้แก่ อเหตุกจิต ๑๘ อัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นฉันทะ] ขณะที่ประกอบกับอเหตุกจิต และโมหเจตสิกขณะที่ประกอบกับโมหมูลจิต ๒ รูป ๒๘ นิพพาน บัญญัติ หมายความว่า ธรรมเหล่านี้ในขณะที่เกิดขึ้นนั้น ไม่มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งประกอบร่วมด้วยเลย และพระนิพพานซึ่งเป็นสภาวธรรมที่ปรากฏมีอยู่แล้วโดยปราศจากเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น และไม่เป็นสัมปยุตต์กับเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน ส่วนบัญญัติธรรมนั้น เป็นสิ่งที่สมมุติกันขึ้นเพื่อหมายรู้ร่วมกันในสังคม ไม่มีสภาวลักษณะตัวตนอยู่อย่างแท้จริง ไม่มีสภาพเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปแต่ประการใด เพราะฉะนั้น จึงสงเคราะห์เข้าในอเหตุกะโดยอนุโลม

๒. สปัจจยะ เป็นธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ จิต ๘๙ [หรือ ๑๒๑ ดวง] เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ หมายความว่า ธรรมทั้งหมดนี้ล้วนต้องอาศัยปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น กล่าวคือ ปัจจัยที่ทำให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้น ได้แก่ อดีตกรรม อารมณ์ และวัตถุ และปัจจัยที่ทำให้รูปเกิดขึ้น ได้แก่ กรรม จิต อุตุ อาหาร เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก และรูปธรรมทั้งหมด จึงได้ชื่อว่า สปัจจยะ คือ ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ส่วนพระนิพพานนั้น ไม่มีการเกิดและไม่มีการดับ มีแต่สภาพที่ปรากฏอยู่โดยเฉพาะ เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน เพราะไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เมื่อไม่มีการเกิด ย่อมไม่มีการดับ เมื่อความเกิดและความดับไม่มีแล้ว จะเรียกว่า นิพพานนั้นตั้งอยู่ [เป็นปัจจุบัน] ย่อมไม่ได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ นิพพานจึงพ้นจากสภาพแห่งกาลทั้ง ๓ กล่าวคือ ไม่เป็นอดีต ไม่เป็นอนาคต และไม่เป็นปัจจุบัน แต่เป็นกาลวิมุตติ์ คือ พ้นจากสภาพที่เป็นไปในกาลทั้ง ๓ นั้นเอง เพราะฉะนั้น พระนิพพานจึงมีสภาพเป็น อปัจจยธรรม คือ ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ส่วนบัญญัตินั้นเป็นสิ่งสมมุติไม่มีอยู่จริง จึงสงเคราะห์เข้าในอปัจจยธรรมโดยอนุโลม

๓. สาสวะ เป็นธรรมที่เป็นอารมณ์ของอาสวะ ๔ คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ อันได้แก่ โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ หมายความว่า ธรรมทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นอารมณ์ของอาสวะ หรือเป็นธรรมที่อาสวธรรมเข้าไปยึดติดผูกพันอยู่ทั้งสิ้น ส่วนโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ เจตสิกที่ประกอบ ๓๖ และนิพพานนั้น ได้ชื่อว่า อนาสวธรรม เพราะเป็นธรรมที่ไม่ได้เป็นอารมณ์ของอาสวะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเป็นธรรมที่อาสว-ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไม่สามารถเข้าไปยึดติดผูกพันเป็นอารมณ์ได้เลย

๔. สังขตะ เป็นธรรมที่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ หมายความว่า ธรรมทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสังขตธรรม คือ เป็นธรรมที่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหมือนที่กล่าวแล้วในสปัจจยธรรม ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา ส่วนธรรมที่ได้ชื่อว่า อสังขตธรรม นั้นได้แก่ นิพพานและบัญญัติ เพราะพระนิพพานนั้นไม่มีปัจจัยใด ๆ ปรุงแต่งทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ พระนิพพานจึงไม่มีสภาพเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ส่วนบัญญัติทั้งหลายเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เพราะฉะนั้น จึงสงเคราะห์เข้าเป็นอสังขตธรรมโดยอนุโลม

๕. โลกียะ เป็นธรรมที่เกี่ยวข้องกับโลก คือ เป็นธรรมที่นับสงเคราะห์เข้าในสังขารโลก ได้แก่ โลกียจิต ๘๑ เจตสิกที่ประกอบ ๕๒ รูป ๒๘ หมายความว่า ธรรมทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นธรรมที่สงเคราะห์เข้าในสังขารโลก กล่าวคือ เป็นธรรมที่มีสภาพแตกดับหรือมีการเสื่อมสิ้นสลายไปตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งทั้งสิ้น สำหรับโลกุตตรจิต ๘ [หรือ ๔๐] และเจตสิกที่ประกอบ ๓๖ นั้น ถึงแม้จะมีปัจจัยปรุงแต่งและมีการเกิดดับไปเป็นธรรมดาก็ตาม แต่เป็นธรรมที่รับพระนิพพานเป็นอารมณ์อย่างเดียวโดยแน่นอน จึงจัดเป็นโลกุตตรธรรมด้วย เพราะพระนิพพานนั้นเป็นโลกุตตรธรรมอย่างแท้จริง คือ เป็นธรรมที่พ้นจากการแตกดับทำลายหรือไม่มีความเสื่อมสิ้นสลายไปเพราะเหตุปัจจัยแต่ประการใด ส่วนบัญญัติทั้งหลายนั้นเป็นของสมมุติไม่มีอยู่โดยแท้จริง เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถนับสงเคราะห์เข้าในโลกียะและโลกุตตระได้เลย

๖. กามาวจระ เป็นกามาวจรอย่างเดียว ได้แก่ กามาวจรจิต ๕๔ เจตสิกที่ประกอบ ๕๒ รูป ๒๘ หมายความว่า ธรรมทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นอารมณ์ของกามตัณหาทั้งสิ้น เพราะธรรมทั้งหมดนี้มีสภาพเป็นกามอารมณ์ คือ เป็นรูปารมณ์บ้าง สัททารมณ์บ้าง คันธารมณ์บ้าง รสารมณ์บ้าง โผฏฐัพพารมณ์บ้าง ที่เหลือนอกนั้นเป็นธัมมารมณ์ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่มีสภาพอันน่าใคร่น่ายินดีของกามตัณหาทั้งสิ้น ส่วนธรรมที่ได้ชื่อว่า รูปาวจระ ได้แก่ รูปาวจรจิต ๑๕ และเจตสิกที่ประกอบ ๓๕ อันได้แก่ รูปฌาน นั้น ย่อมเป็นอารมณ์ของรูปตัณหา คือ ความยินดีพอใจในรูปฌานและรูปภพ ธรรมที่ได้ชื่อว่า อรูปาวจระ ได้แก่ อรูปาวจรจิต ๑๒ เจตสิกที่ประกอบ ๓๐ ดวง อันได้แก่ อรูปฌาน นั้น ย่อมเป็นอารมณ์ของอรูปตัณหา คือ ความยินดีพอใจในอรูปฌานและอรูปภพ และธรรมที่ชื่อว่า โลกุตตระ อันได้แก่ โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ เจตสิกที่ประกอบ ๓๖ และนิพพานนั้น เป็นธรรมที่ไม่ได้เป็นอารมณ์ของตัณหาใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะโลกุตตรธรรมนั้นเป็นสภาพที่ประหาณตัณหา ดับตัณหา และสงบจากตัณหา

๗. อนารัมมณะ เป็นสภาวะที่รู้อารมณ์ไม่ได้ ได้แก่ รูป ๒๘ และพระนิพพาน หมายความว่า รูปทั้งหมดและพระนิพพานนั้น เป็นธรรมที่ไม่สามารถรู้อารมณ์ได้เลย เพราะธรรมที่สามารถรู้อารมณ์ได้นั้น ได้แก่ จิตและเจตสิก ซึ่งมีสภาพเป็นนามธรรมที่น้อมไปหาอารมณ์ เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิกธรรมทั้งหลาย จึงได้ชื่อว่า สารัมมณธรรม คือ เป็นธรรมที่สามารถรับรู้อารมณ์ได้ดังกล่าวแล้ว

๘. อัปปหาตัพพะ เป็นธรรมที่ไม่ควรประหาณ ได้แก่ กุศลจิต ๒๑ [หรือ ๓๗] วิปากจิต ๓๖ [หรือ ๕๒] กิริยาจิต ๒๐ รูป ๒๘ และพระนิพพาน ส่วนธรรมที่ควรประหาณ ที่ได้ชื่อว่า ปหาตัพพธรรม นั้น ได้แก่ อกุศลธรรมทั้งหลาย กล่าวคือ อกุศลจิต ๑๒ และเจตสิกที่ประกอบ ๒๗ หรือกิเลส ๑๐ อย่าง ซึ่งเป็นอกุศลเจตสิกที่ประกอบในอกุศลจิต ๑๒ เท่านั้น เพราะธรรมเหล่านี้ได้ชื่อว่า สมุทัย และธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสมุทัย คือ ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จึงเป็นธรรมที่ควรประหาณให้หมดสิ้นไป ส่วนกุศลธรรมนั้น ชื่อว่า ภาเวตัพพธรรม คือ ธรรมที่ควรเจริญให้เกิดมีขึ้น ส่วนวิปากจิต กิริยาจิต เจตสิกที่ประกอบ และรูป ชื่อว่า ปริญญาตัพพธรรม คือ ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ทำให้เข้าใจตามความเป็นจริง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |