| |
จิตเภทนัย ๙   |  

จิตเภทนัย หมายถึง การจำแนกจิตโดยนัยต่าง ๆ มี ชาติเภทนัย เป็นต้น มี ๙ นัย คือ

๑. ชาติเภทนัย การจำแนกประเภทของจิตโดยชาติ มี ๔ ชาติ คือ

๑] อกุศลชาติ หมายถึง สภาพจิตที่เป็นอกุศล คือ มีสภาพเศร้าหมอง และให้ผลเป็นความทุกข์

๒] กุศลชาติ หมายถึง สภาพจิตที่เป็นกุศล คือ มีสภาพผ่องใส และให้ผลเป็นความสุข

๓] วิปากชาติ หมายถึง สภาพจิตที่เป็นวิบาก คือ มีสภาพที่เข้าถึงความสุกงอมและหมดกำลังในการขวนขวายให้เกิดสิ่งใด ๆ ลงแล้ว

๔] กิริยาชาติ หมายถึง สภาพจิตที่เป็นกิริยา คือ มีสภาพเป็นไปสักแต่ว่า เกิดขึ้นเพื่อทำกิจของตน ๆ ให้สำเร็จลงเท่านั้น ไม่มีความขวนขวายในการจัดแจงปรุงแต่งให้ผลของตนเกิดขึ้นอีกต่อไปแต่อย่างใด

๒. ภูมิเภทนัย การจำแนกประเภทของจิตโดยภูมิ มี ๔ ภูมิ คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิและโลกุตตรภูมิ เรียกว่า อวัตถาภูมิ ๔ แปลว่า สภาพของจิตที่ถูกกำหนดขอบเขตโดยอำนาจแห่งตัณหา และที่พ้นจากการถูกกำหนดขอบเขตโดยอำนาจแห่งตัณหา กล่าวคือ

๑] กามาวจรภูมิ หมายถึง สภาพของจิตที่ถูกกำหนดขอบเขตด้วยอำนาจแห่งกามตัณหา หมายความว่า เป็นจิตที่อยู่ในขอบเขตเป็นอารมณ์ของกามตัณหาโดยมาก หรือเป็นจิตที่ผูกพันอยู่กับกามอารมณ์ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความรู้สึกนึกคิดซึ่งเป็นอารมณ์อันน่าใคร่น่าปรารถนาน่าชอบใจของกิเลสกามโดยมาก [แม้จะสามารถรับอารมณ์อย่างอื่นได้อีก เช่น มหัคคตอารมณ์ โลกุตตรอารมณ์และบัญญัติอารมณ์ก็ตาม แต่ก็เป็นไปโดยส่วนน้อย จึงกล่าวว่า รับกามอารมณ์โดยมาก]

๒] รูปาวจรภูมิ หมายถึง สภาพของจิตที่ถูกกำหนดขอบเขตด้วยอำนาจแห่งรูปตัณหา หมายความว่า เป็นจิตที่อยู่ในขอบเขตเป็นอารมณ์ของรูปตัณหาโดยมาก หรือเป็นจิตที่ผูกพันอยู่กับรูปภพ คือ ความเป็นรูปพรหม และรูปภูมิ คือ ภูมิเป็นที่เกิดของรูปพรหม หรือเป็นจิตที่ผูกพันอยู่กับการรับอารมณ์ที่เป็นรูปบัญญัติ ได้แก่ กสิณบัญญัติ อสุภบัญญัติ และสัตวบัญญัติ เป็นต้น ซึ่งเป็นอารมณ์อันน่าใคร่น่าปรารถนาน่าชอบใจของรูปกิเลส คือความยินดีติดใจในสภาพแห่งรูปฌาน รูปภพ หรือรูปบัญญัตินั้น โดยมาก [ยกเว้นอภิญญาจิต ๒ ที่สามารถรับรู้อารมณ์อย่างอื่นได้ ทั้งกามอารมณ์ มหัคคตอารมณ์ โลกุตตรอารมณ์ และบัญญัติอารมณ์ ซึ่งเป็นจิตพิเศษที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งรูปาวจรปัญจฌานกุศลจิต เรียกว่า อภิญญากุศลจิต ๑ และด้วยอำนาจแห่งรูปาวจรปัญจมฌานกิริยาจิต เรียกว่า อภิญญากิริยาจิต ๑ แต่ไม่นับเพิ่มเป็นพิเศษออกไปจากจำนวนจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง คงนับรวมเข้าในรูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิต ๑ และรูปาวจรปัญจมฌานกิริยาจิต ๑ นั่นเอง เนื่องจากเป็นจิตที่ไม่ได้เกิดกับบุคคลทุกคนที่ได้รูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิตหรือรูปาวจร ปัญจมฌานกิริยาจิต แต่เกิดได้เฉพาะกับบุคคลที่ได้อภิญญา หรือได้ทำอภิญญาให้เกิดขึ้นเท่านั้น]

๓] อรูปาวจรภูมิ หมายถึง สภาพของจิตที่ถูกกำหนดขอบเขตด้วยอำนาจแห่งอรูปตัณหา หมายความว่า เป็นจิตที่อยู่ในขอบเขตเป็นอารมณ์ของอรูปตัณหาโดยมาก หรือเป็นจิตที่ผูกพันอยู่กับอรูปภพ คือ ความเป็นอรูปพรหม และอรูปภูมิ คือ ภูมิเป็นที่เกิดของอรูปพรหม หรือเป็นจิตที่ผูกพันอยู่กับการรับอารมณ์ที่ไม่มีรูป ได้แก่ กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัตินิมิต อากาสานัญจายตนนิมิต นัตถิภาวบัญญัตินิมิต และอากิญจัญญายตนนิมิต ซึ่งเป็นอารมณ์อันน่าใคร่น่าปรารถนาน่าชอบใจของอรูปกิเลส คือ ความยินดีติดใจในสภาพแห่งอรูปฌาน อรูปภพ หรืออรูปอารมณ์ โดยมาก

๔] โลกุตตรภูมิ หมายถึง สภาพของจิตที่พ้นจากการถูกกำหนดขอบเขตด้วยอำนาจแห่งตัณหาทั้ง ๓ หมายความว่า เป็นจิตที่ไม่อยู่ในขอบเขตที่จะเป็นอารมณ์ของตัณหาทั้ง ๓ [ได้แก่ กามตัณหา รูปตัณหา อรูปตัณหา อย่างใดอย่างหนึ่ง] ได้เลย หรือเป็นจิตที่ไม่ได้ยินดีติดใจในภพทั้ง ๓ [ได้แก่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ] หรือเป็นจิตที่ไม่ได้ผูกพันกับอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยภพภูมิทั้งหลาย ที่เรียกว่า โลกียอารมณ์ [อันได้แก่ กามอารมณ์ รูปอารมณ์ อรูปอารมณ์] แต่อย่างใดเลย แต่เป็นจิตที่รับอารมณ์ที่พ้นจากสภาพแห่งโลกทั้ง ๓ อันได้แก่ โลกุตตรอารมณ์ คือ พระนิพพาน โดยส่วนเดียว เพราะพระนิพพานนั้น มีสภาพที่ต่างไปจากสภาพของสิ่งที่มีอยู่ในโลกทั้ง ๓ เนื่องจากพระนิพพานนั้น ไม่มีการเกิดขึ้น และไม่มีการดับไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีทุกข์ที่จะต้องทนยาก เหมือนกับสังขารโลกทั้งปวง มีแต่สภาพที่เที่ยงคงที่และเป็นบรมสุข ฉะนั้น เมื่อจิตเหล่านี้ไปรับรู้สภาพของพระนิพพาน ที่เรียกว่า สันติลักษณะ นั้นมาเป็นอารมณ์แล้ว จิตเหล่านี้ จึงได้ชื่อว่า โลกุตตรจิต ตามสภาพของอารมณ์นั้นไปด้วย

๓. โสภณเภทนัย การจำแนกประเภทของจิตโดยอโสภณจิตและโสภณจิตคือ

๑] อโสภณจิต หมายถึง จิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกเข้าประกอบร่วมด้วย มี ๒ ประเภท คือ

[๑] อกุศลจิต มีสภาพเป็นอโสภณจิตโดยตรง คือ เป็นจิตที่ไม่สวยไม่งามและให้ผลเป็นความทุกข์ เนื่องจากมีอกุศลเจตสิกอันมีสภาพไม่สวยไม่งามหรือมีสภาพเศร้าหมองเข้ามาประกอบร่วมด้วย

[๒] อเหตุกจิต ซึ่งเป็นวิปากจิตและกิริยาจิต ได้ชื่อว่า อโสภณจิตโดยอ้อม เพราะไม่มีโสภณเจตสิกประกอบร่วมด้วย อนึ่ง อเหตุกจิตนี้ มีทั้งอกุศลวิปากจิต ซึ่งมีสภาพเป็นอนิฏฐะ คือ สภาพที่ไม่น่าปรารถนา กุศลวิปากจิต มีสภาพเป็นอิฏฐะ คือ สภาพที่น่าปรารถนา และอเหตุกกิริยาจิต คือ สภาพที่เป็นกลาง ๆ เกิดขึ้นเพียงเพื่อทำกิจเบื้องต้นในการรับรู้อารมณ์ทางทวารนั้น ๆ และมีหสิตุปปาทจิต ซึ่งเป็นจิตของพระอรหันต์อันเป็นบุคคลผู้ละบุญและบาปได้หมดสิ้นแล้ว สภาพจิตจึงเป็นสภาพที่ดีงาม แต่เนื่องจากไม่ได้ประกอบกับโสภณเจตสิกดังกล่าวแล้ว จึงได้ชื่อว่า อโสภณจิต ด้วย

๒] โสภณจิต หมายถึง จิตที่มีสภาพเป็นโสภณะ คือ มีสภาพดีงามผ่องใส และให้ผลเป็นความสุข เพราะเป็นจิตที่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก อันเป็นสภาพธรรมที่มีความดีงาม ฉลาด ผ่องใส เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข

๔. โลกเภทนัย การจำแนกประเภทของจิตเป็นโลกียจิตและโลกุตตรจิต คือ

๑] โลกียจิต หมายถึง จิตที่มีสภาพเป็นไปตามสภาพของโลก คือ มีการเกิดดับ เปลี่ยนแปลงไป และรับรู้อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยโลกทั้ง ๓ ได้แก่ กามาวจรจิต มีอารมณ์เกี่ยวเนื่องกับกามโลก รูปาวจรจิต มีอารมณ์เกี่ยวเนื่องกับรูปโลก และอรูปาวจรจิต มีอารมณ์เกี่ยวเนื่องกับอรูปโลก

๒] โลกุตตรจิต หมายถึง จิตที่มีสภาพเป็นไปทวนกระแสโลก หมายความว่า ถึงแม้จะมีสภาพเกิดดับเหมือนสภาพของสังขารธรรมทั่วไปก็ตาม แต่โลกุตตรจิตนี้ก็มีสภาพที่เป็นไปทวนกระแสโลก คือ ไม่เป็นอารมณ์ของตัณหา ๓ หรือกิเลสตัณหาทั้งปวงไม่สามารถยึดหน่วงเอาโลกุตตรจิตมาเป็นอารมณ์ได้ เป็นจิตที่ได้ทำการประหาณอนุสัยกิเลสให้ขาดสิ้นลง ตามสมควรแก่กำลังของมรรคนั้น ๆ และเป็นจิตที่รับเอาสภาพของพระนิพพานซึ่งเป็นโลกุตตรธรรมโดยส่วนเดียวมาเป็นอารมณ์ ด้วยเหตุนี้ จึงชื่อว่า โลกุตตรจิต

๕. เหตุเภทนัย การจำแนกประเภทของจิตโดยอเหตุกจิตและสเหตุกจิต คือ

๑] อเหตุกจิต หมายถึง จิตที่ไม่ได้เกิดพร้อมด้วยเหตุ หรือเป็นจิตที่ไม่มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งประกอบร่วมด้วยเลย ได้แก่ อเหตุกจิต ๑๘

๒] สเหตุกจิต หมายถึง จิตที่เกิดพร้อมด้วยเหตุ หรือเป็นจิตที่มีเหตุประกอบร่วมด้วย ได้แก่ จิตที่นอกจากอเหตุกจิต มีจำนวน ๗๑ หรือ ๑๐๓ ดวง แบ่งเป็น ๓ จำพวก คือ

[๑] เอกเหตุกจิต หมายถึง จิตที่มีเหตุประกอบร่วมด้วย ๑ เหตุ มี ๒ ดวง คือ โมหมูลจิต ๒ มี โมหเหตุ ประกอบร่วมด้วยอย่างเดียว

[๒] ทวิเหตุกจิต หมายถึง จิตที่มีเหตุประกอบร่วมด้วย ๒ เหตุมี ๒๒ ดวงคือ

โลภมูลจิต ๘ มีโลภเหตุ กับ โมหเหตุ ประกอบร่วมด้วย

โทสมูลจิต ๒ มี โทสเหตุ กับ โมหเหตุ ประกอบร่วมด้วย

กามาวจรโสภณญาณวิปปยุตตจิต ๑๒ มี อโลภเหตุ กับ อโทสเหตุ ประกอบร่วมด้วย

[๓] ติเหตุกจิต หมายถึง จิตที่มีเหตุประกอบร่วมด้วย ๓ เหตุ มี ๔๗ หรือ ๗๙ ดวง คือ กามาวจรโสภณญาณสัมปยุตตจิต ๑๒ รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒ โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ มีอโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ [หรือปัญญาเหตุ] ประกอบร่วมด้วย

๖. ฌานเภทนัย การจำแนกประเภทของจิตโดยอฌานจิตและฌานจิต คือ

๑] อฌานจิต หมายถึง จิตที่ไม่ได้เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน หรือจิตที่ไม่มีเจตสิกที่เข้าถึงสภาพความเป็นองค์ฌานประกอบร่วมด้วย มี ๕๔ ดวงได้แก่ กามาวจรจิต ๕๔

๒] ฌานจิต หมายถึง จิตที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน หรือจิตที่มีเจตสิกที่เข้าถึงสภาพขององค์ฌานประกอบร่วมด้วย มี ๖๗ ดวง คือ รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒ โลกุตตรจิต ๔๐ ประกอบด้วยองค์ฌานดังนี้

๗. เวทนาเภทนัย การจำแนกประเภทของจิตโดยเวทนา ๕ คือ

๑] สุขสหคตจิต หมายถึง จิตที่เกิดพร้อมด้วยสุขเวทนา มี ๑ ดวง คือ สุขสหคตกายวิญณาณจิต ๑ ที่เป็นอเหตุกกุศลวิปากจิต

๒] ทุกขสหคตจิต หมายถึง จิตที่เกิดพร้อมด้วยทุกขเวทนา มี ๑ ดวง คือ ทุกขสหคตกายวิญญาณจิต ๑ ที่เป็นอกุศลวิปากจิต

๓] โสมนัสสสหคตจิต หมายถึง จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา มี ๖๒ ดวง คือ โลภโสมนัสจิต ๔ โสมนัสสันตีรณจิต ๑ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลโสมนัสจิต ๔ มหาวิบากโสมนัสจิต ๔ มหากิริยาโสมนัสจิต ๔ ปฐมฌานจิต ๑๑ ทุติยฌานจิต ๑๑ ตติยฌานจิต ๑๑ จตุตถฌานจิต ๑๑

๔] โทมนัสสสหคตจิต หมายถึง จิตที่เกิดพร้อมด้วยโทมนัสสเวทนา มี ๒ ดวง คือ โทสมูลจิต ๒

๕] อุเบกขาสหคตจิต หมายถึง จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา มี ๕๕ ดวง คือ โลภอุเบกขาจิต ๔ โมหมูลจิต ๒ อเหตุกอุเบกขาจิต ๑๔ มหากุศลอุเบกขาจิต ๔ มหาวิบากอุเบกขาจิต ๔ มหากิริยาอุเบกขาจิต ๔ ปัญจมฌานจิต ๒๓

๘. สัมปโยคเภทนัย การจำแนกประเภทของจิตโดย สัมปยุตตจิตและวิปปยุตตจิต คือ

๑] สัมปยุตตจิต หมายถึง จิตที่มีสัมปยุตตธรรมที่พิเศษบางอย่างประกอบร่วมด้วย มี ๕๕ หรือ ๘๗ ดวง แบ่งเป็น ๕ จำพวก คือ

[๑] ทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต หมายถึง จิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด มี ๔ ดวง คือ โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔

[๒] ปฏิฆสัมปยุตตจิต หมายถึง จิตที่ประกอบด้วยความโกรธ ความไม่พอใจ หรือควาน้อยเนื้อต่ำใจ มี ๒ ดวง คือ โทสมูลจิต ๒

[๓] วิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต หมายถึง จิตที่ประกอบด้วยความสงสัย ความลังเลใจ มี ๑ ดวง คือ โมหมูลจิตดวงที่ ๑

[๔] อุทธัจจสัมปยุตตจิต หมายถึง จิตที่ประกอบด้วยความฟุ้งซ่านซัดส่าย มี ๑ ดวง คือ โมหมูลจิตดวงที่ ๒

[๕] ญาณสัมปยุตตจิต หมายถึง จิตที่ประกอบด้วยปัญญา มี ๔๗ หรือ ๗๙ ดวง คือ กามาวจรโสภณญาณสัมปยุตตจิต ๑๒ รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒ โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐

๒] วิปปยุตตจิต หมายถึง จิตที่ไม่ประกอบด้วยสัมปยุตตธรรมพิเศษบางอย่างดังกล่าวแล้ว มี ๓๔ ดวง แบ่งเป็น ๓ จำพวก คือ

[๑] ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต หมายถึง จิตที่ไม่ได้ประกอบด้วยความเห็นผิด มี ๔ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔

[๒] ญาณวิปปยุตตจิต หมายถึง จิตที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา มี ๑๒ ดวง ได้แก่ กามาวจรโสภณญาณวิปปยุตตจิต ๑๒

[๓] สัมปยุตตวิปปยุตตจิต หมายถึง จิตที่ไม่ได้ประกอบกับสัมปยุตตธรรมพิเศษบางอย่าง หรือเป็นจิตที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสัมปยุตตธรรมพิเศษบางอย่างนั้นเลย มี ๑๘ ดวง คือ อเหตุกจิต ๑๘

๙. สังขารเภทนัย การจำแนกประเภทของจิตโดย อสังขาริกจิต และสสังขาริกจิต คือ

๑] อสังขาริกจิต หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน คือ เกิดขึ้นเอง มี ๓๗ ดวง ได้แก่ อกุศลอสังขาริกจิต ๗ อเหตุกจิต ๑๘ กามาวจรโสภณอสังขาริกจิต ๑๒

๒] สสังขาริกจิต หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นโดยต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวน มี ๘๔ ดวง ได้แก่ อกุศลสสังขาริกจิต ๕ กามาวจรโสภณสสังขาริกจิต ๑๒ และฌานจิต ๖๗


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |