| |
สรุปความเรื่องกรุณาเจตสิก   |  

สภาพของกรุณานี้ มีการสงบระงับจากวิหิงสา [ความเบียดเบียน] เป็นสมบัติ และมีการเกิดความเศร้าโศก ร่ำไห้ [คล้อยตาม] เป็นวิบัติ หมายความว่า ถ้าในขณะใดบุคคลเกิดความสงสารสัตว์หรือบุคคลที่กำลังได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่หรือจะได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนในกาลข้างหน้าก็ดี ซึ่งความสงสารนั้นประกอบด้วยกัมมัสสกตาญาณ คือ พิจารณาให้เป็นไปตามกฎแห่งกรรม ไม่ให้เกินเลยกฎแห่งกรรมนั้น ในขณะนั้น ชื่อว่า มีความสมบูรณ์พร้อมแห่งกรุณา หรือเป็นกรุณาแท้ ส่วนในขณะใด บุคคลเกิดความสงสารทุกขิตสัตว์แล้ว แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจพิไรรำพันตามสัตว์หรือบุคคลที่กำลังได้ความทุกข์ความเดือดร้อนนั้น ในขณะนั้น ชื่อว่า เป็นความวิบัติแห่งกรุณา คือ กรุณาจิตของบุคคลนั้นได้หลุดหายไปแล้ว ย่อมไม่ได้รับอานิสงส์แห่งการเจริญกรุณาแต่อย่างใด

ที่ชื่อว่า กรุณา เพราะย่อมกระทำจิตใจของคนดีให้หวั่นไหว ในเมื่อเห็นผู้อื่นมีความทุกข์ [เป็นลักษณะ] หมายความว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยกรุณา ย่อมเป็นผู้ที่อาทรใจในความทุกข์ความเดือดร้อนของสัตว์หรือบุคคลอื่น เป็นเหมือนความทุกข์ความเดือดร้อนของตน ย่อมไม่นิ่งดูดาย ขวนขวายหาวิธีช่วยเหลือให้ได้

ที่ชื่อว่า กรุณา เพราะถ่ายทุกข์ของผู้อื่น หรือ กำจัดความทุกข์ของผู้อื่นให้พินาศ [เป็นกิจ] หมายความว่า สภาพของกรุณาเจตสิกนี้ ย่อมมุ่งมั่นที่จะทำการถ่ายถอนความทุกข์ความเดือดร้อนของบุคคลที่ตนได้ประสบพบเห็น ตามสมควรที่จะช่วยเหลือได้ โดยไม่เมินเฉยหรือซ้ำเติม

ที่ชื่อว่า กรุณา เพราะด้วยอำนาจการแผ่กระจายไปในสัตว์อื่นที่มีทุกข์ [เป็นอาการปรากฏ] หมายความว่า กรุณาเจตสิกนี้ย่อมแผ่ไปในสัตว์หรือบุคคลที่กำลังประสบความทุกข์ความเดือดร้อนหรือจะได้ประสบในกาลข้างหน้าก็ตาม โดยไม่ขาดสาย และไม่มีที่สิ้นสุด ตราบเท่าเวลาที่กรุณาเจตสิกยังเกิดขึ้นได้อยู่ อนึ่งกรุณาเจตสิกที่ประกอบในรูปฌานกุศลหรือรูปฌานกิริยา ย่อมมีสภาพกว้างขวางและมีพลังหนักแน่นถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ทำให้จิตมีสภาพเป็นกรุณาได้อย่างเต็มเปี่ยมและเสมอกันในสัตว์และบุคคลทั้งปวง เรียกว่า กรุณาสีมสัมเภท แปลว่า การทำลายขอบเขตของกรุณา โดยไม่ได้มุ่งไปในบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่มีความเสมอกันในบุคคลทั้งปวง

เมื่อกรุณาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเข้าถึงความไม่เบียดเบียนผู้อื่น และทำลายความโศกที่เกิดขึ้นให้หายไป กรุณานี้ จึงประกอบได้กับโลกียกุศลจิตและกิริยาจิต เท่านั้น เพราะเป็นสภาพที่มีสัตวบัญญัติ เป็นอารมณ์อย่างเดียว หมายความว่า กรุณาเจตสิกจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีอารมณ์ที่เป็นทุกขิตสัตว์ คือ สัตว์หรือบุคคลที่กำลังประสบความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่หรือจะได้ประสบในกาลข้างหน้า เท่านั้น แต่ถ้าจิตรับอารมณ์อื่นนอกจากนี้ กรุณาเจตสิกย่อมไม่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น เพราะฉะนั้น ในสภาพจิตธรรมดาทั่วไป กรุณาเจตสิกจึงเกิดร่วมกับมหากุศลจิต มหากิริยาจิต ในขณะที่มีอารมณ์เป็นทุกขิตสัตว์เท่านั้น ส่วนในรูปาวจรจิตนั้น กรุณาเจตสิกย่อมเกิดร่วมกับฌานจิตที่ประกอบด้วยสุขเวทนาหรือโสมนัสสเวทนาเท่านั้น เนื่องจากยังมีความรู้สึก

กรุณาเจตสิก อยู่ในกลุ่ม โสภณราสี คือ หมวดโสภณเจตสิก ๒๕ เป็น อัปปมัญญาเจตสิก คือ สภาวธรรมที่มีสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์ ด้วยการยึดเอาทุกขิตสัตว์ คือ สัตว์หรือบุคคลที่กำลังได้รับความทุกข์หรือจะได้รับความทุกข์ในการข้างหน้า เนื่องจากได้พิจารณาเห็นเหตุแห่งความทุกข์นั้นแล้วมาเป็นอารมณ์

กรุณาเจตสิกนี้ เป็น อนิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ไม่แน่นอน หมายความว่า เมื่อระบุไว้ว่า ประกอบกับจิตดวงใดแล้ว แต่เมื่อจิตดวงนั้นเกิดขึ้น อาจมีกรุณาเจตสิกประกอบร่วมด้วยก็มี ไม่ประกอบร่วมด้วยก็มี และเป็นเจตสิกจำพวก นานากทาจิเจตสิก คือ ซึ่งเป็นเจตสิกที่ประกอบกับจิตได้เป็นบางครั้งบางคราวและเวลาประกอบก็ประกอบไม่พร้อมกัน ได้แก่ ในขณะที่ประกอบมหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ และรูปาวจรจิต ๑๒ [เว้นปัญจมฌานจิต ๓] ถ้าจิตเหล่านี้มีอารมณ์เป็นทุกขิตสัตว์คือสัตว์หรือบุคคลที่กำลังมีความทุกข์หรือจะได้รับความทุกข์ในกาลข้างหน้า กรุณาเจตสิกนี้จึงจะประกอบกับจิตเหล่านี้ แต่ถ้าจิตเหล่านี้มีอารมณ์เป็นอย่างอื่น กรุณาเจตสิกย่อมไม่ประกอบร่วมด้วย

กรุณาเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๒๘ ดวง คือ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘และรูปาวจรจิต ๑๒ [เว้นปัญจมฌานจิต ๓] ซึ่งเป็นการประกอบเป็นบางครั้งบางคราวและประกอบไม่พร้อมกัน เรียกว่า นานากทาจิเจตสิก ในรูปาวจรจิต ๑๒ [เว้นปัญจมฌานจิต ๓] นั้น หมายเอาการประกอบในกรณีที่พระโยคีบุคคลใช้ทุกขิตสัตว์เป็นอารมณ์ในการเจริญสมถะจนฌานจิตเกิดขึ้น แต่ถ้าพระโยคีบุคคลใช้อารมณ์อื่นในการเจริญสมถะ กรุณาเจตสิกย่อมไม่ประกอบกับฌานจิตนั้น ด้วยเหตุนี้ กรุณาเจตสิกที่ประกอบในรูปาวจรจิต ๑๒ [เว้นปัญจมฌานจิต ๓] จึงได้ชื่อว่า อนิยตโยคี ประเภทนานากทาจิกด้วย

กรุณาเจตสิก ย่อมเกิดพร้อมกับเจตสิกได้ ๓๓ ดวง คือ

ในขณะที่ประกอบกับมหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ และรูปาวจรจิต ๑๒ [เว้นปัญจมฌานจิต ๓] นั้น ย่อมเกิดพร้อมกับเจตสิกได้ ๓๓ ดวง ได้แก่ อัญญสมานเจตสิก ๑๓ โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ และปัญญินทรียเจตสิก ๑


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |