ไปยังหน้า : |
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๕๗๓ ท่านได้แสดงความหมายของอุตุสมุฏฐานไว้ ดังต่อไปนี้
คำว่า อุตุ [อุณหภูมิ] คือ เตโชธาตุ เตโชธาตุได้ชื่อว่า อุตุ เพราะทำให้โอกาสโลกทั้งหมดอุบัติเกิดและเจริญขึ้น โดยเป็นเหตุก่อให้เกิดโลก ทำให้สัตวโลกคือร่างกายที่มีสัณฐานทั้งหมดอุบัติเกิดและเจริญขึ้น โดยก่อให้เกิดสรีระต่าง ๆ และทำให้สังขารโลกทั้งหมดอุบัติเกิดและเจริญขึ้น โดยก่อให้เกิดพืชพันธุ์มีต้นไม้ต้นหญ้าต่าง ๆ และก้อนเมฆ ฝน น้ำ ไฟ และลม เป็นต้น
อาจารย์ทั้งหลายกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า อุตุ คือ อุณหภูมิที่เป็นไป [ตามความเหมาะสม]
เพราะฉะนั้น คำว่า อุตุ จึงมีความหมาย ๒ ประการ คือ
๑. สภาพที่ทำให้โลกทั้ง ๓ เป็นไป ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “อุทยติ ปสวตีติ อุตุ” แปลความว่า สภาพที่ทำให้ [โลกทั้ง ๓] เกิดและเจริญขึ้น ชื่อว่า อุตุ
๒. อุณหภูมิที่เป็นไปตามความเหมาะสม ดังมีวจนัตถะแสดงว่า“อรติ คจฺฉติ ปวตฺตตีติ อุตุ” แปลความว่า อุณหภูมิย่อมเป็นไปตามความยินดี [เหมาะสม] ชื่อว่า อุตุ
คำว่า สีตุณฺโหตุสมญฺาตา แปลความว่า ที่เรียกว่าความเย็นและความร้อนนี้ มีความหมายว่า ที่มหาชนชาวโลกทั้งหมดหมายรู้กันว่า นี้เป็นความเย็น นี้เป็นความร้อน
คำว่า ติปฺปตฺตาว แปลความว่า เมื่อถึงฐีติขณะ คือ เมื่อถึงความตั้งอยู่หรือฐีติขณะของตน หมายความว่า ไม่ใช่ขณะเกิดขึ้นอยู่เหมือนจิต ข้าพเจ้าได้กล่าวเหตุไว้แล้วรุ.๕๗๔
ในคัมภีร์วิภาวินีกล่าวข้อความที่ขึ้นต้นว่า “อุตุและโอชามีกำลังในฐีติขณะ เพราะได้รับเครื่องอุปถัมภ์จากปัจฉาชาตปัจจัยเป็นต้น เพราะฉะนั้น พระอนุรุทธาจารย์จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า เตโชธาตุ ติปฺปตฺตา แปลความว่า เตโชธาตุที่ถึงฐีติขณะ ในพากย์นั้น ข้าพเจ้า [พระฎีกาจารย์] ได้พิจารณ์คำว่า ปัจฉาชาตปัจจัย ไว้แล้ว
ถ้าการมีกำลังและการก่อให้เกิดรูปของอุตุพึงเนื่องด้วยปัจฉาชาตปัจจัย อุตุนั้นก็ไม่ควรก่อให้เกิดรูปในฐีติขณะของปฏิสนธิจิต เพราะไม่มีปัจฉาชาตปัจจัยในขณะปฏิสนธิ ทั้งพระอนุรุทธาจารย์ก็จักกล่าวต่อไปว่า “รูปที่มีอุตุเป็นสมุฏฐานเริ่มตั้งแต่ฐีติขณะ [ของปฏิสนธิจิต]” ในประโยคข้างต้นนี้ ข้อความว่า “ฐีติขณะ” คือ ฐีติขณะของปฏิสนธิจิต ดังนั้น จึงควรใคร่ครวญคำว่า “ปัจฉาชาตปัจจัย”
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๗๕ ได้แสดงความหมายของอุตุสมุฏฐานไว้ ดังต่อไปนี้
อุตุ หมายถึง อุณหภูมิ ความร้อนหรือความเย็น ที่มีอยู่ภายในและภายนอกรูปร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย รูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน เรียกว่า อุตุชรูป สำหรับอุตุชรูปที่เกิดขึ้นภายในสัตว์ทั้งหลายที่มีชีวิตนั้น อุตุชรูปย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่ฐีติขณะของปฏิสนธิจิตเป็นต้นไป ส่วนอุตุชรูปที่อยู่ภายนอกสัตว์ทั้งหลายนั้น เมื่อรูปตั้งขึ้นเรียบร้อยแล้ว เวลานั้นก็ทำให้อุตุชรูปเกิดขึ้นได้เรื่อยไปไม่ขาดสาย
อุตุที่เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดขึ้น ได้แก่ เตโชธาตุ คือ สีตเตโช ความเย็น และ อุณหเตโช ความร้อน ซึ่งมีอยู่ทั่วไปทั้งภายในและภายนอกสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย
อุตุที่ทำให้รูปเกิดขึ้นภายในสันดานของสัตว์ทั้งหลาย เรียกว่า อัชฌัตตอุตุ ได้แก่ รูปที่กระทำพลังงานความร้อนให้เกิดขึ้นภายในร่างกายของสัตว์และจะเกิดขึ้นทุก ๆ ขณะของจิต เริ่มตั้งแต่ฐีติขณะของปฏิสนธิจิตเป็นต้นไป
สำหรับอุตุที่ทำให้รูปเกิดขึ้นภายนอกสันดานของสัตว์นั้น เรียกว่า พหิทธอุตุ ได้แก่ อุตุที่อยู่ในวัตถุสิ่งอื่น ๆ เช่น ในพื้นดิน ในอากาศ แม่น้ำ ลำคลอง ภูเขา ต้นไม้ เป็นต้น รูปเหล่านี้ย่อมมีอุตุเป็นสมุฏฐานให้เกิดขึ้นได้เรื่อยไปจนกว่าจะสิ้นสลาย
อุตุชรูป คือ รูปที่เกิดจากอุตุ หรือเกิดจากเตโชธาตุนี้ มี ๑๓ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๔ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วิการรูป ๓
คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :
อุตุ หมายถึง อุณหภูมิ คือ ความร้อนหรือความเย็น ซึ่งได้แก่ ไฟธาตุที่มีอยู่ภายในและภายนอกร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย รูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานนี้ เรียกว่า อุตุชรูป
อุตุชรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากอุณหภูมิต่าง ๆ ได้แก่ สภาพแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ สายลม แสงแดด น้ำ เป็นต้น
อุตุชรูปที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของสัตว์มีชีวิต ที่เรียกว่า อัชฌัตตอุตุ นั้น ได้แก่ รูปที่กระทำพลังความร้อนให้เกิดขึ้นภายในร่างกายของสัตว์มีชีวิตและจะเกิดขึ้นทุก ๆ ขณะของจิต เริ่มตั้งแต่ฐีติขณะของปฏิสนธิจิตเป็นต้นไป เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อัชฌัตตเตโช แปลว่า เตโชธาตุที่เป็นไปภายในร่างกายของสัตว์มีชีวิต ซึ่งเป็นเตโชธาตุหรืออุตุที่เกิดจากกรรมของแต่ละบุคคล หรือของสัตว์แต่ละประเภท เช่น สัตว์เลือดอุ่น สัตว์เลือดเย็น เป็นต้น เพราะฉะนั้น อุตุหรืออุณหภูมิประเภทนี้ จึงเป็นสิ่งที่เกิดจากกรรมเป็นปัจจัย เรียกว่า กัมมปัจจยอุตุชรูป
ส่วนอุตุชรูปที่อยู่ภายนอกร่างกายของสัตว์ทั้งหลายนั้น เรียกว่า พหิทธอุตุ ได้แก่ อุณหภูมิหรือพลังงานที่อยู่ในวัตถุสิ่งของอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สัตว์มีชีวิต เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พหิทธเตโช แปลว่า เตโชธาตุที่เกิดอยู่ภายนอกร่างกายของสัตว์มีชีวิต เช่น ในพื้นดิน ในอากาศ ในแม่น้ำลำคลอง ต้นไม้ ภูเขา แก้ว แหวน เงิน ทอง เพชร นิล จินดา เป็นต้น รูปเหล่านี้ย่อมมีอุตุเป็นสมุฏฐาน เมื่อรูปเหล่านี้ตั้งขึ้นเรียบร้อยแล้ว อุตุชรูปย่อมเกิดขึ้นได้เรื่อยไปโดยไม่ขาดสาย อุตุชรูปประเภทนี้เป็นรูปที่เกิดจากอุณหภูมิเป็นปัจจัยอย่างเดียว เรียกว่า อุตุปัจจยอุตุชรูป
อุตุสมุฏฐาน มี ๒ อย่าง คือ ความร้อน เรียกว่า อุณหเตโช และความเย็น เรียกว่า สีตเตโช ซึ่งได้แก่ ไฟธาตุที่มีอยู่ภายในและภายนอกร่างกายของสัตว์มีชีวิตนั่นเองที่ทำให้รูปของสัตว์ทั้งหลายและรูปของสิ่งไม่มีชีวิตต่าง ๆ เกิดขึ้น
รูปที่เกิดจากอุตุหรือเตโชธาตุ ที่เรียกว่า อุตุชรูป นั้น มี ๑๓ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๔ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ และวิการรูป ๓