| |
เหตุให้เกิดอุทธัจจสัมปยุตต์ ๗ ประการ   |  

การที่บุคคลจะเกิดโมหมูลจิตที่เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ คือ ประกอบด้วยความฟุ้งซ่านซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ จนไม่สามารถสงบระงับอยู่ในอารมณ์อันเป็นกุศลได้นั้น มีเหตุปัจจัยสนับสนุน ๗ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ

๑. อัปปัสสุตตา เป็นผู้มีการศึกษาน้อย หมายความว่า เมื่อบุคคลเป็นผู้มีการศึกษาน้อย ทำให้สะสมความไม่รู้ไม่เข้าใจ และหมักหมมไว้ในใจ ทำให้คิดฟุ้งซ่านไปในสิ่งที่ตนไม่รู้ไม่เข้าใจนั้นโดยไม่รู้จะตัดสินใจทำอะไรดี จึงมักปล่อยวันเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ความดีความงามหรือประโยชน์ต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ทำให้เกิดขึ้น เพราะถูกความฟุ้งซ่านขวางกั้น ทำให้ขาดความมั่นใจที่จะริเริ่มทำสิ่งต่าง ๆ ลงไป ถ้ายังไม่สามารถคลายหรือบรรเทาให้เบาบางได้ ก็ทำให้หมักหมมความฟุ้งซ่าน จนบางคนกลายเป็นคนบ้าเสียสติ หรือจิตวิปปลาสไปก็มี

๒. อปริปุจฉตา เป็นผู้ที่ไม่ชอบสอบสวนทวนถามท่านผู้รู้ หมายความว่า เมื่อตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็มักเก็บกดความไม่รู้ไม่เข้าใจนั้นไว้ ไม่กล้าซักถามท่านผู้รู้ หรือ ชอบถามแต่ผู้ไม่รู้จริง ยิ่งสะสมความไม่รู้ให้เพิ่มพูนขึ้นไปอีก เพราะไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้คิดคาดคะเนฟุ้งซ่านหนักขึ้นไปอีก

๓. วินเย อปกตัญญุตา เป็นผู้ที่ไม่รอบรู้ในระเบียบวินัย หมายความว่า เป็นบุคคลที่ไม่ค่อยมีระเบียบวินัย และไม่ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องระเบียบวินัยให้ถูกต้อง เป็นเหตุให้เป็นคนขาดระเบียบวินัยกับตนเองและในสังคมอื่น ๆ ทำให้คนอื่นไม่ปรารถนาจะคบหาสมาคมด้วย และไม่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากบุคคลในสังคม ทำให้เกิดปมด้อยของชีวิต และบางคนก็ไม่รู้สึกตัวว่า ตนเองทำอะไรผิดไปหรือ สังคมจึงไม่ให้ความสำคัญ หรือทั้งที่รู้อยู่ แต่ด้วยอำนาจมานะทิฏฐิจึงไม่ยอมปรับปรุงตัวเอง มักปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอำนาจกิเลส ประพฤติผิดศีลธรรมของศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม จนทำให้เป็นที่รังเกียจของสังคม เมื่อหมักหมมนานเข้า ก็ทำให้เกิดความคิดฟุ้งซ่านไปในหนทางชีวิตที่ผิดพลาดของตนเองที่ดำเนินผ่านมาแล้ว และที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าว่า ควรจะทำอย่างไรดี ที่เคยดำเนินมานั้นถูกหรือผิด ดังนี้เป็นต้น จึงทำให้ขาดความมั่นใจในหนทางชีวิตและเกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่ขวนขวายในการแสวงหาความรู้และการสร้างคุณงามความดีต่อไป ได้แต่ครุ่นคิดฟุ้งซ่านอยู่ร่ำไป จนบางครั้งต้องคิดสร้างวิมานในอากาศ เช่น คิดให้ตนเป็นวีรบุรุษ ผู้ประสบผลสำเร็จทุกอย่าง เป็นต้น เพื่อเป็นการกลบเกลื่อนความรู้สึกผิดพลาดในชีวิตจริง กลายเป็นบุคคลผู้มีปมด้อยในชีวิต จนยากที่จะแก้ไขได้

๔. พุทธอเสริตา ไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า หมายความว่า เป็นบุคคลที่ไม่ได้ฟัง หรือไม่ค่อยได้ฟังสัทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จากกัลยาณมิตร หรือจากการอ่านหนังสือตำรับตำราต่าง ๆ ที่ถูกต้อง แต่มักได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไร้สาระไม่เป็นแก่นสาร จึงไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ทำให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน ไม่มั่นใจในเรื่องราวที่ตนเองรู้มา ถ้ายังไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้อง ก็มีจะความเก็บสะสมอย่างพอกพูนยิ่งขึ้น กลายเป็นปมด้อยของชีวิตไป

๕. ปาปมิตตตา การคบคนชั่วเป็นมิตร หมายความว่า เป็นบุคคลที่ชอบคบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีความคิดความเห็นที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมและมีพฤติกรรมไปในทางที่ไม่ดี ทั้งชอบแนะนำบุคคลอื่นไปในทางที่เสื่อมเสีย ก่อทุจริตต่าง ๆ อยู่เป็นนิตย์ เมื่อบุคคลเข้าไปคบหาสมาคมอยู่เสมอ ๆ ย่อมชักนำไปในทางฉิบหาย ชวนให้กระทำทุจริตกรรมต่าง ๆ เมื่อได้ทำทุจริตลงไปแล้ว เกิดสำนึกได้ในภายหลัง บางทีบางอย่างก็เป็นการสายเกินไปที่จะแก้ไขได้ ทำให้หนทางชีวิตมืดมนลง เป็นเหตุให้เกิดความคิดฟุ้งซ่านไปในเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วและความผิดพลาดที่ก่อขึ้น จนทำให้ไม่มั่นใจในการที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป โดยคิดว่า ตนเองจะสามารถสร้างคุณงามความดีได้อีกหรือไม่หนอ หรือว่า หนทางไหนเป็นหนทางผิด หนทางไหนเป็นหนทางที่ถูกต้องกันหนอ ดังนี้เป็นต้น เพราะขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนั่นเอง

๖. อสัปปายตา การไม่ได้สิ่งที่เป็นสัปปายะ หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับฟังข้อมูลที่ถูกต้องให้คลายความฟุ้งซ่าน ได้ฟังแต่ข้อมูลที่ทำให้เกิดความฟุ้งซ่านหมักหมมอยู่ในใจ เนื่องจากขาดเหตุปัจจัย คือ ไม่ได้คบหาสมาคมกับสัตบุรุษ และไม่ได้ฟังธรรมคำสอนจากสัตบุรุษ จึงทำให้เก็บกดความไม่รู้นั้นไว้ จนกลายเป็นความมืดมิด จิตใจไม่ปลอดโปร่ง ทำให้เกิดความฟุ่งซ่านอยู่เรื่อยไป

๗. อาสวสมุปปาโท การหมักหมมเรื่องอาสวะ หมายความว่า เป็นบุคคลที่ถูกกิเลสรุมเร้า หรือชอบหมักหมมในกองกิเลส จนปิดกั้นใจไม่ให้รู้ไม่ให้เข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ที่ประสบพบเห็น จึงคิดคาดคะเนเดาเอาตามความคิดความเห็นของตน เป็นเหตุให้หมักหมมความไม่รู้อันเป็นเหตุให้ฟุ้งซ่านหนักขึ้นไปอีก

เหตุปัจจัยแต่ละอย่างเหล่านี้ ทำให้บุคคลเกิดความสงสัยที่เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ หรือ เกิดความฟุ้งซ่าน ที่เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ได้ ผู้ศึกษาพึงทำการพิจารณาแต่ละอย่าง แล้วค้นหาข้ออธิบายให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้นไป ก็จะได้ความเข้าใจที่กว้างขวางยิ่งขึ้น สามารถหาทางป้องกันและแก้ไขได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |