| |
เจตนา ๖   |  

เจตนาเจตสิกจัดเป็นสังขารขันธ์ แปลว่า กองแห่งสังขาร ซึ่งเป็นสภาวธรรมที่เกิดกับจิต และเป็นประธานในการปรุงแต่งจิตให้ดี ให้ชั่ว หรือเป็นกลาง ๆ แล้วส่งผลถึงพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ทั้งทางกายและทางวาจาด้วย ในสังยุตตนิกายได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับเจตนาไว้โดยแบ่งออกเป็นเจตนา ๖ ประการ คือ

๑. รูปสัญเจตนา หมายถึง ความมุ่งหมายหรือจงใจต่อรูปที่ปรากฏทางจักขุทวาร คือ ทางตา ถ้ารูปนั้นเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าพอใจ เจตนาย่อมปรุงแต่งจิตและกระตุ้นเตือนสัญญาให้เกิดการจำและทำความสำคัญหมายต่อรูปนั้น เพื่อชื่นชม หรือเพื่อให้ได้ครอบครอง หรือขวนขวายที่จะได้เห็นรูปนั้นบ่อย ๆ หรือเพื่อสัมปยุตตธรรมทำการประเล้าประโลมใจให้สดชื่นเบิกบานอยู่เสมอ แต่ถ้ารูปนั้นเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ แต่เป็นอารมณ์ที่มีอิทธิพลต่อจิตใจมาก เจตนาย่อมกระตุ้นเตือนสัญญาให้เกิดการจดจำและทำความสำคัญหมายต่อรูปนั้นว่าเป็นสิ่งที่น่าเกลียด น่ากลัว น่าทำลายให้ย่อยยับไป เพื่อมิให้มีภัยเกิดขึ้นจากรูปนั้น ตลอดถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายกับรูปนั้น ๆ ด้วย

๒. สัททสัญเจตนา หมายถึง ความมุ่งหมายหรือความจงใจต่อเสียงที่มากระทบทางโสตทวาร หรือทางหู ถ้าเสียงนั้นเป็นอารมณ์ที่น่ายินดี น่าปรารถนา ย่อมเกิดความชอบใจ หรือหลงใหลในเสียง และปรารถนาที่จะได้ยินได้ฟังเสียงนั้นอยู่เสมอ ๆ ตลอดถึงขวนขวายหาบุคคล สัตว์ หรือสิ่งของที่เป็นต้นกำเนิดของเสียงนั้นมาไว้ในครอบครองและเชยชมเป็นสมบัติของตน แต่ถ้าเสียงนั้นเป็นอารมณ์ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าปรารถนา หรือทำให้เกิดความเกลียด ความกลัว ความอับอาย ย่อมเกิดปฏิกิริยาที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเสียงนั้น หรือต่อสัตว์ บุคคล วัตถุสิ่งของที่เป็นต้นกำเนิดของเสียงนั้น โดยพยายามผลักใส หนีห่าง หรือทำลายสิ่งนั้น ๆ ให้พินาศหายไป ตลอดถึงสัตว์ บุคคล หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อวัตถุสิ่งของที่มีสายพันธ์ หรือมีลักษณะที่คล้ายกับสัตว์ บุคคล หรือวัตถุสิ่งของนั้นด้วย

๓. คันธสัญเจตนา หมายถึง ความมุ่งหมายหรือความจงใจต่อกลิ่นที่มากระทบทางฆานทวาร คือ ทางจมูก ถ้ากลิ่นนั้นเป็นอารมณ์ที่น่ายินดี น่าปรารถนา ย่อมเกิดความชอบใจ หรือหลงไหลต่อกลิ่นนั้น และปรารถนาที่จะได้สูดดมกลิ่นเช่นนั้นอยู่เสมอ ๆ ตลอดถึงขวนขวายหาบุคคล สัตว์ หรือสิ่งของที่เป็นต้นเหตุของกลิ่นเช่นนั้นมาไว้เชยชมและครอบครองเป็นเจ้าของ จับจองเป็นสมบัติของตน แต่ถ้ากลิ่นนั้นเป็นอารมณ์ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าปรารถนา หรือเป็นที่น่ารังเกียจ ทำให้เกิดความสะอิดสะเอียน ตลอดถึงสัตว์ บุคคล หรือสิ่งของที่เป็นต้นเหตุของกลิ่นเช่นนั้น อันทำให้เกิดความหวาดสะดุ้งกลัวด้วย ย่อมทำการหลบหลีกหนีให้ห่างไกล หรือหาทางกำจัดต้นเหตุของกลิ่นนั้นให้หมดไปหายไป ด้วยอำนาจโทสะที่ประทุษร้ายต่ออารมณ์ โดยอาศัยเจตนาเป็นตัวกระตุ้นเตือนและปรุงแต่งให้เกิดการกระทำนั้นๆ ออกไป

๔. รสสัญเจตนา หมายถึง ความมุ่งหมายหรือความจงใจต่อรสที่มากระทบทางชิวหาทวาร คือ ทางลิ้น ถ้ารสนั้นเป็นอารมณ์ที่น่ายินดี น่าปรารถนา ย่อมเกิดความชอบใจ หรือหลงไหลต่อรส และปรารถนาที่จะได้ลิ้มชิมรสนั้นอยู่เสมอ ๆ ตลอดถึงขวนขวายหาบุคคล สัตว์ หรือสิ่งของที่เป็นต้นเหตุของรสเช่นนั้นมาไว้เชยชมและครอบครองเป็นเจ้าของ จับจองเป็นสมบัติของตน แต่ถ้ารสนั้น เป็นอนิฏฐารมณ์ คือ เป็นรสที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าปรารถนา หรือเป็นรสที่น่ารังเกียจ ทำให้เกิดความสะอิดสะเอียน ตลอดถึงสัตว์ บุคคล หรือสิ่งของที่เป็นต้นเหตุของรสนั้น ทำให้เกิดความสะอิดสะเอียนด้วยแล้ว ย่อมหลบหลีกปลีกหนีให้ห่างไกล หรือหาทางกำจัดต้นเหตุของรสนั้นให้หมดไปหรือหายไป ด้วยอำนาจโทสะที่ประทุษร้ายต่ออารมณ์ โดยอาศัยเจตนาเป็นตัวกระตุ้นเตือนและปรุงแต่งให้เกิดการกระทำนั้น ๆ ออกไป

๕. โผฏฐัพพสัญเจตนา หมายถึง ความมุ่งหมายหรือความจงใจต่อสิ่งสัมผัสที่มากระทบทางกายทวาร คือ ทางกาย ถ้าสัมผัสนั้นเป็นอารมณ์ที่น่ายินดี น่าปรารถนา ย่อมเกิดความชอบใจ หรือหลงไหลต่อสัมผัสนั้น และปรารถนาที่จะได้สัมผัสสิ่งนั้นอยู่เสมอ ๆ ตลอดถึงขวนขวายหาบุคคล สัตว์ หรือสิ่งของที่เป็นต้นเหตุของสัมผัสเช่นนั้นมาไว้เชยชมและครอบครองเป็นเจ้าของ จับจองเป็นสมบัติของตน แต่ถ้าสัมผัสนั้นเป็นอนิฏฐารมณ์ คือ เป็นสัมผัสที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าปรารถนา หรือเป็นที่น่ารังเกียจ ทำให้เกิดความสะอิดสะเอียน ตลอดถึงสัตว์ บุคคล หรือสิ่งของที่เป็นต้นเหตุของสัมผัสเช่นนั้น ทำให้เกิดความหวาดสะดุ้งกลัวด้วยแล้ว ย่อมหลบหลีกหนีให้ห่างไกล หรือหาทางกำจัดต้นเหตุของสัมผัสเช่นนั้นให้หมดไป หรือหายไป ด้วยอำนาจโทสะที่ประทุษร้ายต่ออารมณ์ โดยอาศัยเจตนาเป็นตัวกระตุ้นเตือนและปรุงแต่งให้เกิดการกระทำนั้น ๆ ออกไป

๖. ธัมมสัญเจตนา หมายถึง ความมุ่งหมายหรือความจงใจต่ออารมณ์ที่มาปรากฏทางมโนทวาร คือ ทางใจ ถ้าอารมณ์เป็นอิฏฐารมณ์ คือ ความรู้สึกที่น่ายินดี น่าปรารถนา ย่อมเกิดความชอบใจ หรือหลงไหลในอารมณ์นั้น และปรารถนาที่จะได้รู้สึกนึกคิดถึงอารมณ์นั้นอยู่เสมอ ๆ ตลอดถึงขวนขวายหาบุคคล สัตว์ หรือสิ่งของที่เป็นต้นเหตุของอารมณ์เช่นนั้นมาไว้เชยชมและครอบครองเป็นเจ้าของ จับจองเป็นสมบัติของตน แต่ถ้าอารมณ์นั้น เป็นอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าปรารถนา หรือเป็นที่น่ารังเกียจ ทำให้เกิดความสะอิดสะเอียน ตลอดถึงสัตว์ บุคคล หรือสิ่งของที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความรู้สึกนั้น ทำให้เกิดความสะอิดสะเอียนหรือทำให้เกิดความหวาดสะดุ้งกลัวด้วยแล้ว ย่อมหลบหลีกหนีให้ห่างไกล หรือหาทางกำจัดต้นเหตุของอารมณ์เช่นนั้นให้หมดไปหรือหายไป ด้วยอำนาจโทสะที่ประทุษร้ายต่ออารมณ์ โดยอาศัยเจตนาเป็นตัวกระตุ้นเตือนและปรุงแต่งให้เกิดการกระทำนั้น ๆ ออกไป

ในวิสุทธิมรรคอรรถกถา ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ได้อธิบายคำว่า สังขาร ไว้ว่า สังขารทั้งหลาย แม้เป็นอย่างเดียวโดยลักษณะก็จริง แต่ว่าโดยชาตินั้นแบ่งเป็น ๓ คือ กุศล อกุศล อัพยากตะ ในสังขารทั้ง ๓ นั้น สังขารที่สัมปยุตต์ด้วยกุศลวิญญาณ [กุศลจิต] จัดเป็นกุศลสังขาร สังขารที่สัมปยุตต์ด้วยอกุศลวิญญาณ [อกุศลจิต] จัดเป็นอกุศลสังขาร สังขารที่สัมปยุตต์ด้วยอัพยากตวิญญาณ [วิบากจิตและกิริยาจิต] จัดเป็นอัพยากตสังขาร


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |