| |
อบุญกิริยาวัตถุ ๑๐   |  

อบุญกิริยาวัตถุ หมายถึง เหตุที่ทำไปแล้ว ทำให้เกิดอกุศลกรรมขึ้นมาได้ ซึ่งตรงข้ามกับบุญกิริยาวัตถุในฝ่ายกุศล คือ

๑. อทานะ การไม่ให้วัตถุสิ่งของ เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลคนอื่น ซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจความโลภ ความตระหนี่หวงแหน หรือความไม่พอใจ

๒. อสีละ ความไม่สำรวมระวังกายวาจาให้เป็นปกติเรียบร้อย มักปล่อยไปตามอำนาจกิเลส ทำให้เกิดการล่วงละเมิดวีติกกมโทษต่าง ๆ ทางกาย และทางวาจา

๓. อภาวนียะ การไม่อบรมจิตให้มีความสงบประณีต หรือไม่อบรมสติปัญญาให้มีให้เกิดขึ้น มักปล่อยไปตามความฟุ้งซ่าน

๔. อนัปปจายนะ การไม่อ่อนน้อมถ่อมตน ต่อผู้ใหญ่โดยวัย โดยวุฒิ หรือโดยชาติ ด้วยอำนาจมานะ คือ ความเย่อหยิ่งถือตัว หรือด้วยอำนาจมักขะ คือ ความลบหลู่บุญคุณท่าน เป็นต้น

๕. อเวยยาวัจจะ การไม่ขวนขวายช่วยเหลือในกิจที่ชอบธรรม อันเป็นกิจที่ควรทำ ด้วยอำนาจความโกรธ ความไม่พอใจ หรือความเย่อหยิ่งถือตัวเข้าครอบงำ

๖. อปัตติทานะ การไม่แบ่งส่วนบุญ ไม่บอกบุญ ด้วยอำนาจความตระหนี่ หรือ ความไม่ชอบใจ

๗. อปัตตานุโมทนา การไม่อนุโมทนาบุญที่บุคคลอื่นทำแล้ว ด้วยอำนาจความหลงความไม่รู้ หรือด้วยอำนาจความอิจฉาริษยา เห็นคนอื่นทำดีแล้วไม่ชอบใจ

๘. อสัทธัมมัสสวนะ การไม่ฟังพระสัทธรรม ด้วยอำนาจความปรารถนาลามก ตกอยู่ใต้อำนาจความอยากบางอย่าง หรือ ด้วยอำนาจความหลง ความไม่รู้ หรือ ความไม่ชอบใจ

๙. อสัทธัมมเทสนา การไม่ชี้แจงแสดงสัทธรรมความจริงให้บุคคลอื่นได้รู้ได้เข้าใจ ด้วยอำนาจความปรารถนาลามก ตกอยู่ใต้อำนาจความอยากบางอย่าง หรือ ด้วยอำนาจความตระหนี่หวงแหน หรือ ความไม่ชอบใจ

๑๐. มิจฉาทิฏฐิกัมม์ การทำความเห็นให้ผิดไปจากหลักทำนองคลองธรรม ด้วยอำนาจความปรารถนาลามก ตกอยู่ใต้อำนาจความอยากบางอย่าง หรือ ด้วยอำนาจความหลง ความไม่รู้ หรือ ความไม่ชอบใจ หรือความเห็นผิด เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ ย่อมเป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดขึ้น ตามสมควรแก่สภาพของสิ่งนั้นๆ และสภาพของอกุศลจิตดวงนั้น ๆ หมายความว่า เมื่อบุคคลปรารภอกุศลกรรมบถ ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี หรือ อบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี แล้วจึงเกิดอกุศลขึ้นมา เช่น เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ความถือตัวถือตน ความเห็นผิด ความอิจฉาริษยา ความตระหนี่ ความลังเลสงสัย เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |