| |
ลักขณาทิจตุกะของอโทสเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาพของอโทสเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์ที่พิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. อะจัณฑิกกะลักขะโณ วา อะวิโรธะลักขะโณ มีความไม่ดุร้าย เป็นลักษณะ หรือ มีความไม่เคร่งเครียด เป็นลักษณะ หมือนมิตรผู้อนุบาลช่วยเหลือ หมายความว่า สภาพของอโทสเจตสิกนี้มีความไม่ดุร้าย ไม่หยาบกระด้าง ทำให้สภาพจิตมีความเป็นมิตรไมตรีกับบุคคลหรืออารมณ์ที่รับรู้นั้น เมื่ออโทสะเกิดขึ้นกับบุคคลใดแล้ว ภายในความรู้สึกของบุคคลนั้น ย่อมไม่มีความดุร้าย ไม่ผูกโกรธแต่อย่างใด แม้จะมีความโกรธ ความอาฆาตแค้นเคือง ความหงุดหงิดรำคาญใจ เป็นต้นอยู่ก็ตาม แต่เมื่อมีอโทสเจตสิกเกิดขึ้นพร้อมกับสัมปยุตตธรรมที่เข้ากันได้แล้ว อาการแห่ง โทสเจตสิกย่อมระงับดับหายไปหมดสิ้น มีแต่ความคิดที่จะคอยช่วยเหลือเกื้อกูล เปรียบเหมือนบิดามารดาที่มีความเอ็นดูต่อบุตรธิดา ฉันนั้น

๒. อาฆาตะปะริฬาหะวินะยะระโส มีการกำจัดความอาฆาตและความเร่าร้อน เป็นกิจ เหมือนเนื้อไม้จันทน์หอม ที่กำจัดความร้อนเหนียวเหนอะหนะ ทำให้เกิดความเย็นสบายได้ ฉันนั้น หมายความว่า สภาพของอโทสเจตสิกย่อมกำจัดความอาฆาต พยาบาท จองเวร หรือความหงุดหงิดรำคาญใจด้วยอำนาจโทสะให้สงบลงได้ มีการให้อภัยแก่คนที่กระทำผิดต่อตนเองได้ เป็นต้น

๓. โสมะภาวะปัจจุปปัฏฐาโน มีความร่มเย็น เป็นอาการปรากฏ เหมือนเงาแห่งจันทร์เพ็ญ หมายความว่า สภาพของอโทสเจตสิกนี้ย่อมเป็นไปตรงข้ามกับโทสเจตสิก โทสเจตสิกนั้นมีสภาพที่เร่าร้อนเดือดดาล ส่วนภาพของอโทสเจตสิกนี้ มีความสงบเย็น การที่บุคคลมีจิตใจสงบเยือกเย็นเป็นสุข ผู้ใดได้พบเห็นก็พลอยสบายใจไปด้วย ที่เป็นดังนี้ เพราะบุคคลนั้นมีสภาพอโทสเจตสิกเกิดขึ้นในจิตใจ ทำให้มีความรักความเมตตาต่อบุคคลและสัตว์ทั้งหลาย

๔. โยนิโสมะนะสิการะปะทัฏฐา โน มีโยนิโสมนสิการ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า เมื่อบุคคลพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริงของชีวิต มีการพิจารณาว่า ในสังสารวัฏนี้ คนที่ไม่เคยเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นพ่อ เป็นแม่กัน เป็นต้นนั้น ไม่มี ล้วนแต่เคยเป็นมาแล้วทั้งนั้น เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะรักใคร่สามัคคี อนุเคราะห์เกื้อกูลกัน เป็นต้น เมื่อคิดพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายเช่นนี้แล้ว อโทสะย่อมเกิดขึ้น

คุณธรรมคืออโทสะนี้ ย่อมเป็นปัจจัยแก่ความเป็นหนุ่มเป็นสาว เพราะบุคคลที่ไม่มักโกรธ ย่อมไม่ถูกไฟ คือ โทสะแผดเผาให้หนังเหี่ยวย่นเป็นริ้วรอย เส้นผมก็ไม่หงอก ย่อมยังความเป็นหนุ่มสาวให้อยู่ได้นาน ๆ

ขันติ คือ ความอดทนต่อเหตุที่ทำให้เจ็บใจ

เมตตา คือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข

คุณธรรม ๒ ประการนี้ องค์ธรรมได้แก่ อโทสเจตสิก นั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |