| |
จิตตชรูปที่เกี่ยวกับอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ ตั้งมั่น   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๕๙ ได้แสดงอธิบายเรื่องจิตตชรูปที่เกี่ยวกับอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ ตั้งมั่น ไว้ดังต่อไปนี้

จิตตชรูปที่เกี่ยวกับอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ ตั้งมั่น หมายถึง กิริยาอาการ เดิน ยืน นั่ง นอน ที่เป็นไปอย่างปกติของบุคคลที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนนั้น เรียกว่า จิตตชรูปที่เกี่ยวกับอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ ตั้งมั่น และจิตที่ทำให้อิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ ตั้งมั่นได้นั้น มี ๕๘ ดวง ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนจิต ๒๙ อัปปนาชวนจิต ๒๖ อภิญญาจิต ๒

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

จิตตชรูปที่เกี่ยวกับอิริยาบถใหญ่ตั้งมั่น หมายถึง กิริยาอาการ ยืน เดิน นั่ง นอน ที่เป็นไปในเวลาปกติธรรมดาของบุคคลที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน หรือไม่มีความอาพาธทางจิตด้วยอำนาจโสกะ ปริเทวะ โทมนัส และอุปายาส มีสภาพจิตใจที่ปลอดโปร่งโล่งใจ มีความอาจหาญร่าเริง หรือในขณะที่จิตมีสมาธิตั้งมั่น เป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ เป็นที่สุด เป็นจิตตชรูปที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจจิต ๕๘ ดวงคือ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนจิต ๒๙ อภิญญาจิต ๒ และอัปปนาชวนจิต ๒๖ เฉพาะวิถีจิตอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปที่เกี่ยวกับอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ ตั้งมั่น เช่น การนั่ง การนอน ที่หนักแน่นมั่นคง การยืนและการเดินที่ทรงตัวได้อย่างมั่นคง มีความองอาจผ่าเผย กลุ่มรูปที่เกิดจากจิตเหล่านี้ มีจำนวน ๑๒ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ กายวิญญัติรูป ๑ และวิการรูป ๓ [เว้นสัททรูปและวจีวิญญัติรูป] เกิดขึ้นตามสมควร มีกลาปรูปเกิดได้ ๑ ประเภทเท่านั้น คือ กายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป แปลว่า กลุ่มรูป ๑๒ รูป มีกายวิญญัติรูปเป็นประธานและมีวิการรูป ๓ เกิดร่วมอยู่ด้วย ได้แก่ การเคลื่อนไหวอิริยาบถที่เป็นไปด้วยอาการคล่องแคล่วและมั่นคง ในเวลาที่ร่างกายเป็นปกติธรรมดา อันเนื่องมาจากมีลหุตารูป คือ ความเบา มุทุตารูป คือ ความอ่อนโยน และกัมมัญญตารูป คือ ความเหมาะควรแก่การงาน เกิดร่วมอยู่ด้วยนั่นเอง

หมายเหตุ... ปริจเฉทรูป ไม่จัดเป็นองค์ของกลาปรูปในทุกกลาป เพราะเป็นเพียงอากาศธาตุที่ขีดขั้นรูปกลาปหนึ่งกับอีกรูปกลาปหนึ่งให้แยกจากกัน ทำให้อุตตมญาณมีวิปัสสนาปัญญา เป็นต้น สามารถกำหนดพิจารณาเห็นได้เท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |