ไปยังหน้า : |
กรรมที่ทำให้อารมณ์ของมรณาสันนวิถี คือ วิถีจิตที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้จะตาย ซึ่งเป็นวิถีจิตวาระสุดท้ายก่อนที่บุคคลนั้นจะตายลงปรากฏขึ้นได้นั้น มี ๔ อย่าง คือ
๑. ครุกกรรม หมายถึง กรรมหนัก อันกรรมอื่นไม่สามารถจะหักห้ามการให้ผลของกรรมประเภทนี้ได้ หรือไม่สามารถจะชิงโอกาสที่จะให้ผลก่อนได้ ซึ่งมีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม
ฝ่ายกุศลกรรมนั้น ได้แก่ มหัคคตกุศลกรรม ๙ คือ รูปฌานกุศล ๕ อรูปฌานกุศล ๔ ที่จะนำให้เกิดเป็นรูปพรหมหรืออรูปพรหม ตามสมควรแก่กำลังของตน กรรมเหล่านี้ย่อมทำให้กรรมนิมิตอารมณ์ปรากฏได้อย่างเดียว
ในฝ่ายอกุศลกรรมนั้น ได้แก่
๑] นิยตมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดที่ยึดติดเหนียวแน่นยากที่จะละคลายได้ มี ๓ ประเภท ได้แก่
[๑] อเหตุกทิฏฐิ เห็นว่าเหตุไม่มี หมายถึง มีความเห็นว่า ผลดีผลชั่วย่อมเกิดขึ้นเอง โดยไม่มีเหตุทำให้เกิด คือ คนจะดี ก็ดีเอง คนจะชั่ว ก็ชั่วเอง จะสุข ก็สุขเอง จะทุกข์ ก็ทุกข์เอง เป็นต้น
[๒] นัตถิกทิฏฐิ เห็นว่าผลไม่มี หมายถึง มีความเห็นว่า การทำดีทำชั่วต่าง ๆ ไม่มีผลเกิดขึ้นข้างหน้าแต่อย่างใด ทำแล้วก็แล้วไป ตายไปก็สูญ หรือเกิดใหม่ ก็เป็นคนใหม่ เป็นต้น
[๓] อกิริยทิฏฐิ เห็นว่าไม่เป็นอันทำ หมายถึง มีความเห็นว่า การทำดีทำชั่วไม่ชื่อว่าเป็นการกระทำ คือ การกระทำนั้นไม่ชื่อว่าเป็นกรรม โดยเห็นว่าการกระทำทุกอย่างเป็นแต่เพียงธาตุอย่างหนึ่งกระทบกับธาตุอีกอย่างหนึ่งเท่านั้น
๒] ปัญจานันตริยกรรม คือ อกุศลกรรมอันหนัก ๕ ประการ ได้แก่
[๑] มาตุฆาต ฆ่ามารดาบังเกิดเกล้าที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน
[๒] ปิตุฆาต ฆ่าบิดาบังเกิดเกล้าที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน
[๓] อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ที่เป็นมนุษย์
[๔] โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงกับห้อพระโลหิต
[๕] สังฆเภท ทำลายสงฆ์ที่สามัคคีพร้อมเพียงกัน ให้แตกแยกกัน
กรรมทั้งหลายเหล่านี้ ดังกล่าวแล้วทั้งฝ่ายกุศลกรรมและฝ่ายอกุศลกรรม เป็นกรรมหนัก ถ้ามีกรรมที่สูงกว่า กรรมที่ต่ำรองลงมา ย่อมไม่มีโอกาสส่งผล กล่าวคือ
ในฝ่ายบรรดากุศลครุกกรรมนั้น สมาบัติที่ ๙ ได้แก่ เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลกรรมย่อมให้ผลก่อน รองลงมาตามลำดับ คือ อากิญจัญญายตนกุศล วิญญาณัญจายตนกุศล อากาสานัญจายตนกุศล ปัญจมฌานกุศล จตุตถฌานกุศล ตติยฌานกุศล ทุติยฌานกุศล และปฐมฌานกุศล เมื่อกุศลครุกกรรมที่หนักกว่าให้ผลแล้ว กุศลครุกกรรมอื่นที่เบากว่า ย่อมไม่มีโอกาสให้ผลอีก กลายเป็นอโหสิกรรมไป
ในฝ่ายอกุศลก็เช่นเดียวกัน อกุศลครุกกรรมที่หนักกว่าย่อมให้ผลก่อน อกุศลครุกกรรมที่เบากว่าย่อมเป็นอโหสิกรรมไป ในบรรดาอกุศลครุกกรรมทั้ง ๖ อย่างนั้น อกุศลกรรมที่หนักที่สุด คือ นิยตมิจฉาทิฏฐิ รองลงมาตามลำดับ คือ สังฆเภท โลหิตุปบาท อรหันตฆาต มาตุฆาต ปิตุฆาต [หรือปิตุฆาต มาตุฆาต แล้วแต่ใครจะมีคุณธรรมมากกว่ากัน ถ้ามารดาบิดามีคุณธรรมเสมอกันก็ดี ไร้คุณธรรมด้วยกันก็ดี หรือมารดามีคุณมากกว่าบิดาก็ดี มาตุฆาตกรรมย่อมให้ผลก่อนปิตุฆาตกรรม เพราะถือว่ามารดาเป็นผู้ให้กำเนิดบุตรธิดา แต่ถ้าบิดามีคุณธรรมมากกว่ามารดา ปิตุฆาตกรรมย่อมให้ผลก่อนมาตุฆาตกรรม]
อนึ่ง อกุศลครุกกรรมนั้น ย่อมสามารถห้ามการให้ผลของกุศลครุกกรรมได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะปัญจานันตริยกรรม ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลใดกระทำขึ้นแล้ว อกุศลปัญจานันตริยกรรมนั้นย่อมห้ามการเกิดขึ้นของกุศลครุกกรรมทุกอย่าง คือ ไม่สามารถทำฌานกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งให้บังเกิดขึ้นได้เลย ส่วนกุศลครุกกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสูญไป และไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นใหม่ได้อีก เช่น พระเทวทัตทำ โลหิตุปบาทและสังฆเภท ฌานกุศลที่เป็นสมาบัติทั้ง ๘ [หรือ ๙] ที่เคยได้แล้วนั้น ก็เสื่อมสูญไป และไม่สามารถกระทำให้เกิดขึ้นใหม่ได้อีก
ส่วนนิยตมิจฉาทิฏฐินั้น ถ้าบุคคลไม่ได้กระทำปัญจานันตริยกรรม ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งด้วย ย่อมสามารถแก้ไขและสามารถละคลายได้ แต่ถ้าบุคคลนั้นกระทำปัญจานันตริยกรรม ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยอำนาจนิยตมิจฉาทิฏฐิแล้ว ย่อมไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้อีกเลย แม้จะได้รับการละคลายจากนิยตมิจฉาทิฏฐิแล้วก็ตาม แต่อำนาจของปัญจานันตริยกรรมนั้น ย่อมเป็นเครื่องขัดขวางครุกกรรมฝ่ายกุศลไม่ให้เกิดขึ้นได้เลย
อนึ่ง ครุกกรรมฝ่ายอกุศลนั้น นอกจากจะห้ามการให้ผลและการเกิดขึ้นของครุกกรรมฝ่ายกุศล คือ สมาบัติทั้ง ๙ แล้ว ยังเป็นเครื่องห้ามมรรค ผล นิพพาน ด้วย กล่าวคือ เมื่อบุคคลกระทำปัญจานันตริยกรรม ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งลงไปแล้ว ย่อมไม่สามารถแก้ไขเยียวยาให้สามารถบรรลุมรรคผลได้เลย ยกตัวอย่างเช่น พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทำปิตุฆาตกรรม คือ รับสั่งให้ทรมานพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดาจนสิ้นพระชนม์ แม้ภายหลังจะสำนึกพระองค์ได้ แล้วพยายามทำบุญกุศลต่าง ๆ มากมาย ทั้งได้ฟังสามัญญผลสูตรจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ชีวกัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจจ์ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถจะบรรลุธรรมได้ ซึ่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพยากรณ์ว่า ถ้าพระเจ้าอชาตศัตรูไม่ได้ปลงพระชนม์พระราชบิดาก่อน เขาจะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน หลังจากฟังพระธรรมเทศนาสามัญญผลสูตรนี้จบลง แต่เพราะปิตุฆาตกรรมได้กระทำอันตรายแก่การบรรลุมรรคผลเสียแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูจึงพลาดโอกาสอันยิ่งใหญ่นั้นไป
อำนาจแห่งอนันตริยกรรมทั้ง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ไม่มีกรรมอื่นสามารถลบล้างได้ นอกจากอนันตริยกรรมที่มีกำลังหนักกว่าเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลกระทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปแล้ว ภายหลังสำนึกตนได้ แม้จะพยายามสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่เพื่อลบล้างอนันตริยกรรมนั้นก็ตาม ย่อมไม่สามารถลบล้างได้เลย อนันตริยกรรมยังคงทรงกำลังอยู่ พร้อมที่จะให้ผลเกิดในมหานรกขุมใดขุมหนึ่ง ตามแต่กำลังของกรรมนั้นจะหนักมากหรือบรรเทาลงมาเท่านั้น ตัวอย่างเช่น พระเทวทัตกระทำอนันตริยกรรม ๒ อย่าง คือ โลหิตุปบาทและสังฆเภท เมื่อสำนึกตนได้ขณะถูกแผ่นดินสูบ และได้น้อมจิตถวายกระดูกคางเป็นพุทธบูชา แต่ก็ต้องไปสู่มหานรกอเวจี และพระเจ้าอชาตศัตรูกระทำปิตุฆาตกรรม ภายหลังสำนึกพระองค์ได้ พยายามกระทำกุศลกรรมต่าง ๆ มากมาย ซึ่งผลงานที่สำคัญคือทรงรับเป็นพระบรมราชูปถัมภ์ในการกระทำปฐมสังคายนาพระธรรมวินัย ทำให้ปิตุฆาตกรรมนั้นบรรเทาเบาบางลงบ้าง ไม่ต้องไปสู่มหานรกขุมใดขุมหนึ่ง แต่เกิดในยมโลกนรก ชื่อว่า โลหกุมภีนรก คือ นรกหม้อทองแดง ซึ่งเป็นนรกที่อยู่ห่างออกไปจากอุสสทนรก อันเป็นนรกขุมย่อยรองจากมหานรกอีกระดับหนึ่ง นับเป็นขุมนรกที่มีความทุกข์ทรมานน้อยที่สุดกว่านรกขุมอื่น ๆ ในระดับเดียวกันรุ.๖๘๑
๒. อาสันนกรรม หมายถึง กรรมที่กระทำเมื่อเวลาใกล้จะตายหรือได้ระลึกถึงกรรมนั้นเมื่อเวลาใกล้จะตาย กล่าวคือ กรรมที่เกิดขึ้นก่อนที่มรณาสันนวิถีจะเกิดขึ้นนั่นเอง ซึ่งมีได้ทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล ในฝ่ายกุศลนั้น เรียกว่า กุสลาสันนกรรม ในฝ่ายอกุศล เรียกว่า อกุสลาสันนกรรม ถ้าไม่มีครุกกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวแล้ว อาสันนกรรมนี้ย่อมมีโอกาสให้ผล คือ ย่อมกระทำนิมิตที่เป็นกรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่งให้ปรากฏแก่มรณาสันนวิถีได้ ถ้าเป็นฝ่ายกุศลอาสันนกรรม ย่อมนำให้เกิดในสุคติภูมิ ถ้าเป็นฝ่ายอกุศลอาสันนกรรม ย่อมนำให้เกิดในทุคติภูมิ
๓. อาจิณณกรรม หมายถึง กรรมที่ทำเป็นนิตย์หรือระลึกถึงอยู่บ่อย ๆ ได้แก่ กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ได้กระทำหรือได้ระลึกถึงอยู่เสมอ ๆ ถ้าไม่มีครุกกรรมและอาสันนกรรมแล้ว อาจิณณกรรมนี้ย่อมสามารถให้ผลได้ หรืออาจิณณกรรมนี้ถ้ามีกำลังมากกว่าอาสันนกรรมแล้ว ย่อมสามารถชิงโอกาสให้ผลก่อนอาสันนกรรมได้ โดยกระทำอารมณ์ให้ปรากฏแก่มรณาสันนวิถี ถ้าเป็นกุศลอาจิณณกรรม ย่อมนำไปสู่สุคติภูมิ แต่ถ้าเป็นอกุศลอาจิณณกรรม ย่อมนำไปสู่ทุคติภูมิ อนึ่ง ในระหว่างอาสันนกรรมกับอาจิณณกรรมนั้น ท่านมีอุปมาเปรียบเหมือนวัว ๒ ตัว คือ วัวหนุ่มกับวัวแก่ ที่อยู่ในคอกเดียวกัน วัวแก่อยู่ติดประตูคอก ส่วนวัวหนุ่มนั้นอยู่ลึกถัดไปภายในคอก เมื่อนายโคบาลเปิดประตูคอกแล้ว วัวตัวไหนมีโอกาสหรือมีกำลังมากกว่า ย่อมสามารถออกไปได้ก่อน ในกรณีที่วัวแก่อยู่ติดประตูคอก ย่อมสามารถออกไปได้ก่อน หรือยืนขวางประตูคอกอยู่ ถึงจะมีเรี่ยวแรงน้อยก็ตาม แต่ย่อมถูกวัวหนุ่มดันให้ออกไปก่อน วัวหนุ่มจึงจะออกไปจากคอกได้ อีกกรณีหนึ่ง ถ้าวัวแก่ยืนอยู่ใกล้ประตูคอก แต่ไม่ได้ยืนขวางประตูคอกไว้ วัวหนุ่มย่อมสามารถแซงออกไปก่อนได้ อุปมานี้ มีอุปไมยเหมือนกับอาสันนกรรมและอาจิณณกรรม กล่าวคือ อาสันนกรรมเปรียบเหมือนวัวแก่ ส่วนอาจิณณกรรมเปรียบเหมือนวัวหนุ่ม อาสันนกรรมนั้นเป็นกรรมที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้จะตาย เพราะฉะนั้น จึงมีกำลังอ่อน เนื่องจากจิตและเจตสิกมีกำลังเหลือน้อยใกล้จะดับแล้วนั่นเอง ส่วนอาจิณณกรรมนั้นเป็นกรรมที่ทำในเวลาที่ร่างกายและจิตใจเป็นปกติ เพราะฉะนั้น จึงมีกำลังเต็มที่ แต่อาสันนกรรมนั้นเป็นกรรมที่อยู่ใกล้มรณาสันนวิถีมากกว่าอาจิณณกรรม จึงมีโอกาสที่มรณาสันนวิถีจะรับเอาไว้ได้ก่อน ส่วนอาจิณณกรรมนั้น เป็นกรรมที่อยู่ไกลจากมรณาสันนวิถี เพราะฉะนั้น โอกาสที่มรณาสันนวิถีจะรับเอานั้น จึงเป็นการยากกว่า แต่ถ้าอาจิณณกรรมนั้น มีกำลังมากกว่า ย่อมสามารถปรากฏแก่มรณาสันนวิถีได้ก่อนอาสันนกรรม ดังอุปมาเรื่องวัวหนุ่มดังกล่าวแล้ว
๔. กตัตตากรรม หมายถึง กรรมที่กระทำโดยมิได้หวังผลให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด เรียกว่า กรรมที่กระทำโดยไม่มีเจตนา คือ ไม่มีเจตนาในการกระทำ ได้แก่ กุศลกรรมและอกุศลกรรมที่ได้กระทำไปโดยมิได้ตั้งใจไว้ก่อน หรือกุศลกรรม อกุศลกรรมที่ไม่ครบองค์ประกอบแห่งกรรมบถ จัดเป็นกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้าไม่มีกรรม ๓ อย่างข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นหน้าที่ของกตัตตากรรมที่จะให้ผล โดยเป็นผู้กระทำอารมณ์ให้ปรากฏแก่มรณาสันนวิถี ถ้าเป็นกุศลกตัตตากรรม ย่อมนำให้ไปสู่สุคติภูมิ ถ้าเป็นอกุศลกตัตตากรรม ย่อมนำให้ไปสู่ทุคติภูมิ