ไปยังหน้า : |
ทวารทั้ง ๖ นั้น มีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านพระโบราณาจารย์จึงเปรียบเทียบทวารด้วยสัตว์มีชีวิต ๖ ประเภทจิ.๑๐ คือ
๑. ตาเปรียบเหมือนงู เพราะปกติของงูนั้นชอบซอกซอนไปในที่ลี้ลับ ตาก็มักต้องการเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่ปกปิดไว้เสมอเช่นกัน
๒. หูเปรียบเหมือนจระเข้ เพราะปกติของจระเข้นั้น มักชอบกบดานนอนอยู่ในวังน้ำวนที่เย็น ๆ หูก็ชอบฟังถ้อยคำที่อ่อนหวานอยู่เสมอเช่นกัน
๓. จมูกเปรียบเหมือนนก เพราะปกติของนกนั้นมักชอบโผผินบินไปในอากาศ จมูกก็ชอบสูดดมกลิ่นต่าง ๆ ที่ลมโชยมาอยู่เสมอเช่นกัน
๔. ลิ้นเปรียบเหมือนสุนัขบ้าน เพราะปกติของสุนัขบ้านนั้นมักชอบปล่อยให้น้ำลายไหลอยู่เสมอ ลิ้นก็อยากจะลิ้มชิมรสต่าง ๆ อยู่เสมอเช่นกัน
๕. กายเปรียบเหมือนสุนัขจิ้งจอก เพราะปกติของสุนัขจิ้งจอกนั้นมักชอบหลบนอนตามซอกเขาที่อบอุ่น กายก็ชอบสัมผัสต่าง ๆ ที่อบอุ่นอยู่เสมอเช่นกัน
๖. ใจเปรียบเหมือนลิง เพราะปกติของลิงนั้น ในเวลาตื่นมักชอบวิ่งซุกซน กระโดดโลดเต้นไปตามกิ่งไม้ มักไม่หยุดนิ่ง ใจก็มักชอบดิ้นรนกลับกลอกไปในอารมณ์ต่าง ๆ ไม่หยุดนิ่งเหมือนกัน
แต่ที่กล่าวมานี้ เป็นแต่เพียงข้ออุปมาเท่านั้น ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ทวารทั้งหลาย เป็นแต่เพียงกัมมชรูปและภวังคจิต ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ที่ปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาเพียงเพื่อเป็นช่องทางให้จิตและเจตสิกเข้าออกรับรู้อารมณ์นั้น ๆ เท่านั้น ไม่มีบทบาทในการไปจัดแจงปรุงแต่งชีวิตของสัตว์ทั้งหลายให้ดีหรือชั่วได้ ส่วนชีวิตของสัตว์ทั้งหลายจะดีหรือชั่ว จะเป็นบุญหรือเป็นบาปนั้น ขึ้นอยู่กับจิตและเจตสิกอันเป็นนามธรรมนั่นเอง ฉะนั้น บัณฑิตพึงให้ความสำคัญกับจิตให้มาก เพราะจิตที่บุคคลฝึกฝนดีแล้ว ย่อมนำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาให้แก่บุคคลนั้น ยิ่งกว่าบุคคลผู้เป็นที่รักทำให้เสียอีก ในทางตรงกันข้าม ถ้าจิตของบุคคลใดตั้งไว้ผิดแล้ว จิตนั่นแหละ ย่อมนำทุกข์และความฉิบหายมาให้แก่บุคคลนั้น ยิ่งกว่าศัตรูคู่อาฆาตทำให้เสียอีก