| |
กัลยาณมิตตธรรม ๘ ประการ   |  

นอกจากนี้ในมหาฏีกา ยังแสดงคุณสมบัติของผู้ที่ควรเป็นครูผู้เป็นกัลยาณมิตรไว้อีก ๘ ประการ คือ

๑. สัทธาสัมปันโน เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสัทธา หมายถึง เป็นผู้มีความเชื่อต่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม และเชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นสมบัติของตน ตั้งใจบำเพ็ญประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายโดยไม่เลือกหน้า

๒. สีลสัมปันโน เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล หมายถึง เป็นผู้ที่มีมารยาท มีจริยาวัตรงดงาม ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของศีลธรรม เคารพต่อกฎเกณฑ์และกติกาของสังคม

๓. สุตสัมปันโน เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยการศึกษา หมายถึง เป็นผู้มีประสบการณ์ในการศึกษา ได้ยินได้ฟังมามาก และเป็นไปโดยถูกต้อง หรือมีประสบการณ์ในการทำงาน มีประสบการณ์ในการประพฤติปฏิบัติ เป็นพหูสูต สามารถแสดงแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ดีงามได้อย่างถูกต้อง

๔. จาคสัมปันโน เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยการบริจาค หมายถึง การเป็นบุคคลผู้เสียสละประโยชน์แก่บุคคลอื่นและประโยชน์เพื่อสังคมประเทศชาติและพระศาสนา มีความมักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ

๕. วิริยสัมปันโน เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยความเพียร หมายถึง การเป็นผู้ที่ได้เคยผ่านประสบการณ์ในกิจการงานต่าง ๆ มาอย่างเชี่ยวชาญ ผ่านปัญหาอุปสรรคในชีวิตมาพอสมควร สามารถอดใจรอคอยความสำเร็จของงาน โดยไม่ใจเร็วด่วนได้

๖. สติสัมปันโน เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสติ หมายถึง การเป็นผู้มีความระลึกรู้สึกตัวอยู่เสมอ มีจิตสำนึกที่ดีงาม ไม่พลั้งเผลอ หรือไม่ประมาทเลินเล่อ อันเป็นบ่อเกิดของความเสียหาย หรือทำให้บุคคลอื่นขาดความเคารพนับถือและไม่ไว้วางใจให้กระทำกิจการงานต่าง ๆ กลายเป็นบุคคลผู้ไม่มีหลักฐานชีวิตที่มั่นคง

๗. สมาธิสัมปันโน เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ หมายถึง การเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระสับกระส่าย คือ เป็นผู้มีความสงบเยือกเย็น สุขุมคัมภีรภาพ มีจิตใจหนักแน่น ไม่มีอาการร้อนรนงุ่นง่าน

๘. ปัญญาสัมปันโน เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา หมายถึง การเป็นผู้มีความรอบรู้และเข้าใจในแนวทางแห่งความดีงาม สามารถอธิบายรายละเอียดในวิธีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามหลักทำนองคลองธรรมได้เป็นอย่างดี

เมื่อบุคคลได้คบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีคุณสมบัติแห่งความเป็นกัลยาณมิตรเช่นนี้แล้ว ย่อมได้รับฟังสิ่งที่ดีงามและได้รับแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามหลักทำนองคลองธรรมอันดีงาม จิตใจของบุคคลนั้นย่อมปลอดโปร่งโล่งสบาย ห่างไกลจากิเลสตัณหา มีความดำริริเริ่มในการงานที่ดีและป้องกันอกุศลบาปธรรมมิให้ครอบงำจิตได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |