| |
๓. โสมนัสสเวทนา   |  

โสมนัสสเวทนา เกิดขึ้นในขณะที่ทำหน้าที่เสวยรสชาติแห่งธรรมารมณ์ที่กระทบทางใจ เป็นความรู้สึกที่เป็นสุขทางใจ ที่ประกอบกับโสมนัสสสหคตจิต ๖๒ ดวง เรียกว่า สุขใจ ในขณะที่ได้รับอารมณ์ที่ดียิ่ง เรียกว่า อติอิฏฐารมณ์ คือ ความรู้สึกนึกคิดที่ดี น่าปรารถนา น่าชอบใจ เช่น คิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เคยได้ประสบมา หรือได้รับรู้ความรู้สึกภายในจิตใจ รับรู้ปฏิกิริยาของบุคคลอื่นสัตว์อื่น ตลอดถึงบัญญัติอารมณ์ต่าง ๆ แล้วเกิดความรู้สึกยินดีพอใจ

ลักขณาทิจตุกะของโสมนัสสเวทนา

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของโสมนัสสเวทนา อันนับเนื่องในเวทนาขันธ์ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. อิฏฐารัมมะณานุภะวะนะลักขะณัง มีการเสวยอารมณ์ที่น่าปรารถนา ทั้งที่เป็น สภาวอิฏฐารมณ์ หรือ ปริกัปปอิฏฐารมณ์ เป็นลักษณะ หมายความว่า เอกลักษณ์ประจำตัวของโสมนัสสเวทนา ที่ปรากฏเกิดขึ้นย่อมมีการเสวยรสชาติแห่งอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าชอบใจ น่ารักใคร่ยินดี ทั้งที่เป็นสภาวอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่ายินดีโดยสภาพของมันเอง เช่น คนที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม เป็นต้น หรือปริกัปปอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่ายินดีเฉพาะของบุคคลบางจำพวก เช่น พ่อแม่มีลูกที่ไม่สวยงาม แต่ลูกก็เป็นอิฏฐารมณ์ของพ่อแม่ได้ เรียกว่า ปริกัปปอิฏฐารมณ์ หรือ ซากศพ ของเน่าเหม็น เป็นที่ชอบใจของอีแร้ง อีกา แต่ไม่เป็นที่ปรารถนาของบุคคลทั่วไป เป็นต้น เหล่านี้เรียกว่า ปริกัปปอิฏฐารมณ์ เมื่อได้ประสบกับอิฏฐารมณ์ทั้ง ๒ อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมทำให้เกิดความสุขทางใจ ในขณะนั้น เวทนาเจตสิกที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสสหคตจิต ย่อมทำหน้าที่เสวยรสชาติแห่งอติอิฏฐารมณ์ ที่เป็นธรรมารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าชอบใจ

๒. อิฏฐาการะสัมโภคะระสัง มีการเสวยอารมณ์ด้วยความพอใจ เป็นกิจ หมายความว่า หน้าที่ของโสมนัสสเวทนานี้ ย่อมมีการเสวยรสแห่งอารมณ์ที่เป็น อติอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าชอบใจอย่างยิ่ง ด้วยความพอใจ ซึ่งสภาพของอารมณ์นั้น อาจจะเป็นสภาวอติอิฏฐารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าชอบใจอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นไปโดยสภาวะตามที่เป็นจริง คือ อารมณ์นั้น เป็นกุศลก็ดี เกิดจากกุศล เนื่องด้วยกุศล หรือเป็นปริกัปปอติอิฏฐารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าชอบใจอย่างยิ่ง ที่ไม่ได้เป็นไปโดยสภาวะตามที่เป็นจริง แต่เป็นไปเฉพาะบุคคล เฉพาะกาล เท่านั้น ซึ่งไม่ตรงกับสภาพที่เป็นจริง เช่น อารมณ์เป็นอกุศลก็ดี เกิดจากอกุศลก็ดี หรือเนื่องด้วยอกุศลก็ตาม แต่บุคคลนั้นรับโดยความเป็นโลภะ ชอบใจ ติดใจหลงใหล เข้าใจว่าเป็นสิ่งมีคุณค่า น่าหวงแหน หรือรับด้วยอำนาจมหากุศลจิต เช่น เห็นสัตว์เดรัจฉาน ที่ประสบทุกข์ทรมาน แล้วเกิดความสงสาร เป็นต้น หรืออารมณ์นั้น เป็นกุศลก็ดี เกิดจากกุศลก็ดี เนื่องด้วยกุศลก็ดี แต่บุคคลนั้นรับโดยความเป็นโลภะ เช่น ชอบใจ หลงใหล เป็นต้น เมื่อเกิดการรับรู้อติอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ดียิ่ง อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเกิดความยินดี พอใจ ชอบใจ ในขณะนั้น โสมนัสสเวทนาเจตสิก ย่อมเกิดขึ้นทำหน้าที่เสวยรสชาติแห่งอติอิฏฐารมณ์นั้น ด้วยความสุขใจ

๓. จิตตะอัสสาทะปัจจุปปัฏฐานัง มีความแช่มชื่นแห่งจิต เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า เมื่อมีความพอใจ มีความสุขใจแล้ว อาการที่ปรากฏออกมาให้รู้สึกได้ หรือให้บุคคลอื่นสังเกตเห็นได้ ก็คือ ความเบิกบานใจ ความชุ่มชื่นใจ และทำให้ความตึงเครียด ความหงุดหงิดรำคาญใจ หรือความฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ พลอยสงบระงับไปด้วย เช่น ในขณะใดที่มีความสุขใจ รื่นเริงสนุกสนาน ในขณะนั้น ความเครียด ความหงุดหงิด ความรำคาญใจ ความเดือดร้อนใจ ที่เป็นกุกกุจจะก็ดี หรือความฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ อันมีสภาพซัดส่ายจับอารมณ์ไม่มั่น ที่เป็นอุทธัจจะก็ดี เหล่านี้ ย่อมสงบระงับดับลงไป เพราะฉะนั้น ในการเจริญสมถกรรมฐาน สุของค์ฌาน เมื่อเกิดขึ้นและมีกำลังมากแล้ว ย่อมข่มอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ให้สงบราบคาบไป ไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาออกมาได้

๔. ปัสสัทธิปะทัฏฐานัง มีความสงบกายและความสงบใจ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า เหตุใกล้ที่ทำให้โสมนัสสเวทนาเกิดขึ้นได้นั้น ได้แก่ ความสงบกายและความสงบใจ ความสงบกาย หมายถึง สภาพร่างกายไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ หรือไม่ได้ทุพพลภาพ มีความเป็นปกติดี ความสงบใจ หมายถึง จิตใจมีความปกติดีไม่ได้รับความกระทบกระเทือนใจจากปัญหาอุปสรรคอย่างหนึ่งอย่างใด หรือไม่ได้ประสบกับพยสนะ ๕ มีโภคพยสนะ ความพินาศแห่งโภคสมบัติ เป็นต้น หรือ บุคคลนั้น มีความสงบจากกิเลส ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง อนึ่ง คำว่า ปัสสัทธิ นั้น ได้แก่ เจตสิกธรรม ๒ ดวง คือ ๑] กายปัสสัทธิเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำให้เจตสิกขันธ์ ๓ ที่เกิดพร้อมกับตนนั้น สงบระงับจากสภาวะแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย ๒] จิตตปัสสัทธิเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำให้จิตสงบระงับจากอำนาจอกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อมีปัสสัทธิเจตสิก ๒ ดวงนี้แล้ว ย่อมช่วยปรับสภาพของสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนให้มีความสงบระงับจากสภาพของอกุศลบาปธรรมที่ทำให้เกิดความเศร้าหมองเดือดร้อนทั้งปวงได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดโสมนัสสเวทนานี้โดยตรง ก็ได้แก่ ปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ นี้ เพราะว่า โสมนัสสเวทนาเป็นนามธรรม ปัสสัทธิเจตสิก ๒ ดวง ก็เป็นนามธรรม ที่ประกอบร่วมกับโสมนัสสเวทนานั้น ดังนั้น นามธรรมกับนามธรรมด้วยกันย่อมช่วยอุดหนุนกันได้มากกว่า สภาพของรูปธรรมที่จะมาอุดหนุนนามธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยโดยอ้อม ผู้ศึกษาพึงกำหนดพิจารณาทำความเข้าใจโดยละเอียด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |