| |
เหตุให้เกิดอโยนิโสมนสิการ ๕ ประการ   |  

การที่บุคคลจะมีความคิดเห็นที่เป็นอโยนิโสมนสิการ คือ ความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้องตามหลักทำนองคลองธรรม หรือความคิดเห็นที่ไม่เป็นกุศล ไม่ประกอบ ด้วยสัมมาทิฏฐิ หรือเป็นความคิดเห็นที่จมลงไปในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและบุคคลอื่น เป็นความคิดเห็นที่หลุดออกจากกรอบแห่งความดีงามและความเจริญ หรือเป็นไปเพื่อก่อทุกข์ก่อโทษโดยส่วนเดียวนั้น มีปัจจัยสนับสนุน ๕ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ

๑. ปุพเพ อกตปุญญตา การไม่ได้ทำบุญที่เกี่ยวกับเรื่องของปัญญาไว้ในปางก่อน อันเป็นอดีตเหตุ หมายความว่า เป็นบุคคลที่ไม่ได้ทำบุญกุศลมาด้วยปัญญา มักทำโดยไม่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งทำได้ง่ายกว่า ไม่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ หรือไม่ต้องใช้ความคิดมาก ด้วยเหตุนี้ เมื่อสำเร็จเป็นผลออกมา จึงทำให้เป็นผู้ที่ไม่มีปัญญาในการที่จะพิจารณาเหตุผลของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้ถูกอวิชชาครอบงำได้โดยง่าย เป็นเหตุให้เกิดอโยนิโสมนสิการอยู่เสมอ แม้จะมีคนบอกคนแนะนำให้ ก็มักไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมรับฟัง ยังหลงงมงายอยู่เช่นนั้นเรื่อยไป

๒. อัปปฏิรูปเทสวาโส การอยู่ในประเทศที่ไม่สมควร หมายความว่า การที่บุคคลอยู่ในประเทศที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ สถานที่อันเต็มไปด้วยอารมณ์ที่ทำให้เกิดอกุศลธรรมได้ง่าย เช่น หมู่บ้านสลัม บ่อนการพนัน หรือสถานที่เริงรมย์ต่าง ๆ ที่เต็มไปด้วยอบายมุข หรือสถานที่ใดที่เข้าไปแล้ว ทำให้อกุศลที่ยังไม่เกิด มีโอกาสเกิดขึ้นมา อกุศลที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ยิ่งเจริญงอกงามขึ้น ส่วนกุศลที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่มีโอกาสได้เกิดขึ้น กุศลที่เกิดขึ้นแล้ว มีแต่จะเสื่อมสิ้นไป ไม่สามารถรักษาสภาพของกุศลไว้ได้ สถานที่เช่นนั้น ชื่อว่า อัปปฏิรูปเทส คือ สถานที่อันไม่สมควร เมื่อบุคคลเข้าไปอยู่ในสถานที่นั้นนานเข้า ก็ทำให้จิตใจหลงใหลไปตามอารมณ์ที่ยั่วยุเหล่านั้นได้ง่าย ทำให้ขาดปัญญา อีกอย่างหนึ่ง เป็นผู้ที่ไม่ค่อยได้รับการศึกษาที่ดี ขาดตัวอย่างที่ดี จึงทำให้เกิดอโยนิโสมนสิการขึ้นมาได้

๓. อสัปปุริสูปนิสสโย การคบหาสมาคมกับอสัตบุรุษ หมายความว่า การที่บุคคลได้คบหาสมาคมกับอสัตบุรุษ คือ ผู้มีความรู้ชั่ว มีความประพฤติต่ำทราม มีความคิดไม่แยบคาย เมื่อบุคคลไปคบหาสมาคมเข้า ทำให้อสัตบุรุษนั้นแนะนำชักชวนไปในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามต่าง ๆ เช่น ชักชวนให้ดื่มน้ำเมา ชักชวนให้เล่นการพนัน ชักชวนเที่ยวเตร่ดูการเล่น หรือชักชวนให้ทำโจรกรรมต่าง ๆ เป็นต้น แนะนำไปในแนวทางวิถีแห่งคนพาล เหมือนกับพระเจ้าอชาตศัตรู คบหาสมาคมกับพระเทวทัต จึงทำให้เกิดอโยนิโสมนสิการ สร้างความเสื่อมเสียต่าง ๆ มากมาย จนยากที่จะเยียวยาแก้ไขได้ เป็นต้น

๔. อสัทธัมมัสสวนัง การฟังแต่อสัทธรรม หมายความว่า เป็นผู้ที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญทางด้านคุณธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม หรือเป็นผู้ที่ไม่ชอบฟังพระสัทธรรม ชอบฟังแต่อสัทธรรม หรือไม่มีโอกาสได้ฟังพระสัทธรรม จึงทำให้บุคคลนั้น มีความดำริผิด ประกอบด้วยอกุศลวิตกต่าง ๆ ขาดประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงทำให้ขาดปัญญาในการพิจารณาเหตุผลตามความเป็นจริง จึงทำให้เกิดอโยนิโสมนสิการได้

๕. อัตตมิจฉาปณิธิ การตั้งตนไว้ในทางที่ผิด หมายความว่า เป็นผู้ที่ตั้งตนไว้ในทางที่ผิดจากหลักพื้นฐานแห่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของสังคมหรือหลักธรรมของศาสนาที่ถูกต้อง จึงทำให้เป็นคนไร้เหตุผล ไม่ยอมรับฟังใคร มีความมุทะลุดุดัน ปล่อยตัวปล่อยใจให้ไหลไปตามกระแสกิเลสโดยมาก มีความคิดไม่แยบคายในอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นต้น จึงทำให้เกิดอโยนิโสมนสิการขึ้นมาได้

เหตุปัจจัยทั้ง ๕ ประการเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นปัจจัยให้เกิดอโยนิโสมนสิการทั้งสิ้น อนึ่ง เหตุปัจจัยทั้ง ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันได้ กล่าวคือ เพราะเหตุที่บุคคลไม่ได้ทำบุญที่ประกอบด้วยปัญญาไว้ในปางก่อน จึงทำให้ไม่ได้เกิดในสถานที่อันเป็นปฏิรูปเทส เมื่อไม่ได้เกิดในปฏิรูปเทสแล้ว ก็ทำให้ไม่ได้คบหาสมาคมกับสัตบุรุษ เพราะสัตบุรุษทั้งหลายย่อมเลือกอยู่ในสถานที่อันเหมาะสมโดยมาก เมื่อไม่ได้คบหาสมาคมกับสัตบุรุษแล้ว ก็ทำให้ไม่ได้ฟังพระสัทธรรมคำสอนอันดีงาม ที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข เมื่อไม่ได้ฟังพระสัทธรรมคำสอนที่ดีงามแล้ว การที่บุคคลนั้นจะมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรเป็นประโยชน์และอะไรไม่เป็นประโยชน์เป็นต้นนั้น ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว บุคคลนั้นก็ไม่สามารถตั้งตนไว้ในทางที่ชอบได้ ย่อมตั้งตนไว้ในทางที่ผิดโดยมาก เพราะขาดเหตุปัจจัยสนับสนุนกล่าวคือ เหตุปัจจัยภายในได้แก่ บุพเพกตปุญญตา และเหตุปัจจัยภายนอก ได้แก่ กัลยาณมิตร นั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |