ไปยังหน้า : |
เจตนาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่จัดแจงสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนไว้ในอารมณ์ หมายความว่า เป็นสภาวธรรมที่มีสภาพเป็นผู้กระตุ้นเตือนสัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนในจิตดวงเดียวกันให้มุ่งมั่นในการกระทำกิจของตน ๆ ไม่ให้เหลื่อมล้ำกัน หรือเป็นสภาวธรรมที่เป็นเหตุให้สัมปยุตตธรรม เจ.๙ ทั้งหลายสามารถกระทำกิจของตนได้โดยสะดวก โดยไม่ก้าวก่ายหรือเกี่ยงงอนในการกระทำกิจของตน ๆ ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยในการรับรู้อารมณ์แต่ละครั้ง จึงเรียกว่า ผู้จัดแจงสัมปยุตตธรรม ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “อารัมมะเณสุ สัมปะยุตตะธัมเม เจตะยันตีติ เจตะนา [วา] อัตตะโน อัตตะโน กิจจัง กะโรนติ เอเตนาติ เจตะนา” แปลความว่า ธรรมชาติที่จัดแจงสัมปยุตตธรรมไว้ในอารมณ์ทั้งหลาย ชื่อว่า เจตนา [หรืออีกนัยหนึ่ง] สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย ย่อมกระทำกิจของตน ๆ ได้เพราะอาศัยธรรมชาตินั้น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น จึงชื่อว่า เจตนา
เพราะฉะนั้น คำว่า เจตนา จึงหมายถึง สภาวธรรมที่จัดแจงสัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนให้สามารถกระทำกิจของตน ๆ ไปได้โดยสะดวกและสำเร็จเรียบร้อยโดยไม่บกพร่อง