| |
คุณสมบัติพิเศษของปุริสภาวรูป   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๒๖๘ อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ได้แสดงคุณลักษณะพิเศษของปุริสภาวรูปไว้ดังต่อไปนี้

ปุริสภาวรูปมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ มี ๔ ประการ มีลักษณะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลักขณาทิจตุกกะ มีดังต่อไปนี้

๑. ปุริสภาวลกฺขโณ มีภาวะของความเป็นชาย เป็นลักษณะ

๒. ปุริโสติปกาสนรโส มีการประกาศให้รู้ว่าเป็นชาย เป็นกิจ

๓. ปุริสลิงฺคนิมิตฺตกุตฺตากปฺปานํ การณภาวกรณปจฺจุปฏฺาโน มีภาวะคือการกระทำให้รูปร่างสัณฐาน เครื่องหมาย นิสัย กิริยาอาการ ปรากฏออกมา เป็นผลปรากฏ

๔. จตุมหาภูตปทฏฺาโน มีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

คำอธิบายของผู้เขียน:

จากวิเสสลักษณะหรือลักขณาทิจตุกกะของปุริสภาวรูปที่ท่านแสดงไว้ข้างต้นนั้น ผู้เขียนขออธิบายขยายความหมายเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นดังต่อไปนี้

๑. ปุริสภาวลกฺขโณ มีภาวะของความเป็นชาย เป็นลักษณะ หมายความว่า ปุริสภาวรูปนี้ ย่อมมีสภาพความเป็นชายที่บุคคลนั้นสามารถรู้สึกได้ด้วยตนเอง ประจำอยู่ในใจหรือในความรู้สึกส่วนลึก หรือบุคคลอื่นสามารถสังเกตรู้ได้ว่า บุคคลนั้นเป็นชาย โดยอาศัยเครื่องหมายต่าง ๆ ที่แสดงออกมาโดยมีปุริสภาวรูปนั้นเป็นเหตุสำคัญ เพราะฉะนั้น คุณลักษณะพิเศษเฉพาะตนของปุริสภาวรูปนี้ ย่อมมีสมรรถภาพให้บุคคลนั้นเกิดความรู้สึกในความเป็นชายของตนเองได้ตามประสิทธิภาพแห่งปุริสภาวรูปที่กรรมสร้างมา กล่าวคือ ถ้ากรรมที่สร้างปุริสภาวรูปนั้นมีกำลังเข้มแข็งเต็มที่ ย่อมสร้างความเป็นชายขึ้นมาให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ ทำให้บุคคลนั้นมีความรู้สึกในความเป็นชายอย่างเต็มที่ ทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ถ้ากรรมที่สร้างปุริสภาวรูปนั้นมีกำลังบกพร่องไป ย่อมสร้างความเป็นชายขึ้นมาให้มีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ ทำให้บุคคลนั้นมีความรู้สึกในความเป็นชายได้ไม่เต็มทีเช่นเดียวกัน มีความรู้สึกว่าตนเอง เป็นหญิงบ้าง เป็นชายบ้าง เช่น คนที่เป็นตุ๊ด กะเทย เป็นต้น

๒. ปุริโสติปกาสนรโส มีการประกาศความเป็นชาย เป็นกิจ หมายความว่า ปุริสภาวรูปนี้ ย่อมมีบทบาทสำคัญต่อความรู้สึกในความเป็นชายของบุรุษแต่ละคนหรือสัตว์เพศผู้แต่ละตัว และทำให้บุคคลอื่นหรือสัตว์อื่นสามารถสังเกตรู้ได้ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ชายหรือสัตว์ตัวนั้นเป็นตัวผู้ เพราะปุริสภาวรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วไปในร่างกายของบุรุษนั้นเป็นปัจจัยสำคัญให้เครื่องหมายต่าง ๆ ปรากฏออกมา เช่น ผิวพรรณ อวัยวะแขน ขา หน้าตา หน้าอก เส้นผม เส้นขน หรือกิริยายืน เดิน นั่ง นอน การพูด น้ำเสียง ของเล่น การงานที่ชอบทำ หรืออวัยวะเพศ เป็นต้น คล้าย ๆ กับว่า ปุริสภาวรูปนี้พยายามที่จะประกาศความเป็นชายออกมาให้ปรากฏแก่บุคคลทั้งหลาย ฉันนั้น แต่แท้ที่จริงแล้ว ปุริสภาวรูปนี้ มีสภาพเป็นอัพยากตะ คือ สภาพธรรมที่ไม่มีการขวนขวายให้สิ่งใดเกิดขึ้นแต่ประการใด มีสภาพเป็นอจิตตกะ คือ ไม่มีเจตนาบงการบังคับบัญชาหรือจัดแจงให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นไปตามที่ตนหรือบุคคลใดปรารถนาทั้งสิ้น แต่มีสภาพเป็นสังขตธรรม คือ ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งให้ปรากฏเกิดขึ้น ได้แก่ มีกรรมเป็นสมุฏฐาน มีสภาพเป็นวิบากคือเป็นผลแห่งกรรม และมีกรรมเป็นผู้ปรุงแต่ง เป็นไปตามอำนาจแห่งกรรม เพราะฉะนั้น ปุริสภาวรูปนี้จึงไม่สามารถประกาศบอกใคร ๆ ให้รู้ถึงความเป็นชายได้ แต่เพราะมีสมรรถภาพอันเป็นคุณสมบัติที่เป็นฐานรองรับความรู้สึกในความเป็นชายของบุคคลนั้น ๆ ที่เรียกว่า สัมปัตติรส คือ หน้าที่อันเป็นคุณสมบัติที่ติดมากับปุริสภาวรูปนั่นเอง ที่ให้ปรากฏความรู้สึกในความเป็นชายและเครื่องหมายแห่งบุรุษต่าง ๆ ออกมาให้ปรากฏ จึงเป็นไปคล้ายกับว่า พยายามกระตุ้นตนเองว่า ตนเป็นผู้ชาย และประกาศบอกแก่บุคคลทั้งหลายว่า บุคคลนี้เป็นผู้ชายหรือสัตว์ตัวนี้เป็นสัตว์เพศผู้ เป็นต้น

๓. ปุริสลิงฺคนิมิตฺตกุตฺตากปฺปานํ การณภาวกรณปจฺจุปฏฺาโน มีภาวะคือการกระทำให้รูปร่างสัณฐาน เครื่องหมาย นิสัย กิริยาอาการ ปรากฏออกมา เป็นผลปรากฏ หมายความว่า ผลปรากฏของปุริสภาวรูปนี้ ที่ทำให้ตนเองก็ดี บุคคลอื่นก็ดี สามารถรู้สึกในความเป็นชายของตนได้ หรือสามารถสังเกตรู้ในความเป็นชายได้นั้น ก็คือ ทำให้รูปร่างสัณฐาน นิสัยใจคอ นิมิตเครื่องหมาย และอากัปกิริยาต่าง ๆ ที่ปรากฏออกมาจากบุคคลนั้น โดยมีปุริสภาวรูปนี้เองเป็นเหตุปัจจัยสำคัญ ถ้าไม่มีปุริสภาวรูปแล้ว เครื่องหมายต่าง ๆ เหล่านี้ ย่อมปรากฏเกิดขึ้นไม่ได้เลย เช่น ในร่างกายของผู้หญิงหรือสัตว์เพศเมีย ย่อมไม่มีเครื่องหมายต่าง ๆ ที่เป็นของเฉพาะผู้ชายหรือสัตว์เพศผู้ปรากฏขึ้นเลย หรือในสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลาย ย่อมไม่มีเครื่องหมายที่บ่งบอกว่า เป็นเพศผู้หรือเพศเมียเลย [นอกจากบุคคลกำหนดหมายหรือสมมุติกันขึ้นมาเองเท่านั้น] ก็เพราะสิ่งที่ไม่มีชีวิตเหล่านี้ไม่มีปุริสภาวรูปและอิตถีภาวรูปนั่นเอง เพราะฉะนั้น ปุริสภาวรูปนี้ย่อมมีสมรรถภาพพิเศษเฉพาะตน คือ การกระทำให้รูปร่างสัณฐาน เครื่องหมาย นิสัย กิริยาอาการ ปรากฏออกมาดังกล่าวแล้ว

๔. จตุมหาภูตปทฏฺาโน มีมหาภูตรูป ๔ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า ปุริสภาวรูปนี้ เป็นหนึ่งในอุปาทายรูป ๒๔ คือ เป็นรูปธรรมที่ต้องอาศัยมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นฐานรองรับในการเกิดขึ้นทั้งสิ้น เพราะปุริสภาวรูปนี้เป็นเพียงรูปธรรมที่ซึมซาบ อยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเท่านั้น ไม่มีรูปร่างสัณฐานปรากฏอยู่โดยเฉพาะ และสิ่งที่ปุริสภาวรูปซึมซาบอยู่นั้น ก็ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลมเป็นหลัก โดยมีธาตุดินเป็นสภาพแข็งเป็นที่อาศัยซึบซาบอยู่ มีธาตุน้ำเป็นเครื่องยึดเกาะธาตุอื่น ๆ ให้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน มีธาตุไฟเป็นสภาพอุณหภูมิให้อยู่ในสภาพที่พอเหมาะกัน มีธาตุลมเป็นตัวกระพือพัดปรับอุณหภูมิให้พอเหมาะ อนึ่ง ในบรรดารูปกลาปทั้งหมดนั้น ย่อมมีมหาภูตรูปทั้ง ๔ รวมเป็นองค์ประกอบสำคัญอยู่ทุกกลาป ปุริสภาวรูปนี้ก็มีสภาพเป็นกลาป เรียกว่า ปุริสภาวทสกกลาป แปลว่า กลุ่มรูป ๑๐ รูป มีปุริสภาวรูปเป็นประธาน ซึ่งใน ๑๐ รูปนั้น ได้แก่ ปุริส ภาวรูป ๑ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ และอาหารรูป ๑ เพราะฉะนั้น ปุริสภาวรูปนี้จะปรากฏเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นฐานรองรับที่สำคัญดังกล่าวแล้ว

สรุปความแล้ว ปุริสภาวรูปนี้ย่อมมีสภาพความเป็นชายเป็นลักษณะ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกถึงความเป็นชายได้ หรือเป็นเหตุให้บุคคลอื่นสามารถสังเกตรู้ถึงความเป็นชายได้โดยอาศัยปุริสภาวรูปนี้ มีหน้าที่อันเป็นคุณสมบัติเฉพาะตนเหมือนกับว่า พยายามประกาศให้บุคคลนั้นหรือบุคคลอื่นรู้ว่าเป็นชาย เป็นสัมปัตติรส คือ หน้าที่อันปรากฏจากคุณสมบัติ มีการเป็นเหตุให้รูปร่างสัณฐาน เครื่องหมาย นิสัย กิริยาอาการ ปรากฏออกมา เป็นผลปรากฏ มีสภาพคล้ายกับว่า จัดแจงให้สิ่งเหล่านี้ปรากฏขึ้น แต่ความจริงแล้ว ความเป็นไปของปุริสภาวรูปก็ดี เครื่องหมายต่าง ๆ ที่ปรากฏออกมาโดยมีปุริสภาวรูปเป็นเหตุสำคัญก็ดี ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยของตน ๆ ทั้งสิ้น โดยที่ปุริสภาวรูปไม่มีอำนาจใด ๆ มาจัดแจงหรือบงการบังคับบัญชาให้เป็นไปแต่ประการใด มีสภาพเป็นอนัตตาล้วน ๆ และปุริสภาวรูปนี้ต้องมีมหาภูตรูป ๔ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด จึงจะปรากฏเกิดขึ้นได้ เพราะปุริสภาวรูปเป็นอุปาทายรูป คือ รูปที่ต้องอาศัยมหาภูตทั้ง ๔ เกิด เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีมหาภูตรูปทั้ง ๔ แล้ว ปุริสภาวรูปนี้ก็ไม่มีที่อาศัยเกิด และย่อมปรากฏเกิดขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกัน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |