| |
ลักขณาทิจตุกะของเวทนาเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของเวทนาเจตสิก โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. อะนุภะวะนะลักขะณา มีการเสวยอารมณ์ทั้ง ๖ เป็นลักษณะ หมายความว่า เอกลักษณ์เฉพาะตนของเวทนาเจตสิก เมื่อเกิดขึ้นคราวใด ย่อมมีลักษณะปรากฏให้บัณฑิตผู้มีปัญญาอันละเอียดลึกซึ้งมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น สามารถพิจารณารู้ได้ว่า เวทนานี้มีการเสวยรสชาติแห่งอารมณ์ นอกจากเวทนาเจตสิกแล้ว สัมปยุตตธรรมอย่างอื่น ย่อมไม่มีคุณสมบัติในการรู้รสชาติของอารมณ์เหมือนกับเวทนาเจตสิกนี้เลย จึงกำหนดหมายได้ว่า สภาวธรรมที่มีการเสวยอารมณ์นี้ เรียกว่า เวทนา

๒. วิสะยะระสะสัมโภคะระสา มีการเสวยรสของอารมณ์ทั้ง ๖ เป็นกิจ หมายความว่า เวทนาเจตสิกนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับจิตดวงใดก็ตาม หรือไม่ว่าจะเกิดกับบุคคลใดก็ตาม จะต้องทำหน้าที่อย่างเดียว คือ การเสวยรสแห่งอารมณ์เท่านั้น จะไปทำหน้าที่อย่างอื่น ที่นอกจากการเสวยรสแห่งอารมณ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น หน้าที่ในการเสวยรสแห่งอารมณ์ จึงเป็นกิจจรส คือ เป็นหน้าที่ที่จะต้องกระทำของเวทนาเจตสิก

๓. สุขะทุกขะปัจจุปปัฏฐานา มีความสุขและความทุกข์ เป็นผลปรากฏ หมายความว่า เมื่อเวทนาเจตสิกได้ทำหน้าที่ในการเสวยรสของอารมณ์แล้ว ผลที่ปรากฏออกมา คือ ทำให้ความรู้สึกเกิดขึ้น ได้แก่ ความสุข หรือความทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในจิตทุกดวง จึงมีเวทนาเข้าไปมีบทบาทสำคัญ เป็นตัวแปรให้สภาพของจิตมีความแตกต่างกันออกไป ตามประเภทแห่งเวทนา

๔. ผัสสะปะทัฏฐานา มีผัสสะ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า เวทนาเจตสิกนี้ จะเกิดขึ้นได้ต้องมีผัสสเจตสิก เป็นผู้ทำให้ทวาร อารมณ์ และวิญญาณ กระทบกัน เมื่อปัจจัยทั้ง ๓ นี้กระทบกันแล้ว จึงทำให้เกิดการรับรู้และเกิดเวทนาขึ้น

อนึ่ง ในปฏิจจสมุปบาทท่านกล่าวว่า “ผัสสะปัจจะยา เวทะนา สัมภะวะติ” แปลความว่า เวทนาเกิดขึ้น เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ท่านจึงวางผัสสเจตสิกไว้เป็นอันดับแรก เพราะเป็นสภาวธรรมที่มีบทบาทสำคัญเป็นเบื้องต้น ถ้าขาดผัสสเจตสิกเสียแล้ว สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย เช่น เวทนา เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่อไปไม่ได้เช่นเดียวกัน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |