ไปยังหน้า : |
โสตะ มี ๓ ประเภท
คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๑๕๖ เป็นต้น ได้แสดงประเภทของโสตะไว้ ๓ ประเภทดังนี้
๑. ทิพพโสตะ หมายถึง หูทิพย์ เป็นของทิพย์ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งการกระทำอภิญญาที่เกี่ยวกับทิพพโสตอภิญญา คือ หูทิพย์ ทำให้บุคคลผู้มีทิพพโสตะนี้สามารถได้ยินสรรพสำเนียงต่าง ๆ แม้ในที่ไกลแสนไกล หรือเสียงที่แผ่วเบาที่สุด ตลอดถึงเสียงที่ลึกลับ ซึ่งหูทั่วไปไม่สามารถได้ยินดี องค์ธรรมได้แก่ อภิญญาจิต ๒ ดวง
๒. ตัณหาโสตะ หมายถึง กระแสของตัณหา คำว่า โสตะ ในที่นี้ หมายถึง กระแสแห่งตัณหา เพราะฉะนั้น คำว่า ตัณหาโสตะ จึงหมายความว่า สภาพของตัณหานั้นเป็นเหมือนกระแสน้ำที่พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ไหลไปในกามอารมณ์ทั้ง ๖ และย่อมนำให้ไหลไปสู่ภพภูมิต่าง ๆ มีกามภูมิ เป็นต้น
๓. ปสาทโสตะ ได้แก่ โสตปสาทรูป โสตปสาทรูปนี้เป็นธรรมชาติของรูปธรรมชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เป็นสภาพที่มีความใสและเป็นเครื่องรับเสียงต่าง ๆ ตั้งอยู่ภายในช่องหูส่วนลึก มีสัณฐานคล้ายวงแหวนและมีขนสีแดงเส้นละเอียดอ่อนปรากฏอยู่โดยรอบ มีความสามารถให้สำเร็จกิจ ๒ ประการ คือ เป็นที่ตั้งหรือเป็นที่เกิดแห่งโสตวิญญาณจิต ประการหนึ่ง และเป็นทวารให้โสตทวารวิถีหรือโสตทวาริกจิตได้อาศัยเกิดขึ้นในการรับรู้สัททารมณ์คือเสียงต่าง ๆ ได้อีกประการหนึ่งรุ.๑๕๗