| |
๔. โทมนัสสเวทนา   |  

โทมนัสสเวทนา เกิดขึ้นในขณะที่เสวยธรรมารมณ์ที่เป็นทุกข์ทางใจ โดยการประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ดวง เรียกว่า ความทุกข์ใจ อันเนื่องมาจากการได้ประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ปรารถนา ไม่น่าชอบใจ เรียกว่า อนิฏฐารมณ์ ทั้งที่เป็นสภาวอนิฏฐารมณ์คือ อารมณ์ที่ไม่ดีโดยสภาวะ หรือปริกัปป อนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่ดีเฉพาะบางบุคคลก็ตาม โทมนัสสเวทนานี้ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยโทสมูลจิตเพราะอาศัยอนิฏฐารมณ์นั้น ทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ ร่ำไห้รำพัน หรือโกรธ เกลียด กลัว อับบาย เป็นต้น

ลักขณาทิจตุกะของโทมนัสสเวทนา

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของโทมนัสสเวทนา อันนับเนื่องในเวทนาขันธ์ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. อะนิฏฐารัมมะณานุภะวะนะลักขะณัง มีการเสวยอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ที่เป็นสภาวะอนิฏฐารมณ์หรือ ปริกัปปอนิฏฐารมณ์ เป็นลักษณะ หมายความว่า อารมณ์ที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนาหรือไม่น่าชอบใจนั้น มี ๒ ประการ คือ สภาวอนิฏฐารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจเป็นไปโดยสภาพที่เป็นจริง เช่น คนที่มีรูปร่างหน้าตาไม่สวย เสียงไม่เพราะ เป็นต้น ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่โปรดปรานของบุคคลทั่วไป อย่างหนึ่ง และ ปริกัปปอนิฏฐารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่ไม่น่ายินดี ซึ่งไม่เป็นไปโดยสภาพที่เป็นจริง แต่เป็นไปเฉพาะบุคคลเท่านั้น เช่น ของที่บุคคลทั่วไปเห็นว่าสวยงามจริง ๆ แต่บางคนเห็นว่า ไม่สวยไม่งาม ไม่น่าชอบใจ เป็นต้น เมื่อได้ประสบกับอนิฏฐารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังกล่าวแล้ว โทสมูลจิตย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยโทมนัสสเวทนา เพราะฉะนั้น โทมนัสสเวทนา จึงมีเอกลักษณ์ประจำตัวคือการเสวยรสชาติแห่งอนิฏฐารมณ์ เป็นลักษณะ ในคราวใดที่อนิฏฐารมณ์ปรากฏแก่จิตและเจตสิก เมื่อนั้น โทมนัสสเวทนาย่อมเป็นใหญ่เป็นประธานในการเสวยรสชาติของอนิฏฐารมณ์นั้น ส่วนเวทนาอื่นนอกจากนี้ หรือสภาวธรรมเหล่าอื่น ย่อมไม่มีลักษณะในการเสวยรสชาติของอนิฏฐารมณ์เหมือนอย่างโทมนัสสเวทนา

๒. อะนิฏฐาการะสัมโภคะระสัง มีการเสวยอารมณ์ ด้วยความไม่พอใจ เป็นกิจ หมายความว่า หน้าที่ของโทมนัสสเวทนานี้ มีสภาพตรงกันข้ามกับหน้าที่ของโสมนัสสเวทนา คือ โสมนัสสเวทนานั้นย่อมทำหน้าที่เสวยรสชายของอติอิฏฐารมณ์ ส่วนโทมนัสสเวทนาย่อมเสวยรสชาติของอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ ด้วยความไม่พอใจ หรือความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอับอาย อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น ด้วยการสลัดใจให้พ้นไปจากอารมณ์นั้น หรือต้องการที่จะทำลายอารมณ์นั้นให้ย่อยยับพินาศ หรือผลักไสให้พ้นไปจากจิตใจโดยสภาวะของอารมณ์นั้น อาจเป็นสภาวอนิฏฐารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ ซึ่งเป็นไปโดยสภาวะที่เป็นจริง คือ อารมณ์นั้น เป็นอกุศล เกิดจากอกุศล หรือ เนื่องด้วยอกุศลก็ตาม เช่น บุคคลที่ได้ประสบกับอารมณ์ที่น่าเกลียดน่ากลัว ได้แก่ การเห็นผี ได้ยินเสียงเปรตร้องโหยหวนด้วยความทุกข์ทรมาน ได้กลิ่นซากศพอันสาบสาง เป็นต้น แล้วเกิดความเกลียด กลัวจนขนหัวลุกซู่ขึ้นมา เรียกว่า สภาวอนิฏฐารมณ์ หรือ อารมณ์นั้น เป็น ปริกัปปอนิฏฐารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ ซึ่งไม่ได้เป็นไปโดยสภาวะตามที่เป็นจริง แต่เป็นไปเฉพาะบุคคล เฉพาะกาล เท่านั้น เช่น อารมณ์นั้นเป็นกุศล เกิดจากกุศล หรือเนื่องด้วยกุศลก็ตาม แต่บุคคลรับโดยความเป็นโทสะ ไม่ชอบใจ หรือเกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอับอาย เป็นต้น ต่ออารมณ์นั้น โดยเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ตนเองและบุคคลที่ตนเองรัก เช่น การได้เห็นบุคคลที่ตนเองไม่ชอบใจแล้ว เกิดความโกรธ ความอาฆาต พยาบาท จองเวร ต่อบุคคลนั้น ทั้งที่เขาไม่ได้มองมาที่ตน ไม่รู้จักตน หรือไม่ได้ทำความเสื่อมเสียให้แก่ตนเองแต่อย่างใด นี้เรียกว่า ปริกัปปอนิฏฐารมณ์ เมื่อเกิดการรับรู้อนิฏฐารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังกล่าวแล้ว ในขณะนั้น โทมนัสสเวทนา ย่อมเกิดขึ้นทำหน้าที่เสวยรสชาติแห่งอนิฏฐารมณ์นั้น ด้วยความทุกข์ใจ หรือความไม่สบายใจ เพราะฉะนั้น เมื่ออนิฏฐารมณ์ปรากฏขึ้นทางมโนทวาร จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของโทมนัสสเวทนา ที่จะต้องรับรู้และเสวยรสชาติของอารมณ์นั้น ส่วนเวทนาอื่น ๆ และสัมปยุตตธรรมที่เหลือนอกนั้น ไม่มีหน้าที่ในการเสวยรสของอนิฏฐารมณ์ทางใจนั้นแต่ประการใด

๓. เจตะสิกาพาธะปัจจุปปัฏฐานัง มีความคับแค้นใจ หรือมีความอาพาธทางจิต เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า เมื่อพระโยคีบุคคลพิจารณาโทมนัสสเวทนาโดยถี่ถ้วนแล้ว ย่อมเห็นอาการปรากฏของโทมนัสสเวทนานี้ด้วยปัญญาว่า เป็นสภาพที่มีความคับแค้นใจ ไม่สบายใจ กลุ้มใจ โกรธ เกลียด กลัว อับอาย เดือดร้อนใจ เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการที่ปรากฏเฉพาะในปัญญาของบัณฑิตทั้งหลายเท่านั้น เพราะบัณฑิตผู้มีปัญญาเท่านั้น จึงจะสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้ในสภาวธรรมโดยลึกซึ้งได้ เพราะฉะนั้น สภาพของโทมสัสสเวทนา เมื่อเกิดขึ้นแก่บุคคลใดแล้ว ถ้าหากว่าบุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญาพิจารณา ย่อมสามารถรับรู้ได้ถึงความผิดปกติของจิตใจดังกล่าวแล้ว หรือเมื่อบุคคลใดเกิดโทมนัสสเวทนาขึ้นและไม่สามารถข่มให้สงบลงได้ บุคคลนั้นย่อมแสดงปฏิกิริยาออกมาทางสีหน้า กิริยาท่าทาง หรือกายกรรม วจีกรรม ทำให้บุคคลอื่นสามารถรู้ได้ว่าเขากำลังเกิดโทมนัสสเวทนา ไม่พอใจ เสียใจ โกรธ เกลียด กลัว อับอาย หรือเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ เป็นต้น

๔. หะทะยะวัตถุปะทัฏฐานัง มีหทยวัตถุ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า เหตุใกล้ที่ทำให้เกิดโทมนัสสเวทนานี้ ได้แก่ หทยวัตถุ ซึ่งต่างกันกับโสมนัสสเวทนา เพราะโสมนัสสเวทนานั้นอาศัยนามธรรมด้วยกัน ได้แก่ ปัสสัทธิเจตสิก เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ที่เป็นเช่นนี้ เพราะโทมนัสสเวทนานี้ มีสภาพเป็นอนิฏฐะ คือ เป็นสภาวะอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจของบุคคลทั้งหลายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น นามธรรมจึงไม่สามารถเป็นเหตุใกล้ให้เกิดโทมนัสสเวทนาได้ เนื่องจากฐานนั้นไม่มีกำลังเพียงพอ อีกนัยหนึ่ง โทมนัสสเวทนานี้ต้องอาศัยธรรมที่ตรงกันข้ามกับตนเกิดขึ้น ได้แก่ หทยวัตถุรูป ซึ่งเป็นรูปธรรม เปรียบเหมือนตัวเราเอง จะทำให้ตัวเองมีความลำบากกายลำบากใจ โดยไม่ต้องอาศัยบุคคลอื่น หรือ สิ่งอื่นนั้น ย่อมเป็นไปได้ยาก ย่อมต้องอาศัยอาวุธบ้าง บุคคลอื่นบ้าง เป็นผู้นำความลำบากกายลำบากใจมาให้เรา ความทุกข์ของเราจึงเกิดขึ้นได้ ข้อนี้ฉันใด โทมนัสสเวทนา ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นสภาพของนามธรรมที่เป็นตัวเสวยทุกข์ทางใจ เพราะฉะนั้น โทมนัสสเวทนาหรือสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับโทมนัสสเวทนานั้น จะสร้างความทุกข์ให้กันเองนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ โทมนัสสเวทนา จึงเกิดได้เฉพาะกับบุคคลที่มีหทยวัตถุเป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิกเท่านั้น ได้แก่ สัตว์ที่เกิดในปัญจโวการภูมิเท่านั้น แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว โทมนัสสเวทนาย่อมเกิดได้เฉพาะกับบุคคลทั้งหลาย ที่เกิดในกามภูมิ ๑๑ เท่านั้น เพราะรูปพรหมทั้งหลาย ถึงแม้จะมีหทยวัตถุเป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิกก็ตาม แต่พวกรูปพรหมย่อมไม่มีโทสมูลจิตเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นผู้ข่มโทสะอันเป็นพยาบาทนิวรณ์ไว้ได้ด้วยอำนาจแห่งฌานสมาบัติ ด้วยเหตุนี้ ทั้งรูปพรหมและอรูปพรหม จึงไม่มีโทสมูลจิตเกิดเลย ตลอดอายุขัยที่เกิดเป็นพรหมอยู่


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |