| |
การปรากฏเป็นอารมณ์แก่มโนทวารวิถีของปริจเฉทรูป   |  




คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

ปริจเฉทรูปนี้ย่อมมีสภาพเป็นธัมมารมณ์ คือ อารมณ์ที่รับรู้ได้ทางใจอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถรับรู้สภาวะของปริจเฉทรูปนี้ทางปัญจทวารทวารใดทวารหนึ่งได้เลย เพราะสภาวะของปริจเฉทรูปนี้มีสภาพเป็นอากาศธาตุ คือ ความว่างเปล่าที่คั่นระหว่างรูปกลาปหนึ่งกับอีกรูปกลาปหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ รูปารมณ์ ที่จะรับรู้ทางจักขุทวารได้ ไม่ใช่ สัททารมณ์ที่จะรับรู้ทางโสตทวารได้ ไม่ใช่ คันธารมณ์ ที่จะรับรู้ทางฆานทวารได้ ไม่ใช่ รสารมณ์ ที่จะรับรู้ทางชิวหาทวารได้ และไม่ใช่ โผฏฐัพพารมณ์ ที่จะรับรู้ทางกายทวารได้ เป็นรูปที่ไม่มีรูปร่างสัณฐานอยู่โดยเฉพาะ เป็นเพียงสุขุมรูป คือ รูปที่ละเอียด ซึ่งปรากฏคั่นระหว่างรูปกลาปหนึ่งกับอีกรูปกลาปหนึ่งให้แยกออกจากกัน เป็นชิ้นเป็นอันเป็นรูปร่างสัณฐานต่าง ๆ บุคคลทั้งหลายจึงไม่สามารถรับรู้สภาพแห่งปริจเฉทรูปโดยทวารทั้ง ๕ มีจักขุทวารเป็นต้นได้ดังกล่าวแล้ว เพียงแต่รับรู้สึกทางมโนทวารเท่านั้นว่า “สิ่งนั้นมีอยู่” ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยอาศัยสุตมยปัญญาบ้าง จินตมยปัญญาบ้าง หรือภาวนามยปัญญาบ้าง ตามสมควรแก่ปัญญาของบุคคลนั้น ๆ เท่านั้น ส่วนบุคคลที่มีอภิญญาจิตบางท่าน เช่น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ย่อมสามารถรู้ถึงสภาพแห่งปริจเฉทรูปของสัตว์ทั้งหลาย และสรรพสิ่งทั้งปวงได้ ซึ่งความรู้ในสภาพแห่งปริจเฉทรูปที่ปรากฏทางมโนทวารนั้น มีลำดับความเป็นไปเหมือนกับสุขุมรูปอื่น ๆ มีอาโปธาตุ เป็นต้นดังกล่าวแล้ว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |