ไปยังหน้า : |
พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๗๓ ได้แสดงวจนัตถะของอาโปธาตุไว้เหมือนกันดังนี้
อาโปธาตุ เป็นธรรมชาติที่ซึมซาบอยู่ทั่วไปในรูปกลาปที่เกิดพร้อมกันกับตน ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “อเปติ สหชาตรูเปสุ พฺยาเปตฺวา ติฏฺตีติ อาโป” แปลความว่า ธรรมชาติใดย่อมซึมซาบทั่วไปในรูปที่เกิดพร้อมกันกับตนแล้วตั้งอยู่ในรูปเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า อาโป
อีกนัยหนึ่ง “อปฺปเยติ สหชาตรูปานิ สุฏฺฐุ พฺรูเหติ วฑฺเฒตีติ อาโป” แปลความว่า ธรรมชาติใดย่อมทำให้สหชาตรูปทั้งหลายเจริญขึ้นเป็นอย่างดี เพราะเหตุนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า อาโป
อีกนัยหนึ่ง “สหชาตรูปานิ อวิปฺปกิณฺณานิ กตฺวา ภุโส ปาติ รกฺขตีติ อาโป” แปลความว่า ธรรมชาติที่ย่อมรักษาสหชาตรูปไว้ได้อย่างมั่นคง ไม่ให้กระจัดกระจายไป เพราะเหตุนั้น ธรรมชาตินั้น จึงชื่อว่า อาโป
บทสรุปของผู้เขียน :
จากความหมายในวจนัตถะของอาโปธาตุทั้ง ๓ ตอนนั้น จึงสรุปความได้ว่า อาโปธาตุนี้เป็นธรรมชาติหรือสภาวธรรมที่ซึมซาบอยู่ในรูปทั้งปวง ทำให้รูปธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกันกับตนมีสภาพเอิบอาบและเจริญเพิ่มพูนขึ้น และอาโปธาตุนี้ย่อมรักษารูปธรรมเหล่านั้นไว้เป็นอย่างดี ไม่ให้กระจัดกระจายออกจากกัน เปรียบเหมือนบุคคลเทน้ำใส่ลงในแป้งผง เมื่อน้ำซึมซาบเข้าไปในแป้งผงแล้ว ย่อมทำให้แป้งผงนั้นเปียกมีสภาพเอิบอาบพองขึ้นและทำให้แป้งผงนั้นจับกันเป็นก้อน ไม่กระจัดกระจายหรือลอยฟุ้งตลบ ฉันนั้น