| |
บทสรุปเรื่องมหาภูตรูป ๔   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๑๑๔ ได้แสดงสรุปเนื้อความของมหาภูตรูป ๔ ไว้ดังต่อไปนี้

ในบรรดามหาภูตรูปเหล่านั้น ปถวีธาตุมีลักษณะแข็ง อาโปธาตุมีลักษณะเกาะกุม เตโชธาตุมีลักษณะร้อน วาโยธาตุมีลักษณะตึง

ถามว่า เหตุใดจึงกล่าวว่า ปถวีธาตุมีลักษณะแข็ง ปถวีธาตุมีลักษณะอ่อนบ้างมิได้หรือ ?

ตอบว่า ปถวีธาตุแม้มีลักษณะอ่อนบ้าง ก็นับว่าแข็ง ในเมื่อเทียบเคียงกับมหาภูตรูป ๓ อย่างที่เหลือ แต่เมื่อเทียบเคียงกันเอง ปถวีธาตุย่อมเป็นไปอย่างนี้ว่า ปถวีธาตุนี้อ่อน ปถวีธาตุนี้แข็ง ความอ่อนและความแข็งจึงไม่แน่นอน เหมือนความยาวกับความสั้น ฉันนั้น เพราะว่า สิ่งที่อ่อนเมื่อประจวบกับสิ่งที่อ่อนกว่านั้น ก็ชื่อว่า แข็ง สิ่งที่แข็งเมื่อประจวบเข้ากับสิ่งที่แข็งกว่านั้น ก็ชื่อว่า อ่อน

ถามว่า พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า อาโปธาตุมีลักษณะเกาะกุม อาโปธาตุนั้นมีจำนวนมากในน้ำปกติ น้ำปกติจึงควรรวมตัวกันเป็นแท่งมิใช่หรือ ?

ตอบว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น เพราะปถวีธาตุที่ควรรวมตัวกันมีกำลังน้อยในน้ำปกติ ส่วนน้ำที่มีปถวีธาตุมาก ก็มีปถวีธาตุนั้นรวมตัวกันอยู่แน่นหนา

ถามว่า พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า เตโชธาตุมีลักษณะร้อน หากเป็นไปตามนี้ ความเย็นก็ไม่ควรเป็นเตโชธาตุมิใช่หรือ ?

ตอบว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น สภาพที่เผาให้สุก คือ ให้ถึงความสุกงอม ชื่อว่า อุณหะ ทั้งความเย็นก็ให้ถึงความสุกงอมได้เช่นกัน ดังสาธกในคัมภีร์มูลฎีกาว่า “เตโช เอว หิ สีตํ หิมปาตสมยาทีสุ สีตสฺส ปริปาจกตาทสฺสนโตรุ.๑๑๕ แปลความว่า ความเย็นเป็นเตโชธาตุนั่นเอง เพราะพบว่าความเย็นทำให้สุกงอมได้ในเวลาน้ำค้างลง เป็นต้น

ถามว่า พระอรรถกถากล่าวว่า วาโยธาตุมีลักษณะตึง และไม่เกิดขึ้นในเสาหิน เป็นต้นที่แข็งเป็นแท่งทึบมิใช่หรือ ?

ตอบว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น เพราะปถวีธาตุในเสาหินเป็นต้นถึงความมั่นคงมีกำลังมากได้ เนื่องจากได้รับอุปถัมภ์จากวาโยธาตุที่เกิดร่วมกับตนนั่นเอง

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๑๑๖ ได้แสดงสรุปความเรื่องมหาภูตรูป ๔ ไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

พึงเข้าใจว่า ก็ธาตุทั้ง ๔ นี้ มีลักษณะเป็นของแข้นแข็ง เป็นของเหลว เป็นความอบอุ่น และเป็นอาการเคลื่อนไหวตามลำดับ

คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะรุ.๑๑๗ เป็นต้น ได้แสดงสรุปความหมายของมหาภูตรูป ๔ ไว้ดังต่อไปนี้

ปถวี อาโป เตโช วาโย ธาตุทั้ง ๔ เหล่านี้ ชื่อว่า มหาภูตรูป เพราะเป็นรูปใหญ่ เป็นประธานแก่รูปอื่น ๆ และปรากฏชัด เช่น วัตถุสิ่งของต่าง ๆ ใหญ่ก็ตาม เล็กก็ตาม ที่ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่าง ๆ ได้ ก็คือ มหาภูตรูปนั้นเอง และสีสันวรรณะของวัตถุเหล่านั้นปรากฏมาก ปรากฏน้อย ก็ด้วยอาศัยมหาภูตรูปที่รวมกันอยู่ตามมากตามน้อยนั้นเอง เพราะฉะนั้น มหาภูตรูปทั้ง ๔ นี้ เมื่อว่าโดยสัณฐานแล้วก็ใหญ่โตมาก เมื่อว่าโดยสภาวะแล้วก็ปรากฏชัดกว่ารูปอื่น ๆ ดังแสดงวจนัตถะว่า “มหนฺตานิ หุตฺวา ภูตานิ ปาตุภูตานีติ มหาภูตานิ” รูปเหล่าใด ว่าโดยสัณฐานและว่าโดยสภาพแล้ว เป็นใหญ่และปรากฏชัด เพราะเหตุนั้น รูปเหล่านั้นชื่อว่า มหาภูต

ธาตุทั้ง ๔ หรือมหาภูตรูปทั้ง ๔ อันได้แก่ ปถวี อาโป เตโช วาโย นี้เป็นสหชาตธรรม คือ เป็นธรรมที่เกิดพร้อมกันหรือเกิดร่วมกัน กล่าวคือ ไม่ว่าจะปรากฏ ณ สถานที่ใดหรือเป็นสิ่งใด ทั้งในสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม ก็จะต้องปรากฏครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ อย่างเสมอ จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้เลย ต่างกันแต่ว่า ธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งจะยิ่งหรือหย่อนกว่ากันเท่านั้น

ธาตุดินที่แข็ง ย่อมจะอยู่กับน้ำที่เกาะกุม อยู่กับไฟที่เย็น และอยู่กับลมที่เคร่งตึง

ธาตุดินที่แข็ง ย่อมจะอยู่กับน้ำที่เกาะกุม อยู่กับไฟที่เย็น และอยู่กับลมที่เคร่งตึง

บทสรุปของผู้เขียน :

ตามที่กล่าวมาแล้ว จึงสรุปความเรื่องมหาภูตรูปได้ดังต่อไปนี้ คือ ปถวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ อันเป็นธาตุทั้ง ๔ เหล่านี้ ชื่อว่า มหาภูตรูป เพราะเป็นรูปใหญ่ เป็นรูปที่เป็นประธานแก่รูปอื่น ๆ และเป็นรูปที่ปรากฏชัดเจน เช่น ในวัตถุสิ่งของต่าง ๆ จะใหญ่หรือเล็กก็ตาม ที่มีปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานขึ้นมาได้นั้น ก็เพราะมหาภูตรูปที่รวมกันอยู่มากบ้างน้อยบ้างนั่นเอง เพราะฉะนั้น มหาภูตรูปทั้ง ๔ นี้ เมื่อว่าโดยสัณฐานแล้ว ก็ใหญ่กว่ารูปอื่น ๆ เมื่อว่าโดยสภาวะก็ปรากฏชัดเจนกว่ารูปอื่น ๆ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |